วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์และประเมินมูลค่าของธุรกิจบัตรเครดิต

ขอแชร์เรื่องการทำมาหากิน การวิเคราะห์และ การประเมินมูลค่าหุ้น ของธุรกิจบัตรเครดิตมากขึ้น บทความดีๆจากคุณ airazoc [1] ณ thaivi ครับ

การทำงานของธุรกิจบัตรเครดิต

ปกติแล้วธุรกิจบัตรเครดิต ถ้ามองแบบ overview คร่าวๆ จะประมาณนี้

ธุรกิจบัตรเครดิต
บริษัทบัตรเครดิต อยู่ตรงกลาง ทำงานหลักสองอย่าง คือ
  1. ออกบัตรเยอะๆ เพื่อให้บัตรไปอยู่ในมือผู้ถือบัตรเยอะๆ 
  2. Acquire ร้านค้าเยอะๆ (เอาเครื่องรูดบัตรไปวาง) จะได้มีร้านรับบัตรของเราเยอะๆ
จากนั้นก็เป็น Business As Usual คือ
  1. ประชาชนเอาบัตรไปรูดปรี้ดๆ ที่ร้านค้า
  2. บริษัทเอาเงินตามไปจ่ายให้ร้านค้า
  3. เมื่อตัดรอบครบกำหนด เราก็ไปเก็บเงินคืนจากผู้ถือบัตร

ทีนี้รายได้ กับ รายจ่าย ของบริษัทมาจากไหนบ้าง

รายได้หลักๆ มีสองส่วน (ถ้าไปดูในงบ KTC จะใกล้กันมาก แทบจะครึ่งๆ)
  1. รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (MDR, Merchant Discount Rate) ให้นึกถึง เรารูดสินค้าไป 100 บาท ร้านค้าอาจจะได้รับ สมมติว่า 98 บาท อีก 2 บาท เรียกว่า MDR ซึ่งจะเอาไปแบ่งกัน ระหว่าง Acquirer (เจ้าของเครื่องรูด) กับ Issuer (ธนาคารผู้ออกบัตร)
  2. รายได้ดอกเบี้ย (จากผู้ถือบัตรที่ชำระไม่ครบในแต่ละรอบบิล ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างชำระ)
รายจ่ายแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ
  1. Cost to Income (รายจ่ายต่างๆ เงินเดือนพนักงาน, outsource, ค่าที่ปรึกษา, ค่าโน่นนี่สารพัด)
  2. ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงิน (นอกจากเงินทุนของบริษัทแล้ว ปกติบริษัทบัตรจะ ออกหุ้นกู้, ตั๋ว debenture, กู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นๆ มาเป็นเงินสำหรับปล่อยวงเงินบัตรให้ลูกค้า)
  3. หนี้สูญและสงสัยจะสูญ
งบกำไรขาดทุน ktc

สำหรับการประเมินมูลค่าธุรกิจบัตรเครดิต

เริ่มจากประเมินหารายได้ และ รายจ่ายก่อน

รายได้นั้น อย่างที่บอกไปว่ามีหลักๆ 2 ส่วนคือ MDR และ ดอกเบี้ยรับ

  1. การ คำนวน MDR เฉลี่ย นั้น จริงๆ ต้องใช้ตัวเลขพอร์ทลูกหนี้บัตรทั้งหมด ซึ่งเป็นยอดที่ลูกหนี้ต้องมาชำระทุกเดือน เอามาคูณ 12 ก็จะได้ยอดเงินหมุนเวียนในระบบ (เช่นพอร์ท สี่หมื่นสามพันล้าน ก็จะมีเงินหมุนผ่านปีละประมาณ ห้าแสนล้าน) แล้วหารายได้ MDR ต่อปีมาหาร เช่น สมมติว่า พอร์ทสี่หมื่นล้าน มีรายได้ MDR ต่อปี 5500 ล้าน MDR เฉลี่ย ออกมาประมาณ 1.1% (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะหายากหน่อย เอายอดรายได้ค่าธรรมเนียม กับ พอร์ทลูกหนี้นั่นแหละ หารกันออกมาก็ได้ตัวเลขคร่าวๆ ถ้าอยากทำละเอียดให้โทรไปถามยอดแยกเอา หรือบางบริษัทในงบจะมียอดแยกให้) จริงๆแล้ว บริษัทผู้ออกบัตรจะได้ราวๆ 1.6-1.8% สำหรับบัตรแพลตินั่มสำหรับยอดรูดในร้านค้าทั่วไป แต่เนื่องจากบางร้านค้า เช่นปั้มน้ำมัน จะได้ MDR บางเฉียบมาก 0.2-0.3% เป็นต้น เฉลี่ยๆ ออกมาก็ราวๆนี้แหละ 1.0-1.2%

    (ที่ต้องหา MDR เฉลี่ย เก็บเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคต ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ว่ายอดการใช้บัตรโตกี่ % หรือ มีหน่วยงานไหนประกาศตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตออกมา เราก็สามารถประเมินตัวเลขในอนาคตได้ทันที ไม่ต้องรองบออก โดยคำนวนจากพอร์ทที่ขยายขึ้นคูณ MDR เฉลี่ย)
  2. รายได้ดอกเบี้ย อันนี้แล้วแต่บริษัท ตัวเลขค่อนข้างแตกต่างกัน ขึ้นกับกลุ่มลูกค้า บางบริษัทในบางประเทศ รับเฉพาะลูกค้าพรีเมี่ยมสุดๆ รายได้ดอกเบี้ยจะไม่ค่อยมี แต่ volume ที่ได้ MDR จะมหาศาล บางบริษัทจับชนชั้นกลาง ก็จะมีรายได้ตรงนี้เป็นสัดส่วนต่อรายได้มากกว่า แต่ถ้าทำ normal ratio จะไม่ค่อยสวิงเท่าไหร่ คือถ้าต่ำ ก็ต่ำตลอด สูงก็สูงอยู่อย่างนั้น นอกจากจะเปลี่ยน target group ดังนั้น ถ้าจะประเมิณรายได้ดอกเบี้ย ก็คิด normal ratio ของปีก่อน เทียบกับขนาดพอร์ทลูกหนี้เอาก็จะพอใช้ได้ครับ

การประเมินรายจ่าย

รายจ่ายที่ต้องคำนวน มี 3 รายการ

  1. รายจ่ายต้นทุนทางการเงิน ถ้าขี้เกียจเปิดย้อนดูว่าออกตั๋วไปกี่ล้านที่กี่ % กู้แบงค์มาเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วเท่าไหร่ ก็โทรไปถามบริษัท ได้ครับ ว่าตอนนี้ดอกเบี้ยเฉลี่ยจ่ายอยู่เท่าไหร่ ก็เอามาคูณยอดหนี้ ที่บอกอยู่ในงบ ถ้าระหว่างไตรมาส มีออกตั๋วหรือออกหุ้นกู้อะไรขึ้นมาก็อย่าลืมบวกเพิ่มเข้าไป
  2. หนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ ผมจะเอาหนี้สูญและสงสัยจะสูญ มาลบด้วยหนี้สูญได้รับคืนปีถัดมา (เช่นเอาหนี้สูญปี 53 ลบหนี้ได้รับคืนที่ได้รับในปี 54) เพื่อประเมินคร่าวๆว่า สูญจริงๆ ราวกี่ % (อะไรที่ปีถัดมายังไม่ได้คืนก็ทำใจว่าชวดละ) ส่วนที่จะคำนวนล่วงหน้าก็ต้องลองคำนวนจากที่ ผบห ให้สัมภาษณ์ว่าประมาณกี่ % และจะทำให้เป็นกี่ % แล้วประเมินดูว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องลอง discount ลงไปดู เช่น ผบห บอกว่าจะทำได้ 4% แต่ของเก่าก่อนหน้านั้นสมมติว่า 7% ก็อาจจะลองใช้ สัก 5.5% ดูก่อน (ครึ่งทาง เผื่อทำได้ไม่เท่าที่ให้สัมภาษณ์) แล้วก็ลองประเมินว่าตรงนี้เท่าไหร่
  3. Cost to Income เดิม 47% ก็ต้องลองประเมินว่า ผบห จะลดลงเป็น 40% ได้อย่างที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ ตรงนี้ควร ลองโทรไปสอบถามบริษัทดู เพื่อประเมินดูว่า บริษัทจะลด Cost to Income ได้จากอะไร ซึ่งตามข่าวก็คือจะลดจากค่า out source ซึ่งจะดึงงานมาทำเองหลายอย่าง รวมถึงปรับกระบวนการทำงาน ถ้าฟังรายละเอียดแล้วเชื่อมั่นก็อาจจะใช้ตัวเลขที่ให้ในข่าวคำนวน ถ้าฟังแล้วไม่มั่นใจ ก็ต้อง discount ลงไป

กำไรของบริษัทก่อนภาษี ก็จะออกมาคร่าวๆคือ

(รายได้ค่าธรรมเนียม+รายได้ดอกเบี้ย) - (ค่าใช้จ่ายทางการเงิน+หนี้สูญและสงสัยจะสูญ+Cost to Income)
ได้เท่าไหร่ โดนภาษี 23%
ออกมาเป็น net income เอาไปหารจำนวนหุ้น ก็จะได้ EPS

จะแม่นยำแค่ไหน ขึ้นกับว่าทำตัวเลขละเอียดแค่ไหนครับ ถ้าใช้ตัวเลขคร่าวๆ EPS ที่เพื่อนๆประเมินได้ ก็จะคร่าวๆ
ถ้า แยกตัวเลขละเอียดได้ ก็จะได้ค่อนข้างใกล้เคียง ที่เหลือก็คือต้องประเมินว่าตัวเลขเป้าหมาย cost to income กับ NPL ที่อยู่ในข่าวที่ ผบห ให้สัมภาษณ์นั้น มั่นใจแค่ไหน จะ discount เท่าไหร่

ขอให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการลงทุนครับ

ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=49&t=53772&start=1680

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม