วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ตารางประมาณการราคาเหมาะสมอย่างง่ายด้วย PE ratio


การลงทุนโดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน เราต้องการหาหุ้นที่ดีและราคาเหมาะสม การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย PE เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่ง่ายและรวดเร็ววิธีหนึ่ง บทความนี้เป็นการแจกตาราง excel ที่ช่วยประมาณการราคาเหมาะสมอย่างง่าย ด้วย PE ratio สามารถจิ้มตัวเลขบนเว็ปได้เลย หรือจะโหลดเป็นตาราง excel ก็จิ้มเบาๆตรงมุมขวาล่างได้ครับผม โดยแยกเป็นการประมาณการณ์ได้ 5 วิธี โดยจะใช้วิธีไหนก็ได้ ข้อสำคัญไม่ได้อยู่ที่วิธีการคำนวณว่าต้องซับซ้อนสมมติฐานเยอะ แต่อยู่ที่สมมติฐานของตัวเลขที่เอามาใส่ตารางว่ามีตรรกะหรือไม่ดังนี้



1.ประมาณการราคาเหมาะสมจากการเติบโต


ถ้าเรารู้กำไรปีนี้ และพอเดาได้ว่าปีต่อๆไปกำไรจะโตเท่าไร โดยให้เหตุผลจาก การเติบโตในอดีต ทิศทางอุตสาหกรรม ลอกนักวิเคราะห์ ฯลฯ

เริ่มจากกำหนดกำไรต่อหุ้นในปีปัจจุบัน แล้วประมาณการกำไรต่อหุ้นในปีหน้าโดยใส่ตัวเลขการเติบโตตารางจะคูณให้เอง ปีต่อๆไปสามาถกำหนดการเติบโตแยกได้

ได้กำไรต่อหุ้นปีต่อไป จับคูณ PE ที่กำหนดไว้จะได้ราคาที่เหมาะสม

2.ประมาณการราคาเหมาะสมจากการเติบโตของยอดขาย


เริ่มต้นจากเดาแบบมีหลักการว่ายอดขายในแต่ละปีว่าจะโตเท่าไร จับคูณอัตรากำไรจะได้กำไร จับหารจำนวนหุ้นจะได้กำไรต่อหุ้น นำกำไรต่อหุ้นมาคูณ PE จะได้ราคาที่เหมาะสม

3.ประมาณการช่วงของ PE ที่เหมาะสม


ราคาหุ้นมักจะวิ่งอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้ ไปอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของ อ.สรรพงษ์ การหา-pe-ที่เหมาะสมทางทฤษฎีเพื่อกำหนดกรอบราคาในการลงทุน แบ่งเป็นกรอบบนและกรอบล่าง

กรอบบน PE ไม่ควรเกิน การเติบโต หรือ PEG=1

กรอบล่าง PE คำนวณจาก PE=อัตราจ่ายปันผลต่อกำไร /k - g ประมาณการด้วย อัตราจ่ายปันผลต่อกำไร / riskfree + beta หรือตีความง่ายๆคือ PE ที่เหมาะสมเป็น PE ที่ที่ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนเงินปันผลเท่ากับ riskfree + beta

riskfree จะใช้ผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปี beta และ ราจ่ายปันผลต่อกำไร หาได้ที่ fact sheet

4.หา forward PE


เป็นการมองว่าถ้ากำไรโต PE ในอนาคตจะเหลือเท่าไร สมมติว่าถ้ากำไรโตไปเรื่อยๆ อีก 3 ปี ถ้าซื้อที่ราคานี้ PE จะเหลือ 5 เท่าถ้ามองว่า PE ที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นอยู่ที่ 10 เท่า แสดงว่า 3 ปีจะมี อัพไซต์ 100% หรือเฉลี่ยปีละ 26% ทบต้น

ตารางสามารถประมาณการเป็นกำไรต่อหุ้น หรือมูลค่าตลาดก็ได้

5.มูลค่าตลาดขนาดนี้ต้องทำกำไรเท่าไร


เทคนิคนี้ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เป็นคล้ายๆบริษัทเปล่า เราอยากรู้ว่าต้องทำกำไรเท่าไรจึงคุ้ม

สมมติบริษัทมีมูลค่าตลาด 1500 ล้านถ้า ถ้า PE เหมาะสมอยู่ที่ 15 เท่า แสดงว่าต้องทำกำไร 100 ล้าน แล้วก็มาดูว่าบริษัททำกำไรได้เท่าไรสมมติ 50 ล้าน แสดงว่าบริษัทต้องทำกำไรเติบโตปีละ  26% ทบต้น แล้วค่อยมาดูว่าบริษัทมีสักยภาพทำกำไรได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ซื้อจบ

6.ประมาณการกำไรแบบ Advanc 



สำหรับคนที่อยากใส่สมการให้ซับซ้อนขึ้น ผมก็ทำตารางเพิ่มเติมให้ครับผม



ยอดขายปีหน้า = ยอดขายปีนี้ x (1+การเติบโต) , ให้โตเท่าไรประมาณการด้วยสมมติฐานของใครของมัน
ต้นทุนขาย = ยอดขาย x (1-GPM) , GPM คืออัตรากำไรขั้นต้น
กำไรขั้นต้น = ยอดขาย x GPM
ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร = ค่าใช้จ่ายขายบริหารปีที่แล้ว x การเติบโตของค่าใช้จ่าย, ปรับตัวเลขได้ตามใจชอบ
กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี = กำไรขั้นต้น - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ต้นทุนทางการเงิน(ดอกเบี้ย) = ต้นทุนทางการเงินปีที่แล้ว x การเติบโตของยอดขาย, ให้โตเท่ากับยอดขายเพราะว่าถ้าบริษัทโต น่าจะ กู้เงินเพิ่มในอัตราส่วนเดียวกันเพื่อรักษา DE ratio ให้คงที่
กำไรก่อนภาษี = กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี - ต้นทุนทางการเงิน
ภาษี = กำไรก่อนภาษี x 0.2, ภาษี 20%
กำไรสุทธิ = กำไรก่อนภาษี - ภาษี
กำไรต่อหุ้น = กำไรสุทธิ / จำนวนหุ้น
ราคาเป้าหมาย = กำไรต่อหุ้น x PE
คำแนะนำแบ่งเป็น 3 ช่วง ถ้าราคาเป้าหมาย > ราคาตลาดให้ซื้อ, ราคาเป้าหมายเท่ากับราคาตลาดให้ถือ, ราคาเป้าหมายน้อยกว่าราคาตลาดให้ขาย


บทความนี้ก็จะเป็นการนำเสนอเครื่องมือที่ช่วยให้การประเมินมูลค่าที่เหมาะสมง่ายขึ้นครับ



วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ลงทุนใน start up คุ้มหรือไม่

กระแสการลงทุนใน start up กำลังดังช่วงนี้ จากข่าวความสำเร็จของการระดมทุน บางบริษัทยังไม่มีสินค้าและบริการอะไร แค่ขายไอเดียก็สามารถระดมทุนได้เป็น 100 ล้าน สำหรับการวิเคราะห์การลงทุนว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม มีประเด็นน่าคิดดังนี้

สินทรัพย์ = หนี้ + ทุน + รายได้ - รายจ่าย

ระดมทุนได้คือ สินทรัพย์เพิ่ม ทุนเพิ่ม
ความมั่งคั่งเจ้าของเดิมยังไม่เพิ่ม
เพราะโดน dilute จากกลุ่มทุนใหม่ที่ไปเอาเงินเขามา

ความมั่งคั่งจะเพิ่มก็ต่อเมื่อ รายได้ > รายจ่าย
คิดเป็น ROE คือ  (รายได้ - รายจ่าย) / ทุน

ที่น่าสนใจคือลงทุน start up แล้วคุ้มแค่ไหน
เงินถูกใช้แบบมีประสิทธ์ภาพ ไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีประโยชน์สร้างรายได้ได้หรือไม่ หรือไปจมกับรายจ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์
การควบคุมรายได้รายจ่ายเป็นอย่างไร
สุดท้ายจะกลับมาในรูปของ ROE ว่าอยู่ในระดับที่สูงพอหรือไม่

ROE วันนี้อาจไม่เยอะ แต่เรื่องเล่าความเติบโต อนาคตดี ROE สูงแน่ ก็ยังเป็นประเด็น เพราะบริการทางเทคโนโลยีคู่แข่งเกิดใหม่เยอะ และกระแสผู้ใช้บริการเปลี่ยนไวมาก

สุดท้ายก็อยู่ที่นักลงทุนละครับว่าจะเลือกบริษัทที่สามารถจับปลาให้เรากินได้ หรือบริษัทที่วาดรูปปลาให้เราดู

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

5 ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์ MOAT ของธุรกิจ

การวิเคราะห์ Moat (คูเมือง) หรือแนวป้องกันธรกิจ เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ เชิงคุณภาพ เพราะเกี่ยวข้องกับความได้เปรียบการแข่งขันระยะยาว และทำให้มูลค่ากิจการ เพิ่มสูงขึ้น บทความนี้จะเป็นบทความของ อ.สรรพงษ์ [1] เขียนประเด็นนี้ได้ละเอียดมาก เชิญอ่านโดยพลัน

"Charlie Munger ได้บอกว่าการบ่งบอกว่ากิจการใดเป็น a good business หรือ a bad business นั้น ให้พิจารณาว่า กิจการนั้นมี Moat (คูเมือง) หรือแนวป้องกันธรกิจหรือไม่ ซึ่งตัว Moat นี้ทาง Michael Porter เรียกว่า “sustainable competitive advantage” ความได้เปรียบการแข่งขันในระยะยาว

ในหลักการลงทุน Charlie Munger บอกว่าควรเลือกลงทุนในบริษัทที่ มี 4 ด้านคือ


  1. ธุรกิจที่มีปราการหรือคูเมืองที่ปกป้อง - A business with a moat,
  2. ธุรกิจที่นักลงทุนเข้าใจได้ง่าย - A business that can be understood by the investor,
  3. ฝ่ายบริหารที่มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรม - Management in place with integrity and talent, and
  4. ลงทุนในราคาที่เหมาะสม มีราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัย - A business that can be bought at an attractive price that gives an attractive margin of safety. 


หรือหากพิจารณาในด้านเป้ามายธุรกิจที่เคยกล่าวก่อนหน้าว่า เป้าหมายธุรกิจคือ Sustainable Shareholders’ Value Creation ซึ่งต้องมุ่งสู่สามเรื่องพร้อมๆ กันคือ 1. Make Profit 2. Generate Cash Flow 3. Stay Solvency ทั้งสามเรื่องนี้จึงลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะดังนี้


  1. มีความได้เปรียบการแข่งขันในระยะยาว (Long-term Competitive Advantage) – Generate Cash Flows
  2. มีความสามารถในการทำกำไรและรักษาความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวได้ (Sustainable Profitability) – Make Profit
  3. มีความแข็งแกร่งทางการเงิน (Strong Financial Survival Structure) ทั้งระยะสั้นระยะยาว – Stay Solvency


ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ ธุรกิจที่มีปราการหรือคูเมืองที่ปกป้อง - A business with a moat ย่อมหมายถึงการมีมีความได้เปรียบการแข่งขันในระยะยาว (Long-term Competitive Advantage) นั่นเอง และในข้อนี้ย่อมทำให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆ ได้ไม่ยาก ผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ย่อยเน้นที่จะทำ White Ocean Strategy (WOS) ซึ่งเคยกล่าวมาก่อนหน้าแล้ว (Red Ocean Strategy ROS, Blue Ocean Strategy BOS และ White Ocean Strategy WOS) และการที่มี Integrity และมี Moat ย่อมมีความสามารถในการทำกำไรและรักษาความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวได้ดี ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณามิติใด จะสอดคล้องกันเสมอ

ในการสร้าง Moat นั้น Charlie Munger บอกว่ามีอยู่ 5 ด้านหลักๆ คือ

1.การประหยัดต่อขนาดในแง่ผู้ผลิต - Supply-Side Economies of Scale


กิจการขนาดใหญ่ย่อมได้เปรียบกว่าเพราะสามารถสร้างจุดแข็งในด้านต้นทุน หรือเป็นผู้นำตลาด Low Cost Leadership ขนาดการลงทุนที่มาก แนะต้นทุนต่ำย่อมทำให้ผู้เข้าใหม่ต้องคิดหนักในการเข้ามาแข่งขัน เมื่อคู่แข่งน้อยลง ในด้าน 5 forces – Rival Competition – ก็กดดันน้อยลง

2.สินค้าธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้กว้าง หลากหลายหรือมี Demand-side Economies of Scale (Network Effects) 


Demand Side Economies of Scale exists in those industries where the value of a product or service increases in accordance with the number of users of that product or service. ยิ่งมีผู้ใช้มากคุณค่าสินค้าหรือบริการยิ่งมากขึ้น หรือบางครั้งเรียกว่า Network Effects - is the effect that one user of a good or service has on the value of that product to other people. When a network effect is present, the value of a product or service is dependent on the number of others using it. ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้บริโภคไปเรื่อยๆ ที่เห็นชัดเช่น facebook เหมือนกับว่าใครๆ ก็ต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ก็ตกเทรนด์ เป็นต้น

3.Brand แบรนด์ 


สินค้าที่มี Brand Loyalty หรือความภักดีต่อสินค้าสูง ย่อมทำให้ผู้เข้าใหม่แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดยากซึ่งการสร้าง Brand Loyalty นี้สำคัญมากทีเดียวสำหรับธุรกิจผู้แข่งขันมากราย (Monopolistic Market) หรือต้องใช้กลยุทธ์แบบ Red Ocean Strategy ROS

4.Regulation กฎระเบียบ ข้อบังคับ 


บางอุตสาหกรรมผู้ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งมักกำหนดโดยรัฐ ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขปกป้องคนที่เข้ามาอยู่ก่อนในอุตสาหกรรม

5.Patents and Intellectual Property สิทธิบัตร สินทรัพย์ทางปัญญา นวัตกรรม (Innovation) 


สิทธิบัตร สินทรัพย์ทางปัญญา นวัตกรรม (Innovation)  ก็เป็นสิ่งปกป้องธุรกิจได้ดีอีกทางหนึ่ง ธุรกิจที่มุ่งสู่การหา ทะเลน้ำเงิน Blue Ocean Strategy BOS นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรใดใช้ BOS แต่ขาดการสร้าง Patents and Intellectual ก็จะไม่มีปราการปกป้องธุรกิจในระยะยาว

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในทะเลใด ทุกอุตสาหกรรมสามารถสร้างปราการหรือคูเมือง (Moat) ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ใช้วิธีและการสร้างคูเมืองที่เหมาะกับรูปแบบธุรกิจด้วยหรือไม่

ในการสร้างแบรนด์นั้นมี เหตุผล 3 ข้อ ที่ลูกค้าจะเลือกแบรนด์ของคุณ Brand Warfare โดย David F. D Alessandro ได้สรุปประโยชน์ของแบรนด์ต่อลูกค้าไว้ได้น่าสนใจ 3 ประการ คือ


  1. ช่วยประหยัดเวลา 
  2. สร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะสม 
  3. สร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน 


การสร้าง Brand เป็นเรื่องที่กว้างใหญ่มาก เขียนกันได้เป็นๆ ทีเดียว ซึ่งในประเด็นนี้คือการพิจารณาใน Business Model เรื่อง Value Proposition เวลาผมเห็นวิเคราะห์กันหรือที่สอนๆ ในหมู่คนลงทุน ชอบที่จะพูดกันในเรื่อง Business Model พอเห็นวิเคราะห์ข้อแรกกันก็รู้ว่าผิดทางแล้ว เพราะมักจะสรุปแค่ขายอะไร บริษัทนี้ทำอะไร ผลิตอะไร ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงการวิเคราะห์ด้วย Business Model เช่น ธุรกิจที่ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม ข้อแรกไม่ใช่สรุปว่า ขายผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสำอางอะไร แต่ต้องบอกให้ได้ว่าธุรกิจนั้นนำเสนอคุณค่าใดที่แตกต่างหรือไม่ (อะไรคือ Value Proposition) ถ้าเรามองว่าไม่มี ไม่ชัด หรือคู่แข่งชัดกว่า ก็แสดงว่าไม่ใช่ธุรกิจเด่นแล้ว"

จากบทความจะเห็นว่า บริษัทที่มี MOAT หรือคูเมืองที่เข้มแข็ง ชีวิตการลงทุนก็จะดี้ดี ถือยาวได้สบายใจ โชคดีในการลงทุนครับ

ที่มา
[1] https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10206382243333358

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เจาะลึกสินค้าคงเหลือของ MC (บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน))


สำหรับธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปโดยเฉพาะธุรกิจแฟชั่นที่มีการตกรุ่นเร็ว ถ้าบริหารสินค้าคงเหลือไม่ดีจะกระทบกับสภาพคล่องของกิจการ ขายของไปเงินไปจมกับสินค้าหมด มาดูตัวอย่่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจของ MC กันครับ

2.ดูงบการเงิน


งบการเงินของ MC
กดที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่

ที่มา:  สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=mc&ssoPageId=3&language=th&country=TH


ดูจากงบแสดงฐานะการเงินจะเห็นว่า MC มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าคงเหลือ 2300 ล้าน จากสินทรัพย์รวม 4700 ล้าน รองลงมาเป็นลูกหนี้การค้า ส่วนที่ดินอาคารอุปกรณ์มีไม่มาก

แปลว่าการวิเคราะห์ต้องดูสินค้าคงเหลือดีๆว่าขายออกหรือเปล่า ที่น่าสนใจคือสินค้าคงเหลือเพิ่มจาก 1000 กว่าล้าน มาเป็น 2000 กว่าล้านมากขึ้นเยอะ การดูว่าปกติหรือเปล่าต้องดูระยะเวลาขายสินค้าประกอบถ้าจำนวนวันเพิ่มขึ้นก็ต้องเฝ้าระวัง

หนี้สินมี 900 ล้าน เป็นเจ้าหนี้การค้าซะ 600 ล้าน แสดงว่าเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีหนี้เท่าไร เยี่ยมจริง

ในงบกำไรขาดทุน รายได้โตเรื่อยๆ แต่งวด 9 เดือนปีนี้ไม่ค่อยโตเท่าไร

ส่วนงบกระแสเงินสด เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบ แปลว่าทำมาหากินมีกำไรไร แต่กำไรไม่มาเป็นเงินสดต้องตามไปเจาะว่าลบจากอะไร แต่เดาว่าน่าจะมาจากสินค้าคงเหลือที่เพ่ิมขึ้น

2.แคะอัตราส่วนทางการเงิน


อัตราส่วนการเงินของ MC
กดที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่

1.ความอยู่รอด


อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่สูง อยู่ที่ 0.8 และส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า ก็ถือว่าหนี้น้อย ไม่ต้องไปกังวลอะไรมนมาก

2.การสร้างเงินสด


ในแงการสร้างเงินสด จุดที่น่าสนใจคือ จากงบดุลเราเห็นสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น ทำให้ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จาก334 วัน มาเป็น 429 วัน เกิน 1 ปีซะอีก ทำให้วงจรเงินสดยาวขึ้น  แต่สินทรัพย์ยังสร้างรายได้ได้ปกติอยู่เลยทำให้อัตราหมุนเวียนทรัพย์สินไม่ตก

3.การทำกำไร


สำหรับการทำกำไร อัตรากำไรขั้นต้นยังดีอยู่ แต่ EBITmargin ทิศทางลดลงเรื่อยๆ แสดงว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและบริการเพิ่มขึ้น ดูไม่น่าปลื้มใจเท่าไรนัก ทำให้โดยรวมๆแล้วอัตรากำไรสุทธิของ MC ลดลงไปด้วย

3.แคะสินค้าคงเหลือ


พอสัยเรื่องสินค้าคงเหลือ ก็มาเปิดหมายเหตดูว่าเป็นอะไร แต่งบไตรมาศแสดงแค่ตั้งสำรองการลดลงมูลค่าสินค้าไม่ได้แยกมาให้ว่าเป็นอะไร เลยเข้าไปโหลดงบประจำปีมา

ดูจากงบปี จะเห็นว่าสินค้าคงเหลือส่วนใหญ่ของ MC จะเป็น สินค้าสำเร็จรูป แสดงว่าในงบ 9 เดือน ที่เห็นเยอะๆ น่่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปเหมือนกัน

คำถามคือ จะตุนไปเยอะๆ เพื่ออะไร ก็ลองไปค้นข่าวดูกลยุทธ์ผู้บริหาร ไปค้นๆ ใน google ได้ความจาก หนังสือพิมพ์ทันหุ้นว่า

5 กลยุทธ์หลักผลักดันการเติบโตของยอดขายในอนาคต

  • 1.ขยายสาขาเพิ่ม Time Decoที่ 10 สาขา  และสาขาของ MC อีก 50 สาขา โดยจะเปิดในรูปแบบ Free Standing Shop
  • 2.การปรับเพิ่มผลิตภัณฑ์ขายสินค้าใหม่ๆ  เช่น การเปิดตัวขายกระเป๋าเดินทาง
  • 3.การปรับสัดส่วนสินค้าขายในระยะสั้น โดยเน้นการขายเสื้อผ้าชิ้นบนมากขึ้น ซึ่ง MC ปรับเป้าสัดส่วนสินค้าเสื้อผ้าชิ้นบนต่อกางเกงยีนส์อยู่ที่ 1:1 ในแผน 2-3 ปีข้างหน้า
  • 4.การขยายสาขาไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • 5.การขยายจุดจำหน่ายไปยังสถานีปั๊มน้ำมัน ปตท. 

ที่มา ทันหุ้น http://www.thunhoon.com/colum/24383/24383.html

โดยรวมๆคือ เปิดสาขาเพิ่ม เพิ่มสินค้าใหม่ ก็ต้องตุนของมากขึ้น ปัญหาคือ ตุนสินค้าสำเร้จรูปเพิ่มขึ้นเยอะ ขายไม่ทันทำให้ระยะเวลาขายสินค้าเพิ่มขึ้น ต้องคอยตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ไม่น่าพิศมัยเท่าไรนัก

สรุปคือ บริษัทที่มีสัดส่วนสินค้าคงเหลือเยอะๆ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม ก็ต้องเข้าไปเจาะลึกเรื่องสินค้าคงเหลือกันหน่อย เพราะถ้าขายไม่ออกขึ้นมา จะซวยเอา ถ้าไม่มาเลหลังถูกๆ ก็ต้องขาดทุนด้อยค่าสินค้าคงเหลือ


วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เทคนิคการปรับเป้าราคาแบบนักวิเคราะห์และการอ่านบทวิเคราะห์ให้ได้ประโยชน์

เป็นนักวิเคราะห์บางทีก็มีเรื่องปวดหัว เพราะหุ้นมันแพงแต่มีคนอยากซื้อก็ต้องหาวิธีทำให้ราคามันเหมาะสมพอซื้อได้ โดยมีเทคนิคการปรับสมมติฐานนิดหน่อยดังนี้

1.ข้อมูลที่สำคัญของบทวิเคราะห์คือ สมมติฐานการประมาณการ และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เขาไปคุยมา บางข้อมูลเราก็ยากเข้าถึง
2.บทวิเคราะห์ที่เราอ่านกันเป็นราคาสิ้นปี ไม่ใช้ราคาระยะยาว
3.การหาราคาเบื้องตัน p = pe x eps
4.ถ้าปีนี้กำไรน้อย ปีหน้ามีโครงการให้กำไรเยอะ ให้รีบซื้อไปไม่ดีเดี๋ยวดอยนานลูกค้าด่าเอา ให้ใช้ eps ปีนี้ที่กำไรน้อย คูณราคาจะได้เป้าราคาต่ำ แนะนำขาย
5.จะเริ่มเชียร์ซื้อ ให้ใช้กำไรปีหน้าที่เยอะ แต่ใช้ตัวคูณไม่มาก ได้เป้าไม่ไกล upside ประมาณ20% เพราถ้าให้ upside สูงมาก กลต จะโทรหา
6.เมื่อราคาใกล้ถึงเป้าให้ปรับประมาณการ โดยให้ pe สูงขึ้นเรื่อยๆ
7.ตัวคูณpe สูงสุดคือ peg ใช้ค่าประมาณ 20-30 เท่า
8.ถ้าหุ้นติดตลาด คำนวณราคาโดยใช้ กำไรอันไกลโพ้นไปหลายๆปี อาจใช้dcf ช่วยโดยให้wacc ต่ำ g สูง nwc capexต่ำๆ
9.เมื่อราคาหลุดโลก พื้นฐานอธิบายไม่ได้แล้ว หาคำอธิบายไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องอาศัยกราฟช่วยละ

ข้างบนเป็นมุกขำๆนะครับ แต่บนวิเคราะห์ก็ไม่ได้มั่วไปทั้งหมด เพราะเขามีโอกาสเข้าพบผู้บริหารได้ข้อมมูลมากกว่า ดังนั้นเวลาอ่านบทวิเคราะห์ ของนักวิเคราะห์ให้ได้ประโยชน์นั้น นักลงทุนควรมองให้เห็นออกว่า

1. ปัจจัยต่าง ๆ ที่เขาอ้างอิงนั้นมีเหตุมีผลเพียงไร
2. ภาวะเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง และ สังคม ที่เขาอ้างอิงถึง ในขณะนั้น เป็นอย่างไร
3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง การเงิน สังคม มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใดหลังการวิเคราะห์
4. นักลงทุนมักต้องการให้ นักวิเคราะห์ พูดในสิ่งที่ดี กับตัวเอง กับหุ้นที่ตังเองถืออยู่ เท่านั้น เมื่อ ไม่ได้ดังต้องการ มักจะกลับมาหา "แพะ" หรือ หาคนรับผิดชอบ
5. ต้องยอมรับว่า ปัจจัยต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีนักวิเคราะห์ คนไหน สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้
6. นักลงทุนต้องติดตาม การเปลี่ยนแปลง ของปัจจัย ต่าง ๆ เพื่อให้ปรับตัว ปรับพอร์ต ให้ทักการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
7. ปัจจัยต่าง ๆ ที่เขาอ้างอิงนั้นมีเหตุมีผลเพียงไรีหลักการ อย่างมีเหตุผล เท่านั้น แต่ไม่ได้รับรอง 100 % ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
8. แต่มีนักวเคราะห์บางพวก บางคน ที่วิเคราะห์ แล้วทำให้หุ้นขึ้นทันที หลังจากนั้น คนที่เข้าไปขึ้นตาม ก็จะถุกปล่อยเกาะ นี่ต่างหากที่ กลต ควรเข้าไปควบคุมให้ดี

ขอบคุณครับ
เจริญในหุ้นทุกท่านครับ


วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ส่องหุ้นเด็ดอสังหารับมาตรการกระตุ้นรัฐบาล

ช่วงนี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหา ตั้งการลดภาษีค่าโอน ฯลฯ เชื่อว่าทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น่าจะได้ประโยชน์ หุ้นกลุ่มนี้ก็มีหลายตัวตัวไหนมีโอกาสเราต้องตามขุดกันต่อไป

ไอเดียการค้นหาคือ เมื่อมีมาตรการกระตุ้นอสังหา บริษัทที่มีโครงการรอโอนเยอะๆ ทั้งกำลังจะโอนและขายไม่ออก น่าจะได้ประโยชน์มากสุด และด้วยประสา VI ชอบหาของถูก จึงเอาสินทรัพย์มาเทียบกับมูลค่าตลาด ถ้าบริษัทไหนมีมูลค่าสินทรัพย์มากกว่ามูลค่าตลาดเหมือนได้ซื้อของถูก เพราะถ้าขายสินทรัพย์นั้นได้เมื่อไร กำไรก็จะกระโดดมากมาย และถ้ามีโครงการที่ได้ประโยชน์จากนโยบายด้วยก็จะเป็นส่วนเสริมเข้าไปอีก

ข้อมูลนำมาจากเว็บ www.siamchart.com/stock ก็อบปี้มาลง excel มีมูลค่าตลาด แต่ไม่มีสินทรัพย์ เลยต้องคำนวณแบบอ้อมๆหน่อยโดยคำนวณจาก DE และ PBV ดังนี้
PBV = มูลค่าตลาด / ทุน
ทุน = PBV x มูลค่าตลาด
จาก
ทุน = สินทรัพย์ - หนี้
ดังนั้น
สินทรัพย์ - หนี้ = (PBV x มูลค่าตลาด)
สินทรัพย์ = (PBV x มูลค่าตลาด) + หนี้
สินทรัพย์ = (PBV x มูลค่าตลาด) + (DE x ทุน)
สินทรัพย์ = (PBV x มูลค่าตลาด) + (DE x (PBV x มูลค่าตลาด))
สินทรัพย์ = (PBV x มูลค่าตลาด) x (DE + 1)



เมื่อนำเรียงลำดับตามค่าสินทรัพย์ต่อสินทรัพย์ หุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นที่ สินทรัพย์.มูลค่าตลาด มากกว่า 100% แปลว่าเป็นหุ้นที่ มีสินทรัพย์มากกว่ามูลค่าตลาด หรือเงินที่เราจ่ายซื้อไป เช่นอันดับ 1 Polar มีสินทรัพย์มากกว่ามูลค่าตลาดถือ 600% ถ้าขายออกได้น่าจะกำไรมากมาย

ปัญหาของการกรองแบบนี้คือ ต้องไปศึกษาต่อว่า สินทรัพย์เป็นอะไร ถ้าเป็นพวกโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คอนโด บ้าน ก็จะอยู่ในรายการต้นทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยงบการเงินจะรายละเอียดในหมายเหตประกอบงบการเงินเป็นสามส่วนคือ ที่ดิน ค่าใช้จ่ายที่พัฒนา และดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาสร้างโครงการนั้น

จากนั้นไปศึกษาต่อว่าบริษัทนั้นมีโครงการอะไร และสร้างเสร็จพร้อมโอนได้เมื่อไร เพราะอสังหาริมรัพย์จะรับรู้รายได้เมื่อโอน ถ้าบริษัทไม่โอน สินทรัพย์ที่เห็นก็ไม่สามารถแปลงเป็นรายได้และกำไรได้

ที่สำคัญต้องไปดูด้วยว่าโครงการของบริษัทนั้นๆ มูลค่าบ้าน คอนโด ราคาเท่าไร ได้ผลประโยชน์จากนโยบายรัฐที่เน้นอสังหาที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

แต่ถ้าสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวกับ บ้านคอนโด เยอะเช่น PF ที่มีส่วนที่เป็นโรงแรมด้วยจากโรงแรมของ GRAND ที่ซื้อมา และโรงแรมที่ญี่ปุ่นของ PF เอง จะอยู่ในรายที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ การรับรู้รายได้จะเป็นรูปค่าเช่าต่อคืนเป็นน้ำซึมบ่อทรายไม่ได้ทำให้กำไรกระโดดมากมาย

อีกจุดทีี่ต้องระวังคือ เรื่องหนี้สิน ปกติธุรกิจประเภทนี้มักรวยด้วยเงินคนอื่น กู้เงินมาพัฒนาโครงการ พอโอนก็รับรู้กำไร ถ้าบริษัทไหนโอนได้ช้าจะเริ่มมีปัญหาเรื่องหนี้สิน เพราะจะไม่มีเงินมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยจะวิ่งทุกวันบันทึกอยู่ในต้นทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง (ถ้าโครงการโอนได้ช้า ต้นทุนพัฒนาอสังริมทรัพย์จะสูงขึ้น ทำระเวลาคำนวณระยะเวลาขายสินค้าจะสูงขึ้นด้วย) ในตารางจะมีช่อง DE ratio ให้ด้วยครับ

โชคดีในการลงทุนทุกท่าน

ป.ล. เอากลุ่มนิคมมาด้วย เพราะเดี๋ยวซักวันมันก็ต้องโอน