วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Look-Through Earning คืออะไร


Look-Through Earning เป็นแนวคิดในการมองผลประกอบการของกิจการแบบมองทะลุ ที่ Warren Buffet นิยมใช้ในการวิเคราะห์บริษัทที่มีการถือหุ้นหรือลงทุนบริษัทอื่น ๆ ไว้ด้วย วิธีการมองผลประกอบการแบบนี้จะช่วยให้ผู้สนใจมองทะลุบริษัทแม่และบริษัทลูกไปถึงผลประกอบการที่นักลงทุนได้รับจากเงินลงทุนทั้งหมดของเขาจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก Reported Earning ตามมาตรฐานบัญชีที่บริษัทต้องรายงานในงบการเงินทุกงวดบัญชี ก่อนไปถึง Look-Through Earning เราจึงควรเข้าใจ Reported Earning
ก่อนว่าเขาคิดกันอย่างไร ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายภาพรวมอย่างคร่าว เพื่อให้เข้าใจแนวคิด แต่หากผู้อ่านท่านใดสนใจลงลึก คงต้องขอความกรุณาศึกษาต่อในเรื่องของบัญชีต่อเอง เพราะจริงๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจอีกมาก แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวในคราวเดียวกันนี้เพราะจะยาวเกินไป

  • โดยทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชีนั้น เมื่อบริษัทเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ในระดับมากกว่า 50% หรือไม่ถึงแต่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญเช่นในเชิงบริหารหรือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ระดับสะเทือนกิจการได้ นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถือหุ้นว่า บริษัทแม่ (Parent) และ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นว่า บริษัทย่อย (Subsidiary) โดยทั่วไปบริษัทแม่มักเข้าถือหุ้นบริษัทย่อยในระดับที่สูงก็เพราะบริษัทย่อยมีความเกี่ยวข้องทางยุทธศาสตร์กับกิจการแม่ หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันสูง การรายงานผลประกอบการ จึงกำหนดให้มีการทำงบการเงินของกิจการ และ งบการเงินรวม (Consolidate) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นผลประกอบการจริงๆ ของตัวบริษัทแม่ และ ผลประกอบการที่ได้รวมบริษัทย่อยเข้ามา โดยที่แม่ควบคุมย่อยอย่างมีนัยยะ จึงให้รวมยอดขาย ต้นทุน ตลอดจนกำไรของทั้งแม่และลูกเข้าด้วยกัน แล้วค่อยมาหัก กำไรที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่น (Minority Interest)ในบริษัทย่อยออกที่บรรทัดเกือบสุดท้าย ทำเป็นอย่างนี้ นักลงทุนก็จะพอมองเห็นขนาดธุรกิจของตนได้เห็นภาพชัดขึ้นเมื่ออ่านงบการเงินของบริษัท
  • และในกรณีที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับ 20-50% นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถูกถือหุ้นในระดับนี้ว่าบริษัทร่วม (Associate) คือมีความเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าบริษัทแม่จะไม่มีอำนาจควบคุมอย่างแข็งแรงในกรณีแรก แต่ก็พอมีบ้างตามสัดส่วนการถือหุ้น และในการวางกลยุทธ์นั้น กิจการทั้งสองอาจทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ ลูกไม่ได้ส่งผลอะไรต่อบริษัทแม่ นอกจากเป็นการนำเงินที่เหลือของบริษัทแม่ไปลองต่อยอดลงทุนในธุรกิจอื่นๆ บ้างเท่านั้น ทางการบัญชีจึงไม่ได้กำหนดให้ต้อง Consolidate ทั้งงบ แต่ให้ใช้วิธี Equity Method คือบันทึกเป็นสินทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น และกำไรจากบริษัทร่วมนี้ไม่ต้องลงรายการละเอียดแต่เอาเข้ามาใส่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทแม่เป็นบรรทัดเดียวตามสัดส่วนการถือหุ้นอีกเช่นกัน ในบรรทัดกำไรจากกิจการร่วมค้า
  • กรณีสุดท้ายที่บริษัทแม่เข้าถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งถือว่าไม่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยยะ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นจะถูกเรียกว่าเงินลงทุนในบริษัทอื่น (Investment Position)ซึ่งไม่ส่งผลสำคัญเชิงกลยุทธ์กับบริษัทแม่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่อาจเป็นพอร์ตลงทุนของบริษัทแม่ที่ซื้อขายหุ้นทำกำไรบ้างในบางโอกาส ทางบัญชีบันทึกเงินลงทุนดังกล่าวในราคาทุนในกรณีเป็นการลงทุนระยะยาว หรือราคาตลาดหากเป็นเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อขายในกรณีที่บริษัทแม่คิดจะขายหุ้นในบริษัทที่ลงทุนนั้น ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นจะรายงานรายได้จากเงินลงทุนก็ต่อเมื่อบริษัทดังกล่าวมีการปันผลมาให้บริษัทแม่ หรือมีการขายบริษัทนั้นออกไปเพื่อทำกำไรในกรณีเป็นสินทรัพย์เพื่อขาย
 วิธีการรายงานผลประกอบการตามมาตรฐานบัญชีสำหรับการถือหุ้นใน 3 ระดับนี้ฟังดูมีเหตุผล สำหรับการเปรียบเทียบบริษัทแต่ละบริษัทด้วยกัน เพราะจับมาวางอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน แต่หากเราเป็นเจ้าของกิจการ บางครั้งเราอาจไม่อยากเปรียบเทียบบริษัทของเรากับบริษัทอื่น เพราะการพยายามทำอะไรให้เป็นมาตรฐานมันก็ทำให้ต้องตัดกิ่งก้านบางอย่างที่ไม่เข้าพวกออก และสุดท้ายอาจทำให้แต่ละบริษัทสูญเสียตัวตนของมันไป ได้ภาพที่ไม่ชัดเกี่ยวกับกิจการของตน Look-Through Earning เข้ามาช่วยตรงนี้ได้
Look-Through Earning มองผลประกอบการของบริษัทในอีกมุมมองหนึ่ง มันยอมรับข้อจำกัดในการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทของตนกับบริษัทอื่น ๆ จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักบัญชี หรือ ผู้อ่านโดยทั่วไป สามารถกวาดสายตาผ่านแล้วเข้าใจโดยง่ายและเทียบกับบริษัทอื่นๆ ได้บนมาตรฐานเดียวกันได้อย่างยุติธรรมดั่งเช่น งบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี Look-Through Earning ต้องการความเข้าใจในธุรกิจแบบเจาะลึก มองทะลุ เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วส่วนที่นักลงทุนเป็นเจ้าของนั้นสร้างผลตอบแทนได้เท่าไรจริงๆ โดยผู้ที่จะพิจารณา Earning แบบนี้จะต้องเข้าใจว่า บริษัทนั้นสร้างกำไรและมีทางเลือกในการใช้มันทำงาน 2 อย่าง คือ

  • ปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น (Dividends)
  • เก็บอีกส่วนไว้ลงทุนต่อ (Retained Earnings)

โดยเงินปันผลนั้นเป็นเงินที่หมุนออกจากระบบธุรกิจไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าของผู้หุ้น ซึ่งในระยะสั้นมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนต่อนั้น กลับเป็นอีกส่วนที่สร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกมาก เพราะยังวนอยู่ในระบบธุรกิจและเดินหน้าสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไป
Look-Through Earning จึงคิด Earning แบบรวมทั้ง 2 กลุ่มให้เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือ เงินลงทุน โดยให้คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เราถือครองจริงๆ จะคล้ายกับวิธี Consolidate กับ Equity Method แต่ใช้ Equity Method กับบริษัทในกลุ่มถือหุ้นน้อยกว่า 20% ด้วย จากนั้นมาคิดอีกทีว่าเราในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนจะได้ Earning เท่าไรกันแน่ และแบ่งเป็น Dividend เข้ากระเป๋าเราเท่าไร และเก็บไว้ในระบบเป็น Retained Earning เท่าไร และตัวหลังนี่แหล่ะที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเราหา Look-Through Earning เราได้เปิดโอกาสตัวเองให้ค้นพบมูลค่าอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในRetained Earning ที่ยังไม่ได้รายงานตามมาตรฐานการบัญชี แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นมูลค่าสำหรับผู้ถือหุ้น ที่จะรอเวลาสร้างผลตอบแทนทบต้นให้เราต่อไปอีกมาก

ที่มา
  1. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/517718114922775
  2. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518106654883921
  3. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518605594834027

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม