วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

การตั้งสำรองหนี้สูญและการวิเคราะห์

บทความเรื่องการตั้งสำรองหนี้สูญของ อ.สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล[1] เขียนดีมากครับ ทั้งวิธีคิดหนี้สูญ และการดูว่าตั้งสำรองน้อยหรือมากไปโดยเทียบกับ ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย เชิญอ่านโดยพลัน

เมื่อกิจการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นซื้อมาขายไป ผลิตเพื่อขาย ให้บริการ เมื่อเกิดรายได้ขึ้นจะบันทึกลูกหนี้การค้า (ให้เครดิตการจ่ายเงิน) และบันทึกรายได้จากการขายหรือให้บริการ ซึ่งจะใช้กับรายการที่เป็นรายได้หลัก ส่วนรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่รายการหลัก จะบันทึกเป็นรายได้ค้างรับหรือลูกนี้อื่น ดังนั้นเมื่อเห็นสองรายการนี้ในงบแสดงฐานะการเงินต้องเข้าใจว่าต่างกันอย่างไร รายได้ค้างรับเช่น ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลเป็นต้น ส่วนลูกหนี้อื่นอาจเกิดจากการขายสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้า เช่นขายเครื่องจักรเก่า เศษซากวัตถุดิบ เป็นต้น

การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญนี้จะตั้งจากรายการลูกหนี้การค้าเท่านั้น โดยทั่วไปกิจการจะตั้งโดยใช้วิจารณญาณของผู้บริหารว่า ลูกหนี่ที่เหลืออยู่ในวันที่แสดงรายงาน จะเก็บเงินได้หรือไม่ได้เท่าไร โดยมักอิงกับอายุลุกหนี้ที่ค้างชำระอยู่ และคูณกับ % ที่คิดว่าจะสูญ เช่น
อายุที่ค้างชำระนับจาก
วันครบกำหนดชำระ จำนวนเงิน(พันบาท) อัตราหนี้สูญ สำรองหนี้สงสัย
ยังไม่ถึงวันชำระ--------------245,900-------------1%-----------2,459
0-30 วัน------------------------97,050-------------2%-----------1,941
30-60 วัน----------------------21,000--------------5%----------1,050
60-90 วัน------------------------8,600------------20%----------1,720
90-120 วัน----------------------2,340------------50%----------1,170
เกินกว่า 120 วัน----------------3,700-----------100%---------3,700
รวม----------------------------378,590--------------------------12,040
หักหนี้สงสัยจะสูญ------------12,040
ลูกหนี้การค้าสุทธิ------------366,550
ในหมายเหตุฯ เราจะเห็นแค่ 2 แถวแรกเท่านั้น เราะบางบริษัทก็อาจตั้งโดยดูรายลูกหนี้ก็ได้ แต่วิธีหลังนี้ใช้กับกร๊ที่มีจำนวนลูกหนี้น้อยที่มีอยู่จริงไม่กี่สิบราย แต่ทั่วไป ลูกหนี้การค้าอาจมีเป็นร้อยเป็นพันราย การดูรายลูกนี้แล้วตั้งค่าว่ารายใดจะสูญหรือไม่มักไม่ทำกัน นิยมการใช้แนวทางที่ทำให้ดู ปัญหาก็คือตัว % ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนี่แหละ ในธุรกิจทั่วไปไม่ได้มีอัตรามาตรฐานกำหนดไว้ ให้ขึ้นกับวิจารณญาณของผู้บริหารเอง ต่างกับธนาคารที่ธนคารแห่งประเทศไทยกำหนดขั้นต่ำไว้ให้ ดังนั้นธนาคารใดที่สำรองไว้มากๆ ก็ conservative กว่า (ไว้มีเวลาจะบอกวิธีการดูว่ามีนัยใดหรือไม่กับการตั้งสำรองสูงหรือต่ำเมื่อพิจรณากับภาวะเศรษฐกิจ)

อย่างที่กล่าวไว้ สำหรับบริษัททั่วไปใช้หลักตามวิจารณญาณ (บางทีผมชอบใช้แบบประชดเวลาบรรยายว่าตามอำเภอใจ) ของผู้บริหาร เพราะการตั้งมากๆ ไม่ได้ประโยชน์ใดๆต่อธรุกิจเลย คือด้านภาษีก็หักไม่ได้ ต้องบวกค่าใช้จ่ายนี้กลับในการคำนวณจ่ายภาษีจริงทำให้เกิดสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดขึ้น แต่ในแง่นักลงทุนดูกำไรสุทธิเป็นหลัก หนี้สงสัยจะสูญทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในงวด แต่เงินสดจ่ายภาษีจริงมากกว่าภาษีทางบัญชีก็ไม่ดีต่อกระแสเงินสดการดำเนินงาน ดังตัวอย่างสมมติมีรายการหนี้สงสัยจะสูญขึ้นทำให้ต้องบวกกลับการคำนวณกำไรทางภาษี ทำให้การจ่ายภาษีจริงเป็น 100 แต่ภาษีทางบัญชีอาจเกิดเพียง 90
เดบิต ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้____________90
สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี___10
เครดิต เงินสด______100
สมมติว่ามีกำไรทางบัญชี 360 (tax rate 25%) แต่กำไรทางภาษีเท่ากับ 400 เกิดจากการบวกกลับค่าใช้จ่ายจากหนี้สงสัยจะสูญ 40 กำไรที่หายไปนี้ทำให้ราคาหุ้นลงมากกว่าสินทรัพย์ที่งอกออกมาจากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัด จึงทำให้หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน้อยกว่าที่ควร

ปัญหาของนักลงทุนคือแล้วจะทราบได้อย่างไร? เราคงไม่สามารถไปลงรายละเอียดได้ แต่อาจประเมินจากภาพรวมได้ โดยการใช้ อัตราส่วนการหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable Turnover) แล้วกลับสัดส่วนคูณ 365 หรือ 360 เพื่อแปลงเป็นจำนวนวันระยะเวลาอายุหนี้เฉลี่ยหรือระยะเวลาเก็บเงินลูกหนี้เฉลี่ย

A/R Turnover = Sales / A/R เฉลี่ย
ระยะเวลาอายุหนี้เฉลี่ย = 360 / A/R Turnover
ถ้ายอดขาย 1 ปี ใช้ 360 ถ้ายอดขายครึ่งปี ใช้ 180 ถ้า 1 ไตรมาสใช้ 90 หลายคนเอางบไตรมาสมาทำ ratio แล้วใช้ 360 เพื่อหาระยะเวลาอายุหนี้เฉลี่ย ปรากฎว่าผิดเพี้ยนมาก เลยคิดว่าทำผิดหรือพาลเอาว่าสูตรผิดแล้ว้ลยเลิกใช้ก็มี

สมมติจากตัวอย่าง ลูกหนี้การค้าสุทธิ 366,550 งวดก่อนหน้า ปีที่แล้ว 293,240 ยอดขายทั้งปีเท่ากับ 1,649,475 หน่วยทั้งหมดคือพันบาทเราอาจใช้ที่หน่วยล้านบาทก็ได้
A/R Turnover=1,649.5/{(366.6+293.2)/2}= 1,649.5/329.9= 5
ระยะเวลาอายุหนี้เฉลี่ย = 360/A/R Turnover= 360/5 = 72 วัน

จากอัตรส่วนที่ได้แสดงว่ายอดลูกหนี้สุทธิมียอดลูกหนี้อายุเฉลี่ยราว 72 วัน เราต้องพิจารณาว่านานเกินเหมาะสมไหม ถ้าปกติจะให้เครดิต 30 วัน แสดงว่ามียอดค้างชำระเกินเฉลี่ย 42 วัน ยอดลูกหนี้สุทธินี้ได้หักสำรองแล้วเมื่อคิดเป็นระยะเวลายังอยู่ที 42 วัน ถ้าเราคิดว่ายังมากไป แสดงว่าตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน้อยกว่าที่ควร

หากเราจะปรับปรุงเองว่าน่าจะมีอายุลูกหนี้ราว 60 วันหรือ มียอดค้างชำระเกินเฉลี่ย 30 วัน จ่ายหนี้เกินกว่าเครดิตที่ให้ 2 รอบ
ลูกหนี้สุทธิปลายงวดควรเป็นดังนี้ หาได้โดยการคำนวณย้อนกลับ
60 = 360 / A/R Turnover --- > A/R Turnover = 6
A/R Turnover = Sales / A/R เฉลี่ย
A/R เฉลี่ย = Sales/A/R Turnover
A/R เฉลี่ย = 1,649.5 / 6 = 274.9
A/R เฉลี่ย = (A/R ต้นงวด + A/R ปลายงวด)/2
A/R เฉลี่ย = (293.2 + A/R ปลายงวด)/2
A/R ปลายงวด = 274.9*2 – 293.2 = 256.6
ต้องสำรองเพิ่มอีก 366.6 - 256.6 = 110 ล้านบาท
แต่ถ้าเราให้รอบการเก็บเงินเท่ากับ 5.5 รอบหรือราว 65.5 วัน (หรือระยะเวลาอายุหนี้เฉลี่ย)
ต้องสำรองเพิ่มอีกราว 60 ล้านบาท {366.6 – [2*(1,649.5 / 5.5) – 293.2]}
ยิ่งเรา conservative มากเท่าไร ก็ต้องสำรองมากขึ้น แต่โดยทั่วไป เราใช้พิจารณาคร่าวๆ ว่าตั้งเพียงพอไหม กำไรสูงไปไหม เพราะไม่ค่อยมีใครมาคำนาณให้ยุ่งยาก แค่เห็นว่าตั้งน้อยไป เราก็ไม่ไล่ราคาหุ้นแล้ว แต่ถ้าหาราคาแท้จริง (Intrinsic Value) ก็ต้องใช้คำนวณ

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10201084853421921

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม