วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เทคนิคประมาณการกำไรและหาราคาเป้าหมายอย่างง่าย

การประมาณราคาเป้าหมายเป็นเรื่องเสียเวลาของหลายคน
ผมทำไฟล์ excel ให้ไว้เล่นกันครับ กรอกตัวเลขในช่องสีเขียวตามหุ้นของท่าน ปรับตัวเลขสมมติฐานในช่องสีเหลืองตารางจะประมาณการกำไรตามสมมติฐานของท่านและคำนวณราคาเป้าหมาย
โดยใช้ PE ratio
ปุ่มกดโหลดโหลด file excel อยู่มุมขวาล่างของตารางที่เป็น icon รูป excel




ยอดขายปีหน้า = ยอดขายปีนี้ x (1+การเติบโต) , ให้โตเท่าไรประมาณการด้วยสมมติฐานของใครของมัน
ต้นทุนขาย = ยอดขาย x (1-GPM) , GPM คืออัตรากำไรขั้นต้น
กำไรขั้นต้น = ยอดขาย x GPM
ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร = ค่าใช้จ่ายขายบริหารปีที่แล้ว x การเติบโตของค่าใช้จ่าย, ปรับตัวเลขได้ตามใจชอบ
กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี = กำไรขั้นต้น - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ต้นทุนทางการเงิน(ดอกเบี้ย) = ต้นทุนทางการเงินปีที่แล้ว x การเติบโตของยอดขาย, ให้โตเท่ากับยอดขายเพราะว่าถ้าบริษัทโต น่าจะ กู้เงินเพิ่มในอัตราส่วนเดียวกันเพื่อรักษา DE ratio ให้คงที่
กำไรก่อนภาษี = กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี - ต้นทุนทางการเงิน
ภาษี = กำไรก่อนภาษี x 0.2, ภาษี 20%
กำไรสุทธิ = กำไรก่อนภาษี - ภาษี
กำไรต่อหุ้น = กำไรสุทธิ / จำนวนหุ้น
ราคาเป้าหมาย = กำไรต่อหุ้น x PE
คำแนะนำแบ่งเป็น 3 ช่วง ถ้าราคาเป้าหมาย > ราคาตลาดให้ซื้อ, ราคาเป้าหมายเท่ากับราคาตลาดให้ถือ, ราคาเป้าหมายน้อยกว่าราคาตลาดให้ขาย


วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการประเมินกำไรในอนาคต

การประเมินกำไรในอนาคต บทความจากคุณ road to billion เขียนลงใน Thaivi [1] [2] [3]

การรู้จักการประเมินกำไรล่วงหน้าอย่างถูกต้องจะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถประเมินอัตราการเติบโตและความถูกแพงของหุ้นได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นแล้ว การมีโมเดลในการประเมินกำไรจะเป็น “เครื่องจับโกหก” ชั้นดีที่เราสามารถนำไปใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ของสิ่งที่ผู้บริหารพูดหรือสิ่งที่นักวิเคราะห์เขียนไว้ในบทวิจัย การที่เราสามารถใช้เครื่องมือตรงนี้ได้อย่างแม่นยำจะทำให้เราได้เปรียบนักลงทุนทั่วๆไปที่ไม่มีเครื่องมือตรงนี้

แต่ก่อนที่จะเริ่มประมาณการผลกำไร เราต้องเข้าใจคุณภาพของธุรกิจก่อน เราต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าธุรกิจมี "จุดตาย" หรือ "ข้อควรระวัง" อยู่ตรงไหน และอะไรเป็นประเด็นที่สำคัญ เช่น ธุรกิจเกษตรจะมีราคาขายผันผวนตามสภาวะตลาด ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น ธุรกิจโรงแรมจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นงบในไตรมาส 1 และ 4 จะสูงกว่าอีกสองไตรมาสมาก การวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้จะทำได้ถ้าเราเข้าใจความเสี่ยงและโครงสร้างรายได้และต้นทุนของกิจการ การประเมินโดยขาดความเข้าใจในคุณภาพของกิจการจะทำให้เกิด Garbage In, Garbage Out (ขยะเข้า ขยะออก) หรือถ้าพูดง่ายๆคือความถูกต้องของการประเมินกำไรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของการประเมินธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแต่จะบอกว่าการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะทำให้เรารู้ว่า "สมมติฐาน" ข้อไหนมีความสำคัญต่อการประเมินกำไรในอนาคตของเรา

หลังจากประเมินมูลค่าเชิงคุณภาพแล้วเราก็สามารถเริ่มต้นทำการประมาณการกำไรได้ โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้


  1. สร้างโมเดลในการประเมิน (Creating a Model)

    สามารถทำได้โดยทำการป้อนข้อมูลตัวเลขทางการเงินย้อนหลัง (จากงบการเงิน) เราจะกรอกข้อมูลย้อนหลังลงในไฟล์ Excel อย่างน้อย 3 ปี (ถ้าอยากเห็นแนวโน้มของธุรกิจมากขึ้น ผมแนะนำ 5 ปี) โดยที่เราจะกรอกตัวเลขแต่ละบรรทัดและทำการคำนวณกำไรสุทธิออกมา (เราจะไม่กรอกกำไรสุทธิลงไปตรงๆ) เราจะนำกำไรสุทธิที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในงบการเงิน ถ้าตรงก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ตรงแสดงว่า 1) สูตรผิด 2) ตัวเลขที่เรากรอกไม่ถูกต้อง เราต้องหาจนเจอจุดผิด (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากๆสำหรับคนที่พึ่งจะเริ่มทำโมเดลใหม่ๆ) เพราะไม่งั้นการประมาณการเราจะผิดทั้งหมด แต่ถ้าเราทำได้แล้วเราก็จะมีโมเดลที่พร้อมแล้วสำหรับการการประเมินกำไรต่อไป 
  2. กำหนดสมมติฐาน (Set Assumptions)

    สามารถทำได้โดยดูแนวโน้มของการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไรย้อนหลัง และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผู้บริหารให้มา หลังจากเปรียบเทียบแล้วเราจะทราบว่าผู้บริหารให้ Guidance ต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ถ้าธุรกิจมีรายได้เติบโตแค่ปีละ 3% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ผู้บริหารให้เป้า 20% เราต้องสงสัยแล้วว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนั้น หลังจากนั้นเราก็ต้องทำการ “เลือกเชื่อ” ว่าเราจะนำตัวเลขไหนมาใช้ในการประเมินกำไร 
  3. ประเมินกำไรจากสมมติฐาน (Forecasting)

    โดยนำตัวเลขสมมติฐานที่ได้มาทำการประมาณการกำไร ตัวเลขเหล่านี้ควรรวมถึง (แต่อาจจะมีมากกว่านี้) อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของยอดขายรวม อัตราภาษี ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในบางธุรกิจอาจจะมี กำไร(ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายจากการขายสินทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งวิธีการประเมินอาจจะขึ้นอยู่กับว่ารายการนั้นมีนัยสำคัญต่อการประเมินของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถตัดทิ้งได้ แต่ถ้ามีเราอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม
  4. เปรียบเทียบตัวเลขที่ทำได้กับแหล่งอ้างอิงอื่นๆ (Benchmarking)

    นำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารให้ไว้ รวมถึงเปรียบเทียบตัวเลขกับบทวิเคราะห์ว่าผลกำไรที่เราประเมินได้มากหรือน้อยกว่าอย่างไร อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ได้ตัวเลขใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์อาจจะไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องเสมอไป การได้ตัวเลขที่น้อยกว่าหรือมากกว่ามากๆบางครั้งอาจจะถูกก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่สมมติฐานของเรา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไม” ตัวเลขเราถึงแตกต่างกับคนอื่นๆ
  5. ติดตามและอัพเดทงบรายไตรมาส (Earning Review)

    ทุกครั้งที่งบออก เราจะป้อนข้อมูลงบล่าสุดเทียบกับประมาณการที่เราทำไว้สำหรับทั้งปี เช่นถ้ายอดขาย 6 เดือนแรกโต 50% แต่เราทำประมาณการไว้ 10% แสดงว่าเราอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องศึกษาดูว่ากำไรที่โตเยอะมากเกิดจากเหตุการณ์พิเศษอะไรรึเปล่า แล้วเราก็ควรจะปรับโมเดลตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา 
ช่วงที่ผมเป็นนักวิเคราะห์กองทุนใหม่ๆผมมักจะเจออาการ “โดนหลอก” เป็นประจำ เพราะผมเชื่อ 100% ในสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาทำให้ตัวเลขที่ได้บางครั้งก็สูงเกินไป (ทำให้เราไม่ได้ระวังตัว) บางครั้งก็ต่ำเกินไป (ทำให้เราไม่กล้าซื้อ) เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้ได้แม่นยำ ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม ความช่างสังเกต ประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ได้รับคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งในการเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมหยิบงบการเงินของหุ้นตัวโปรดแล้วมาลองทำการประเมินกำไรดูครับ การอธิบายเป็นคำพูดอาจจะมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อสงสัยหรือคำแนะนำตรงไหนก็ถามกันได้ครับ

ตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวิธีการวิเคราะห์และการประเมินงบในแต่ละบรรทัดว่าเราจะทำการประเมินได้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไร มาวิเคราะห์แบบเจาะลึกไปเลย ติดตามอ่านกันได้


การประมาณการกำไร

ในบทความ “การประเมินกำไรในอนาคต ตอนที่ 1” เราได้พูดถึงขั้นตอนในการประเมินกำไรทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/ ในบทความนี้เราจะลงในรายละเอียด โดยจะกล่าวปัจจัยที่มีผลต่อกำไรอย่างละเอียดมากขึ้น

รายได้


หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว มักจะมีการเติบโตของรายได้ที่สม่ำเสมอ การประเมินรายได้ของหุ้นพวกนี้อาจจะใช้อัตราการเติบโตในอดีตได้ แต่สำหรับหุ้นที่มีรายได้ในอดีตไม่สม่ำเสมอ ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือบริษัทที่มีผู้บริหาร ผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยธุรกิจใหม่ๆ การใช้ตัวเลขในอดีตอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เราอาจจะต้องอาศัยข้อมูลการจากทางผู้บริหารประกอบ อย่างไรก็ตามเราต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีลูกค้าน้อยราย หรือบริษัทที่ไม่มีลูกค้าประจำหรือไม่สามารถกำหนดราคาขายแน่นอนได้ บริษัทเหล่านี้เราต้องมี “ส่วนเผื่อสำหรับข้อผิดพลาด” ไว้บ้าง

การประมาณการอัตราการทำกำไร


ต้นทุนของธุรกิจหลักๆมีสองส่วนคือ ต้นทุนในการขาย (Cost of Good Sold หรือ COGS) และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (Sale, General & Admin หรือ SG&A) ในการวิเคราะห์เราต้องมองให้ออกว่าทั้ง COGS และ SG&A มีส่วนไหนบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายทีแปรผันตามยอดขาย ธุรกิจโรงแรมจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ค่อนข้างเยอะจากค่าเสื่อมราคา ทำให้การเพิ่มขึ้นของยอดขายในวัฏจักรขาขึ้นจะทำให้อัตราการทำกำไรเติบโต (รายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่า) แต่ในขณะที่ธุรกิจเกษตรอาจจะมีต้นทุนแปรผันเยอะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของยอดขายอาจจะไม่ได้ถึงอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น (สำหรับธุรกิจนี้ ต้องมองกันที่ราคาขายและราคาของวัตถุดิบเป็นหลักๆ)

การใช้อัตราส่วนในอดีตจะสามารถใช้ได้แต่เราต้องดูผลกระทบที่บริษัทจะได้รับในปีปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมาจากค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของธุรกิจ ส่วนมากแล้วทางบริษัทจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่าแนวโน้มของอัตราการทำกำไรในปีนี้จะเป็นยังไง แต่ก็อย่าลืมถามถึง “เหตุผล” ที่จะเป็นอย่างนั้นด้วยนะครับ เราจะได้นำมาวิเคราะห์ต่อได้

ต้นทุนทางการเงินและกระแสเงินสด


สองอย่างนี้ใกล้กันจนหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ บริษัทที่มีกระแสเงินสดดีจะมีเงินเหลือไปจ่ายหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน แต่สำหรับบริษัทที่ต้องใช้Working Capitalหรือเงินลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมาก อาจจะต้องอาศัยการกู้ยืมที่มากขึ้นถ้าธุรกิจจะต้องการเติบโต การวิเคราะห์โดยละเอียดจะทำได้ยากสำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิเคราะห์มืออาชีพ แต่เราสามารถทำได้คร่าวๆโดยการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ถ้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานหักด้วยเงินที่ใช้ในการลงทุนติดลบมากๆ บริษัทจำเป็นต้องจัดหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งอาจจะหมายถึงการกู้เงินจากธนาคารหรือการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น สมมติว่าบริษัทต้องใช้

อัตราภาษี


ค่าใช้จ่ายบางประเภทไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้ เช่น การตั้งสำรองหนี้เสีย ทำให้อัตราการจ่ายภาษี (“ภาษีจ่าย” หารด้วย “กำไรก่อนหักภาษี”) มีอัตรามากกว่าปรกติ แต่ในบางกรณีบริษัทอาจจะจ่ายภาษีน้อยกว่าฐาน 20% เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น BOI การประเมินภาษีทำได้ยาก ถ้าอัตราการจ่ายภาษีในอดีตไม่ได้ผันผวนมากผมก็จะใช้ตัวเลขเดิม แต่ถ้าผันผวนประเมินยาก ผมจะโทรถามข้อมูลส่วนนี้จากทางเจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์โดยตรงเลย ซึ่งจะแม่นยำกว่าการคาดเดาของเราแน่นอน

ผลกระทบจาก Dilution


การออก Warrant การเพิ่มทุน การจ่ายหุ้นปันผล จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้กำไรต่อหุ้นลดลง นักลงทุนหลายท่านประเมินมูลค่าโดยที่ยังไม่ได้นำหุ้นส่วนเพิ่มนี้มารวม ทำให้ได้ตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่สูงเกินจริง สุดท้ายแล้วเราต้องไม่ลืมว่าการเติบโตของ EPS ในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด

ข้อผิดพลาดในการประเมินกำไร


สุดท้ายแล้วหุ้นแต่ละตัว ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีปัจจัยที่มีผลต่อรายได้และกำไรแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้แม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์ (รวมถึงข้อผิดพลาด) ในการวิเคราะห์ธุรกิจและประเมินกำไรในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการทั้ง 5 ข้อที่ผมได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/  ถ้ากระบวนการถูกต้องแล้ว ในท้ายที่สุดเราจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ถ้าเราผิดพลาดตรงไหนก็ค่อยๆปรับแก้ไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคอยประเมินตัวเองอยู่เสมอ ในบทความหน้า ผมจะมาพูดถึงข้อผิดพลาดในการประเมินกำไรในอนาคตที่นักลงทุนชอบทำกัน ติดตามกันได้ครับ

ในทางทฤษฎีการประเมินกำไรเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่ยาก แต่เหมือนกับทุกอย่างในโลกนี้ โลกความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้มุมมองภาพกว้างๆประกอบการตัดสินใจ ผมได้หยิบยก “ข้อผิดพลาด” จากประสบการณ์ของตัวเองและของนักลงทุนหลายนๆท่านที่ผมมีโอกาสได้การสอนและให้ความรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับหลายๆคน สรุปออกมาแบบง่ายๆให้ทุกคนได้อ่านกันแบบไม่ต้องจ่าย “ค่าเล่าเรียน” ด้วยตัวเอง

ไม่ได้วัดผลการประเมินของตัวเอง


การประเมินกำไรที่ดีก็เหมือนกับการยิงปืน ยิงไปแล้วเราก็ต้องดูว่ามันเข้าไปหรือเปล่า สูงไปมั้ย? ต้องขยับซ้ายอีกรึเปล่า? ถ้าเราประเมินกำไรแล้ว ไม่เคยเอามาเปรียบเทียบกับตัวเลขจริงๆ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากระบวนการในการประเมินของเรานั้นถูกต้องแค่ไหน ปรกติแล้วผมจะอัพเดทข้อมูลทุกๆไตรมาส และจะทำละเอียดๆหลังจากงบปีออก ผมจะทำการเปรียบเทียบดูว่างบที่ออกมาเมื่อเทียบกับที่เราทำไว้เป็นอย่างไร? อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ต้นทุนทางการเงิน อัตราภาษี และสุดท้ายกำไรต่อหุ้น งบที่ออกมาในไตรมาสนั้นสูงหรือต่ำเกินกว่าที่เราประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ (เกิน 10%) ผมก็จะพยายามหาเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร สมมติฐานที่ผมมีเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆยังถูกต้องอยู่หรือไม่ ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองที่จะทำให้ความแม่นยำเราดีขึ้นอย่างมาก

ไม่ได้ทำการ BENCHMARK ตัวเลข


แน่นอนว่าการเปรียบเทียบกับตัวเลขจริง เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่บางครั้งเราก็อยากจะรู้ว่าตัวเลขที่เราทำออกมาเป็นอย่างไรก่อนที่จะรู้ผล วิธีที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุดคือการเปรียบเทียบตัวเลขของเรากับบทวิเคราะห์ โดยหลักผมจะเปรียบเทียบการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไร และกำไรต่อหุ้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า กับบทวิเคราะห์อย่างน้อยซัก 2 – 3 ฉบับ หลายครั้งผมก็อาจจะโทรไปคุยกับนักวิเคราะห์เพื่อสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวสมมติฐานของงบการเงิน ในโลกของการลงทุน นักวิเคราะห์จะเป็นคนที่ได้รับข้อมูลดีที่แม่นยำและรวดเร็วที่สุด (หลายบริษัทจะจัดประชุมนักวิเคราะห์ก่อนจะให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วไป และหลายๆบริษัทก็ไม่ให้ข้อมูลกับนักลงทุนโดยตรง) ซึ่งเป็นส่ิงที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ไม่อยากให้นักวิเคราะห์เปลี่ยนคำแนะนำกลับไปกลับมา นักวิเคราะห์ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะทำตัวเลขออกมาให้ไม่ต่างกับอดีตมากนัก มีนักวิเคราะห์จำนวนน้อยที่กล้าที่จะเปลี่ยนมุมมองอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบกำไรของเราต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน

หุ้นแต่ละตัวประเมินกำไรได้ยากง่ายแตกต่างกัน


“Not all stocks are created equal” หุ้นทุกตัวมีความแตกต่าง การประเมินกำไรก็เช่นกัน นักลงทุนหลายท่านมองการเติบโตของกำไร อยากได้หุ้นที่เติบโตดีๆ เลือกลงทุนในหุ้นเล็กๆที่มีการเติบโตดี แต่ลืมที่จะพิจารณาความเสี่ยง มองปริมาณ แต่ไม่ได้มองคุณภาพ เราคิดว่าธุรกิจจะโต 30% แต่เราไม่ได้คิดว่าโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แล้วในทางกลับกันมันมีโอกาสที่จะลดลง 30% หรือเปล่า ในความเป็นจริงแล้วหุ้นที่มีความเป็นวัฏจักร มีราคาหรือต้นทุนที่ผันผวน มีลูกค้าน้อยราย เช่น ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ หุ้นที่มียอดขายไม่สม่ำเสมอ เช่น รับเหมา จะสามารถประเมินกำไรในอนาคตได้ยากกว่าธุรกิจที่มีลูกค้าหลายราย มีการซื้อซ้ำ และราคาขายและต้นทุนไม่ผันผวน ยกตัวอย่างหุ้น หุ้นกลุ่ม OEM กับ หุ้นค้าปลีก แต่ OEM ถ้าดีก็จะดีใจหาย แต่ถ้าลูกค้ารายหลักๆหายไปซักรายก็จะมีผลกระทบต่องบการเงินเป็นอย่างมาก (ซึ่งบางครั้งผู้บริหารก็ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต) ส่วนค้าปลีกก็ไม่ได้ว่าประเมินได้ง่ายเสมอไปเพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ต้นทุนอาจจะเพิ่มในขณะที่กำลังซื้อถดถอย ตัวอย่างเช่นช่วงต้นปี 2014 ที่ผ่านมา หุ้นค้าปลีกส่วนมากมีผลประกอบที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามความแน่นอนของการคาดการณ์งบการเงินของหุ้นค้าปลีกจะมีความแน่นอนกว่ามาก แต่ถ้ามองในมุมของการประเมินมูลค่า PE ที่สูงของหุ้นพวกนี้ (เทียบกับหุ้นค้าปลีกในต่างประเทศ) ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

เชื่อผู้บริหารมากเกินไป

นักลงทุนหลายๆคนไม่ได้ติดตามว่าสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดในอดีต ทำให้ “ตีความ” ข้อมูลที่ผู้บริหารให้สูงหรือต่ำเกินจริง ผู้บริหารบางท่านเป็นนัก “ขายฝัน” มีโปรเจคเยอะ บอกว่าจะขยายให้ได้ 100 – 200 สาขา แต่พอทำจริงๆอาจจะไม่ถึง 10 สาขา นักลงทุนที่ไม่เคยติดตามผลงานก็ต้อง “ฝันสลาย” ไปตามๆกัน แต่ถ้าเราย้อนไปศึกษาข้อมูลในอดีตซักนิด ก็จะพบว่าผู้บริหารท่านนั้นมี Track Record ที่ไม่ค่อยดี พูดอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ ในขณะที่บางพวกเป็นพวก “พูดน้อย ทำมาก” ถามว่าเป็นยังไง? จะโตแค่ไหน? อาจจะบอกแค่ 5-10% แต่พอทำจริงๆกลับได้เยอะกว่านั้น แบบนี้เราก็ต้องนำผลงานของท่านมาพิจารณาในการประเมินกำไร อย่างไรก็ตาม บางครั้งสิ่งที่ผู้บริหารพูดอาจจะไม่มีความสำคัญเท่ากับปัจจัยภาพนอก บางครั้งสภาวะอุตสาหกรรมดูดี มีปัจจัยเชิงบวกเป็นลมหนุน ไม่ว่าจะมาจากนโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เหตุการณ์พิเศษ ที่อาจจะเอื้อต่อธุรกิจ เวลาผู้บริหารพูดอะไร ก็อาจจะดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าสภาวะการณ์พลิกผัน เป้าหมายของผู้บริหารก็อาจจะดู “เกินจริง” ขึ้นมาทันที ในฐานะนักลงทุน การหาแหล่งข้อมูลอื่นมาประกอบเพื่อ “ตรวจสอบความถูกต้อง” ของผู้บริหารถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น บางครั้งการศึกษาและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทคู่แข่ง บริษัทที่เป็นคู่ค้า หรือลูกค้า ก็จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้บริหารให้มาได้

ไม่ได้พิจารณาความน่าจะเป็นของงบที่อาจจะเกิดขึ้น


ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถคาดเดากำไรในอนาคตได้อย่างแม่นยำ 100% เรามองออกได้แค่เป็น “ช่วง” หรือ Range ของกำไรเท่านั้น สำหรับธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง (งบที่ดีที่สุดกับแย่ที่สุดมีความแตกต่างเกินกว่า 30%) ผมจะประเมินกำไรออกมาในหลายๆกรณี และจะดูว่าแต่ละกรณีมีความน่าจะเป็นอย่างไร นักลงทุนหลายท่านมองแต่กรณีปรกติ (Base Case) หรือ กรณีดีสุดๆ (Best Case) แต่ไม่ได้เพื่อโอกาสไว้สำหรับกรณีแย่สุดๆ (Worst Case) เลย ซึ่งหลายๆครั้งหมายถึงการประเมินมูลค่าที่ผิดพลาดและการขาดทุนแบบมหาศาลที่เกิดจากการไม่มี “ส่วนเผื่อความผิดพลาด” (Margin of Error) ที่มากพอ เปรียบเทียบก็เหมือนการทอยลูกเต๋าพิเศษที่มีตัวเลขทั้ง 6 ด้านคือ {1, 1, 5, 5, 5, 5} การที่มีเลข “5” ถึงสี่ด้านไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสที่ทอยได้เลข 1 ซึ่งถ้าเลข 1 ต่ำพอที่จะทำให้หุ้นตกลงอย่างมหาศาลได้ เราก็ต้องควรพิจารณาความน่าจะเป็นในส่วนนั้นด้วย สุดท้ายแล้วการประเมินมูลค่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องแบบไม่มีวันจบ (Continuous Improvement) เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความขยันทุ่มเท ทำการบ้านเยอะๆ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและมุมมองของนักลงทุนท่านอื่น อย่างไรก็ตามในสภาวะตลาดที่ “หุ้นตามกระแสนิยม” มาแรง ราคาตลาดอาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หุ้นที่ Hot และเป็นที่นิยมก็จะมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ในขณะที่หุ้นบางกลุ่มก็จะไม่มีใครเหลียวแล และนั่นก็อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อกิจการที่ดี แข็งแกร่ง มีการเติบโต ในราคาที่มีส่วนลด และสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะเป็นรางวัลพิเศษให้กับนักลงทุนที่เฉลียวฉลาดและมีความอดทนมากพอ

ที่มา

  • [1] http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55200
  • [2] http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=58059
  • [3] http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58311

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

7 เคล็ดลับต้องรู้ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ SMEs

การเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ถือเป็นความใฝ่ฝันสำหรับหลายคน แต่จุดเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะทุกอย่างคุณต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ต้องคิดและตัดสินใจทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน และธุรกิจ 90% มักจะปิดตัวไปตั้งแต่ปีแรก และที่เหลือรอดถึงห้าปีมีเพียง 1% เท่านั้น แสดงว่าถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งคู่แข่งคุณคือ กลุ่ม เสือ สิงค์ กระทิง แรด 1% ที่สามารถรอดมาในสนามธุรกิจได้เท่านั้น การที่คุณเข้าไปในสนามการค้าคุณจะเป็น”ผู้ล่า” หรือ “ผู้ถูกล่า” การวางแผนและเตรียมความพร้อมธุรกิจตั้งแต่ก่อนลงสนามเป็นเรื่องสำคัญ โดยในการวางแผนธุรกิจประเด็นสำคัญที่ต้องคิดดังนี้


1. สินค้าหรือบริการของเราแก้ไขปัญหาอะไรของลูกค้า

คนส่วนใหญ่ถ้าคิดจะเริ่มธุรกิจคำถามแรกคือจะขายอะไรดี ส่วนใหญ่คำตอบที่ได้ก็จะคล้ายๆ มองไปรอบๆตัวคนก็กันหมดแล้ว จากนั้นเราก็ล้มความคิดกันไป แต่ถ้าเราไปมองในมุมมององลูกค้าจะเห็นว่า การซื้อสินค้าหรือบริการของคนเราเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นหมุนเวียนเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยทั้งวันคนเราจะทำอยู่สองอย่างคือ “วิ่งไล่หาความสุข” และ “วิ่งหนีความทุกข์”  สินค้าและบริการทั้งหมดก็เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของลูกค้านี่เอง ดังนั้นการคิดว่าจะขายอะไรดีจึงเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่า

  1. สินค้าเราแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า
  2. มีตลาดที่ใหญ่เพียงพอให้เป็นธุรกิจได้หรือไม่

ถ้าสินค้าเราแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ และมีตลาดรองรับที่มากพอ ก็สามารถทำเป็นธุรกิจได้ไม่ยาก ตัวอย่างธุรกิจเช่น

  • หิว  ->  ร้านอาหาร
  • หิว แต่ไม่มีเวลา  ->  fast food, ข้าวกล่อง 7-11
  • ร้อน -> พัดลม แอร์ น้ำแข็ง เครื่องดื่มเย็นๆ
  • ง่วง แต่ไม่อยากนอน -> กาแฟกระป๋อง
  • น้ำมันแพง  -> ECO car, อุปกรณ์ประหยังพลังงาน
  • บริษัทไม่มีพนักงาน  -> ธุรกิจรับจัดหาแรงงาน

2. ธุรกิจเรามีจุดขายอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้าน

ธุรกิจเดี๋ยวนี้การแข่งขันสูง ยิ่ง SMEsที่ไม่มีจุดขายที่ชัดเจนโอกาสรอดยาก ดังนั้นธุรกิจเราต้องตอบให้ได้ว่าสินค้าของเรามีจุดขายอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านและลูกค้าต้องการ (Unique Selling Proposition :USP) จุดขายของเราก็คือคำสัญญาที่เราให้กับลูกค้าว่า มาซื้อสินค้าและบริการจากเราแล้วจะได้อะไรตัวอย่างจุดขายเช่น

  • ทุกอย่าง 20 บาท
  • ส่งถึงบ้านใน 30 นาที
  • หลับสบายแม้วันมามาก
  • ทะเลกรุงเทพ
  • สวยด้วยแพทย์
  • ลบริ้วรอยใน 7 วัน

  ส่วนใหญ่ของ USP จะประสบความสำเร็จและธุรกิจอยู่รอดได้ คือ ต้องเป็นสัญญาที่สามารถปฏิบัติได้ และระบุเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน? และมันจะ สร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทมากน้อยแค่ไหน?  ความยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นอย่างไร? ปริมาณกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสัญญานี้เทียบกับสัดส่วนของลูกค้าทั้งหมดในกลุ่มเป็นอย่างไร?

3. สภาพการแข่งขันเป็นอย่างไร

ในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ เราต้องรู้ว่า อุตสาหกรรมที่เรากำลังเข้าไปฟาดฟัน อยู่ช่วงไหนของการเติบโต โดยปกติจะมี 5 ขั้นคือ ช่วงเริ่มต้น ช่วงเติบโต ช่วงอิ่มตัว ช่วงถดถอย และช่วงตกต่ำดังภาพ


โดยในแต่ละช่วงของการเติบโต ปัจจัยที่กระทบกับการแข่งขันทั้ง 5 หรือ five force model มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง five force model และช่วงการเติบโต
ที่มา : สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล, "แกะงบการเงินสไตล์ VI", สํานักพิมพ์ think good, 2557

4. จะทำการขายและการตลาดอย่างไร

ในปัจจุบันสภาพการแข่งขันที่สูง การขายสินค้าเราต้องแบ่งกลุ่มชัดเจนว่าจะเจาะกลุ่มไหน สำหรับ SMEs การเจาะตลาด Mass เป็นเรื่องลำบากเพราะคู่แข่งจะเป็นบริษัทใหญ่ๆที่ดำเนินงานมานาน เงินทุนหนา ซึ่งเราสามารถเลือกเจาะกลุ่มเฉพาะที่มีปริมาณ และกำลังซื้อได้ หลายๆธุรกิจที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มก็ยังอยู่ได้อย่างรถก้างที่วิ่งในรางเคยฮิตมากๆเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วนึกว่าไม่มีคนเล่น แต่ปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังรักและเล่นอยู่และเป็นตลาดที่ใหญ่ซะด้วย

ซึ่งธุรกิจแต่ละขั้นกลยุทธิการตลาดก็จะใช้แตกต่างกัน
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง กลยุทธการตลาด ผลประกอบการ ในแต่ละช่วงการเติบโต
ที่มา : สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล, "แกะงบการเงินสไตล์ VI", สํานักพิมพ์ think good, 2557

***เทคนิคการเขียนโฆษณาให้ลูกค้ายอมจ่ายเงิน***
หลายคนวางแผนมาดีแต่ไปตกม้าตายตอนนำเสนอขายลูกค้า ข้อผิดพลาดส่วนใหญ่จะชอบเขียนว่าสินค้าเรามีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่จริงๆแล้วในการเขียนโฆษณาที่ดีควรนำเสนอประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้ว่าซื้อไปแล้วได้อะไร แล้วมีประโยคปิดการขายเท่ๆ เช่นซื้อวันนี้ลด 90% พรุ่งนี้ราคาเต็ม ลูกค้าเราจะตัดสินใจง่ายขึ้น



5. รูปแบบธุรกิจเป็นอย่างไร

ตอนนี้ทุกบริษัทเริ่มใกล้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ต้องขวดความคิดออกมาเป็นโมเดลธุรกิจที่ประกอบด้วยคำถาม 4 ข้อที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ คือ  ทำ(สินค้า)อะไร?  ทำอย่างไร?  ทำ(ขาย)ให้ใคร? และ  คุ้มค่าหรือไม่? Business Model Canvas เป็นเครื่องมือที่ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนต่างๆ โดยจะแยกย่อยหัวข้อลงไปอีกเป็น 9 ส่วน ทำให้เราสามารถออกแบบและวางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น

  • ทำ(สินค้า)อะไร?
    • คุณค่าที่นำเสนอ: Value Propositions
  • ทำ(ขาย)ให้ใคร?
    • กลุ่มลูกค้า Customer Segment
    • ช่องทางการเข้าถึง Channels
    • สายสัมพันธ์ลูกค้า Customer Relationship
  • ทำอย่างไร?
    • ทรัพยากรของบริษัทเราคืออะไร? Key Resource
    • งานหลักที่ทำคืออะไร? Key Activities
    • ใครคือคู่ค้าของเรา? Key Partners
  • คุ้มค่าหรือไม่?
    • วิธีการหารายได้ของเราเป็นอย่างไร? Revenue Streams
    • ค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจคืออะไร? Cost Structure

6. จะหาเงินทุนจากไหน

เมื่อแผนธุรกิจเราชัดเจน ใจจะสั่งมาว่าต้องทำ ความรู้สึกของการเป็นคนรวยจะเกิด การดิ้นรนหาเงินมาทำจะเกิดขึ้น โดยเงินลงทุนหลักๆจะประกอบด้วยสองส่วนคือเงินที่ใช้ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่นที่ดินอาคารและอุปกรณ์ต้องมีอะไรบ้าง และเงินทุนที่ใช้หมุนเวียน ที่ประกอบด้วยเงินที่ไปจมกับลูกหนี้การค้าถ้าเราขายเครดิต เงินที่จมไปกับสินค้าคงเหลือ และเงินที่ต้องเตรียมไว้จ่ายเจ้าหนี้การค้า
โดยแหล่งที่มาของเงินส่วนใหญ่จะมาจาก 2 ส่วนคือหนี้สิน กับส่วนของเจ้าของแต่ส่วนใหญ่ธุรกิจที่เพิ่งเปิดจะไม่ค่อยมีใครให้กู้ก็ต้องให้แหล่งที่มาของเงินจากส่วนของเจ้าของเป็นหลัก แรกๆอาจเงินขลุกขลักหน่อยแต่ให้พยายามเดินบัญชีให้ผ่านธนาคารไว้ 6 เดือนก็ไปขอวงเงินสินเชื่อได้ ธ.กรุงศรี( www.krungsri.com) ก็มีฝ่ายสินเชื่ออยู่

7. ถ้าเจ้งจะทำอย่างไร

ไม่ว่าแผนธุรกิจของเราจะดูดีเพียงไร เวลาทำจริงมักจะไม่ค่อยเป็นไปอย่างที่คิด ดังนั้นเราต้องคิดเผื่อกรณีเลวร้ายที่สุดเอาไว้ว่าถ้าขายไม่ได้เลย รายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายมีเท่าไร จะหาเงินจากไหนมาจ่าย แล้วจะสู้ทนได้กี่เดือนถึงยอมแพ้และถ้าจะเลิกธุรกิจไปเลยจะทำอย่างไร จะกลับไปทำงานประจำได้หรือไม่


ตอบได้ 7 ข้อตามนี้แผนธุรกิจท่านจะชัดเจน เริ่มต้นไม่มั่วจะไปพูดระดมทุนจากเพื่อนก็เอออนห่อหมกให้เงินทุนมาทำ เหลือแค่ทำตามฝันและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่คาดคิดให้ได้ สู้ต่อไปทาเคชิ