วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

การวิเคราะห์เงินลงทุนในบริษัทย่อย/บริษัทร่วม


บริษัทที่ขยายกิจการหลายบริษัทมักขยายกิจการโดย ใส่เงินลงทุนไปร่วมทุนกับ partner ต่างๆ หรือบางครั้งก็เพื่อผลประโยชน์ทางภาษี เราจะเห็นรายการ เงินลงทุนในบริษัทย่อย/บริษัทร่วม ในงบแสดงฐานะการเงิน โดยมีแนวทางการวิเคราะห์ดังนี้

ตามมาตรฐานการบัญชีเรื่องเงินลงทุน ในกลุ่มนี้ถ้ากิจการมี อิทธิพลในการดำเนินงาน หรือบางครั้งใช้เกณฑ์หยาบๆ คือถือหุ้นตั้งแต่ 20% ขึ้นไป เงินลงทุนต้องแสดงด้วยวิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ถ้าจะเข้าใจแบบหยาบๆ อย่างง่ายๆ คือ มูลค่าเงินลงทุนจะเพิ่มหรือลดตามกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนการลงทุน และยังลดลงได้ถ้ามีการจ่ายปันผลจ่าย

ถ้าเงินลงทุนเบื้องต้น (ราคาทุน) มูลค่า 34 ล้านบาทและมูลค่าเงินลงทุนปัจจุบันในงบดุลต่ำกว่า 34 ล้านบาท แปลว่าเงินลงทุนมูลค่าหดหายไป ซึ่งมูลค่าที่หายไปก็จะสัมพันธ์กับส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ลงทุนอยู่โดยลดตามส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ลงทุนตามสัดส่วนที่ลงทุนอาจมาจากการจ่ายปันผลออกมาจำนวนมากจากกำไรสะสมซึ่งมากกว่ากำไรประจำปี มีผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก หรืออาจลดทุนก็ได้เป็นต้นอย่างน้อยตัวเลขก็จะบอกเหตุบางอย่างให้เราทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ต้องดูงบการเงินบริษัทลูกก็ได้

ในมาตรฐานการบัญชีใหม่ งบการเงินเฉพาะของบริษัท (แม่) เงินลงทุนให้แสดงด้วยราคาทุนเดิม (Cost Method) ส่วนงบการเงินรวม ( Consolidation) แสดงด้วยวิธีส่วนได้เสีย ทำให้การอ่านงบการเงินในวันนี้นั้นควรดูที่งบการเงินรวมเป็นหลัก หากบริษัทแม่ต้องการแสดงผลกำไรจากบริษัทลูกเข้ามารับรู้เป็นรายได้ บริษัทลูกต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้เร็วที่สุด ข้อดีคืองบเฉพาะนั้นจะแสดงรายการที่เกิดจริงเท่านั้น รายได้หรือกำไรที่บริษัทลูกสร้างขึ้น ถ้าเป็นรายได้หรือกำไรเทียมและไม่สามารถจ่ายเป็นเงินปันผลเข้ามาได้ก็จะไม่สามารถสร้างรายได้เทียมในงบเฉพาะได้ แต่ข้อด้อยคือกรณีที่บริษัทย่อยขาดทุนอย่างมาก จนไม่อาจดำรงอยู่รอดได้และส่วนทุนติดลบมาก ถ้าบริษัทแม่ไม่ปรับปรุงการด้อยค่าเงินลงทุนแล้ว ผู้ใช้งบการเงินอาจไม่ทราบอะไรเลยก็ได้ ปัญหานี้จะเกิดกับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่มีการลงทุนในบริษัทย่อยหลายๆ บริษัท ผู้บริหารบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็ไม่ทำการลงบันทึกด้วยวิธี Equity อยู่แล้วทำให้การบริหารธุรกิจจึงมุ่งเน้นเรื่องภาษีเป็นหลัก แต่ขาดภาพรวมเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน เปรียบเหมือนการขับรถยนต์ที่มีกระจกรถเปรอะเปื้อนหรือขุ่นมัว

ข้อเด่นในการบันทึกด้วยวิธีราคาทุนเดิมในแง่ของบเดี่ยว (เฉพาะ) คือรายได้ที่จะรับรู้จากบริษัทลูกนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทลูกประกาศจ่ายเงินปันผลออกมาเท่านั้น ตราบใดที่ลูกมีกำไร ถ้าไม่จ่ายปันผลออกมารายได้ก็จะไม่เกิดขึ้นในบริษัทแม่ (เฉพาะ) และถ้าจ่ายเกินกว่ากำไรที่ทำได้ในช่วงที่ลงทุน เงินปันผลส่วนที่เกินนั้นจะนำมาลดเงินลงทุนลง หลักการนี้จึงมองกำไรในรูปเงินสดหรือสิทธิที่เกิดขึ้นที่เป็นเงินสดค่อนข้างแน่ มีความแน่นอนในกระแสเงินสดที่จะได้รับ อิงกับเกณฑ์ทางภาษีมากกว่าแบบเดิม (Equity Method) ที่มองถึงสิทธิในกำไรที่แม่มีส่วนแบ่ง มี control แม้จะไม่จ่ายปันผลก็ตาม ซึ่งด้วยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ทำให้การวิเคราะห์งบการเงิน หากต้องการมองภาพรวมหรือวิเคราะห์ฐานะและศักยภาพธุรกิจ ต้องมองที่งบการเงินรวมจึงจะวิเคราะห์ได้ชัดเจนกว่า ส่วนงบเดี่ยว (เฉพาะ) มองในด้านภาษีและกฎหมายเท่านั้น ในทาง strategic management และ value investment ไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก

ที่มา https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10206108013517784

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม