วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จับ Trend อสังหาเมืองไทย

เวลาเปลี่ยน Trend ธุรกิจอสังหาก็เปลี่ยนครับ จากบทความก่อสร้างและที่ดินของมติชนสุดสัปดาห์ [1] เขาว่า

  • คนรุ่นใหม่อยู่คอนโดริมรถไฟฟ้า ไม่กลับไปอยู่บ้านเดี่ยวหลังใหญ่กับพ่อแม่
  • พ่อแม่ ที่อยู่บ้านเดี่ยวใหญ่ๆ ดูแลไม่ใหวก็ขาย มาหาบ้านเล็กลง
  • นักธุรกิจที่อยู่ต่างจังหวัด แต่มีธุระมาเมืองกรุงบ่อยๆ
    • ซื้อบ้านเดี่ยวจากพวกข้างบนที่ดูแลบ้านไม่ไหวนั่นแหละ เพราะชินบ้านหลังใหญ่ที่ต่างจังหวัด
    • ซื้อคอนโดให้ลูกๆที่มาเรียนกรุงเทพ
  • นักธุรกิจเมืองกรุงเตรียมเกษียณ อยากไปอยู่ต่างจังหวัด
    • อยากทำธุรกิจเล็กๆ ก็ซื้อรีสอร์ททางภาคเหนือ
    • อยากซื้อที่ดินเปล่าไว้ลงทุนนิยมซื้อที่ดินภาคอีสาน
    • ชอบภูเขาไปซื้อที่ที่เขาใหญ่
    • ชอบทะเลไปซื้อคอนโดที่หัวหิน พัทยา
ใครอ่านเกิดไอเดียอะไรก็เชิญต่อยอดกันเอาเองนะครับ



[1] นายตอ, วงจรไหม่, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับที่ 1684 หน้า 22

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Microcredit คืออะไร

Microcredit ซึ่งมันก็คือการปล่อยกู้นอกระบบอย่างถูกกฎหมายนั้นเอง แต่ธนาคารในไทยยังไม่มีระบบนี้ออกมา ชาวบ้านตาดำๆก็เลยต้องกู้ไปด้วยความหวาดกลัวไปเรื่อยๆ

เคยได้ยินเรื่อง โมฮหมัด ยูนุสกับ Gramine Bank ไหมครับ ที่เค้าได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ เพราะเค้าตั้งธนาคารคนจนขึ้นมา เค้าเป็นผู้ก่อตั้ง ไมโครเครดิตครับ
เพราะจริงๆแล้ว คนเราจะตั้งธุรกิจเองนั้น เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเก็บตังส์ครบสามสิบ แล้วขยายธุรกิจ นักธุรกิจ 99 % นั้นไปกู้มาทำธุรกิจครับ
แต่คนจนนั้นไม่มีความสามารถในการเข้าหาสินเชื่อ ทั้งการกู้มาทำธุรกิจหรือการกู้มาหมุนรายจ่ายในชีวิตประจำวันนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ก็เลยต้องไปกูนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยนั้น 40-120%
เค้าเลยตั้งธนาคารคนจนขึ้นมา เพื่อให้คนจนนั้นกู้โดยเฉพาะ หากคนจนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เค้าก็จะสามารถลดความยากจนของเค้าได้มากยิ่งขึ้น (การไม่มีเงินคือความยากจน และการมีหนี้ไม่ได้แปลว่ายากจนครับ)
ทั้งๆนี้ ดอกเบี้ยของธนาคารคนจนก็จะอยู่ที่ 30-50% ซึ่งฟังดูโหดครับ แต่จำเป็น เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดแรงจูงใจให้คนจนต้องหาเงินมาคืนธนาคารครับ เพราะจริงๆ แรกๆพวกไมโครเครดิตกำหนด ดอกเบี้ยไว้ต่ำ ผลคือ อัตราการคืนเงินก็ต่ำไปด้วย พอมากำหนดที่ 30% อัตราการคืนเงินเกิน 90% ครับ ดังนั้นมันจึงเรื่องสำคัญของคนทำนโยบายคนจนเลยว่า อย่าให้อะไรคนจนฟรีๆ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ตัว แต่เราต้องกำหนดแรงจูงใจของเค้า
คนที่จะได้กู้กับธนาคารคนจนต้องรวมกลุ่ม 5 คนขึ้นไป ถึงจะกู้ได้ครับ หากใครคนหนึ่งเบี้ยว อีกสี่คนรับกรรมครับ ดังนั้นต้องมีระบบตรวจสอบของคนที่กู้ด้วย และจะให้ผู้หญิงกู้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูงกว่า
และไม่ได้คืนเงินกับหนึ่งเดือนที่ สองเดือนทีน่ะครับ ต้องคืนเงินอาทิตย์ล่ะครั้ง ไม่งั้น คนจนจะเก็บตังส์ไม่ได้ และไม่ได้คืนครับ แต่ธนาคารคนจนนี้เองก็ไปทำให้สภาพคล่องของคนจนดีขึ้น ทำให้ธุรกิจของพวกเค้าอยู่ได้ หรือแม้แต่คนจนจะกู้ไปซื้อกับข้าว ก็ยังกู้ได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Look-Through Earning คืออะไร


Look-Through Earning เป็นแนวคิดในการมองผลประกอบการของกิจการแบบมองทะลุ ที่ Warren Buffet นิยมใช้ในการวิเคราะห์บริษัทที่มีการถือหุ้นหรือลงทุนบริษัทอื่น ๆ ไว้ด้วย วิธีการมองผลประกอบการแบบนี้จะช่วยให้ผู้สนใจมองทะลุบริษัทแม่และบริษัทลูกไปถึงผลประกอบการที่นักลงทุนได้รับจากเงินลงทุนทั้งหมดของเขาจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก Reported Earning ตามมาตรฐานบัญชีที่บริษัทต้องรายงานในงบการเงินทุกงวดบัญชี ก่อนไปถึง Look-Through Earning เราจึงควรเข้าใจ Reported Earning
ก่อนว่าเขาคิดกันอย่างไร ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายภาพรวมอย่างคร่าว เพื่อให้เข้าใจแนวคิด แต่หากผู้อ่านท่านใดสนใจลงลึก คงต้องขอความกรุณาศึกษาต่อในเรื่องของบัญชีต่อเอง เพราะจริงๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจอีกมาก แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวในคราวเดียวกันนี้เพราะจะยาวเกินไป

  • โดยทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชีนั้น เมื่อบริษัทเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ในระดับมากกว่า 50% หรือไม่ถึงแต่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญเช่นในเชิงบริหารหรือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ระดับสะเทือนกิจการได้ นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถือหุ้นว่า บริษัทแม่ (Parent) และ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นว่า บริษัทย่อย (Subsidiary) โดยทั่วไปบริษัทแม่มักเข้าถือหุ้นบริษัทย่อยในระดับที่สูงก็เพราะบริษัทย่อยมีความเกี่ยวข้องทางยุทธศาสตร์กับกิจการแม่ หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันสูง การรายงานผลประกอบการ จึงกำหนดให้มีการทำงบการเงินของกิจการ และ งบการเงินรวม (Consolidate) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นผลประกอบการจริงๆ ของตัวบริษัทแม่ และ ผลประกอบการที่ได้รวมบริษัทย่อยเข้ามา โดยที่แม่ควบคุมย่อยอย่างมีนัยยะ จึงให้รวมยอดขาย ต้นทุน ตลอดจนกำไรของทั้งแม่และลูกเข้าด้วยกัน แล้วค่อยมาหัก กำไรที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่น (Minority Interest)ในบริษัทย่อยออกที่บรรทัดเกือบสุดท้าย ทำเป็นอย่างนี้ นักลงทุนก็จะพอมองเห็นขนาดธุรกิจของตนได้เห็นภาพชัดขึ้นเมื่ออ่านงบการเงินของบริษัท
  • และในกรณีที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับ 20-50% นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถูกถือหุ้นในระดับนี้ว่าบริษัทร่วม (Associate) คือมีความเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าบริษัทแม่จะไม่มีอำนาจควบคุมอย่างแข็งแรงในกรณีแรก แต่ก็พอมีบ้างตามสัดส่วนการถือหุ้น และในการวางกลยุทธ์นั้น กิจการทั้งสองอาจทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ ลูกไม่ได้ส่งผลอะไรต่อบริษัทแม่ นอกจากเป็นการนำเงินที่เหลือของบริษัทแม่ไปลองต่อยอดลงทุนในธุรกิจอื่นๆ บ้างเท่านั้น ทางการบัญชีจึงไม่ได้กำหนดให้ต้อง Consolidate ทั้งงบ แต่ให้ใช้วิธี Equity Method คือบันทึกเป็นสินทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น และกำไรจากบริษัทร่วมนี้ไม่ต้องลงรายการละเอียดแต่เอาเข้ามาใส่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทแม่เป็นบรรทัดเดียวตามสัดส่วนการถือหุ้นอีกเช่นกัน ในบรรทัดกำไรจากกิจการร่วมค้า
  • กรณีสุดท้ายที่บริษัทแม่เข้าถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งถือว่าไม่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยยะ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นจะถูกเรียกว่าเงินลงทุนในบริษัทอื่น (Investment Position)ซึ่งไม่ส่งผลสำคัญเชิงกลยุทธ์กับบริษัทแม่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่อาจเป็นพอร์ตลงทุนของบริษัทแม่ที่ซื้อขายหุ้นทำกำไรบ้างในบางโอกาส ทางบัญชีบันทึกเงินลงทุนดังกล่าวในราคาทุนในกรณีเป็นการลงทุนระยะยาว หรือราคาตลาดหากเป็นเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อขายในกรณีที่บริษัทแม่คิดจะขายหุ้นในบริษัทที่ลงทุนนั้น ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นจะรายงานรายได้จากเงินลงทุนก็ต่อเมื่อบริษัทดังกล่าวมีการปันผลมาให้บริษัทแม่ หรือมีการขายบริษัทนั้นออกไปเพื่อทำกำไรในกรณีเป็นสินทรัพย์เพื่อขาย
 วิธีการรายงานผลประกอบการตามมาตรฐานบัญชีสำหรับการถือหุ้นใน 3 ระดับนี้ฟังดูมีเหตุผล สำหรับการเปรียบเทียบบริษัทแต่ละบริษัทด้วยกัน เพราะจับมาวางอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน แต่หากเราเป็นเจ้าของกิจการ บางครั้งเราอาจไม่อยากเปรียบเทียบบริษัทของเรากับบริษัทอื่น เพราะการพยายามทำอะไรให้เป็นมาตรฐานมันก็ทำให้ต้องตัดกิ่งก้านบางอย่างที่ไม่เข้าพวกออก และสุดท้ายอาจทำให้แต่ละบริษัทสูญเสียตัวตนของมันไป ได้ภาพที่ไม่ชัดเกี่ยวกับกิจการของตน Look-Through Earning เข้ามาช่วยตรงนี้ได้
Look-Through Earning มองผลประกอบการของบริษัทในอีกมุมมองหนึ่ง มันยอมรับข้อจำกัดในการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทของตนกับบริษัทอื่น ๆ จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักบัญชี หรือ ผู้อ่านโดยทั่วไป สามารถกวาดสายตาผ่านแล้วเข้าใจโดยง่ายและเทียบกับบริษัทอื่นๆ ได้บนมาตรฐานเดียวกันได้อย่างยุติธรรมดั่งเช่น งบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี Look-Through Earning ต้องการความเข้าใจในธุรกิจแบบเจาะลึก มองทะลุ เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วส่วนที่นักลงทุนเป็นเจ้าของนั้นสร้างผลตอบแทนได้เท่าไรจริงๆ โดยผู้ที่จะพิจารณา Earning แบบนี้จะต้องเข้าใจว่า บริษัทนั้นสร้างกำไรและมีทางเลือกในการใช้มันทำงาน 2 อย่าง คือ

  • ปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น (Dividends)
  • เก็บอีกส่วนไว้ลงทุนต่อ (Retained Earnings)

โดยเงินปันผลนั้นเป็นเงินที่หมุนออกจากระบบธุรกิจไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าของผู้หุ้น ซึ่งในระยะสั้นมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนต่อนั้น กลับเป็นอีกส่วนที่สร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกมาก เพราะยังวนอยู่ในระบบธุรกิจและเดินหน้าสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไป
Look-Through Earning จึงคิด Earning แบบรวมทั้ง 2 กลุ่มให้เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือ เงินลงทุน โดยให้คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เราถือครองจริงๆ จะคล้ายกับวิธี Consolidate กับ Equity Method แต่ใช้ Equity Method กับบริษัทในกลุ่มถือหุ้นน้อยกว่า 20% ด้วย จากนั้นมาคิดอีกทีว่าเราในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนจะได้ Earning เท่าไรกันแน่ และแบ่งเป็น Dividend เข้ากระเป๋าเราเท่าไร และเก็บไว้ในระบบเป็น Retained Earning เท่าไร และตัวหลังนี่แหล่ะที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเราหา Look-Through Earning เราได้เปิดโอกาสตัวเองให้ค้นพบมูลค่าอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในRetained Earning ที่ยังไม่ได้รายงานตามมาตรฐานการบัญชี แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นมูลค่าสำหรับผู้ถือหุ้น ที่จะรอเวลาสร้างผลตอบแทนทบต้นให้เราต่อไปอีกมาก

ที่มา
  1. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/517718114922775
  2. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518106654883921
  3. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518605594834027

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องวุ่นๆของเงินทุนหมุนเวียน(working capital)

เงินทุนหมุนเวียนถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ มนุษย์เงินเดือนหลายคนลาออกจากงานมาทำธุรกิจมักตกม้าตายตรงขาดเงินทุนหมุนเวียนนี่แหละ เพราะเตรียมเงินมาลงทุนแค่สินทรัพย์ถาวรแต่ไม่ได้เตรียมเงินลงทุนในเงินทุนหมุนเวียน และเจ้งไปในที่สุด

เงินทุนหมุนเวียนคืออะไร

คนทั่วไปอาจคิดว่าทำธุรกิจก็แค่
  • รายได้ - รายจ่าย = กำไร
แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ จะมี "เงินทุนหมุนเวียน" อยู่ก้อนนึงที่มันหมุนไปหมุนมา ตามภาพ

เงินทุนหมุนเวียน
 
  • เจ้าหนี้การค้า เอาของมาลงที่ร้านก่อนเดี๋ยวค่อยมาเก็บเงิน
  • ของที่กองๆอยู่ในร้านก็คือสินค้าคงเหลือ แบ่งย่อยเป็น
    • วัตถุดิบ
    • งานระหว่างทำ
    • สินค้าสำเร็จรูป
  • ลูกหนี้การค้า คือยอดขายที่ยังเก็บเงินไม่ได้
เงินที่งอกจากวงจรนี้ก็จะนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆของต่อไป

บริหารเงินทุนหมุนเวียนไม่ดีเกิดอะไรขึ้น
ปัญหาที่พบบ่อยๆก็เช่น
  • เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ไม่รู้ว่าธุรกิจตัวเองต้องใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนเท่าไร
  • สินค้าคงเหลือ ล้าสมัย เสื่อมสภาพ ขายไม่ออก ต้องตัดจำหน่ายไปด้วยน้ำตา
  • ลูกหนี้การค้าจ่ายช้าหรือเก็บเงินไม่ได้ 
พอเงินทุนหมุนเวียนมีปัญหาเงินไม่งอก แค่ค่าใช้จ่ายต่างๆรอท่านอยู่ ถ้าไม่จ่ายธุรกิจก็เดินต่อไม่ได้
  • ไม่จ่ายเจ้าหนี้การค้า ก็ไม่มีของ lot ใหม่มาลงหน้าร้าน
  • ไม่จ่ายค่าเช่าที่ เจ้าของที่ก็ไล่ที่
  • ไม่จ่ายเงินเดือนพนักงงาน ลูกน้องก็ลาออก
นักธุรกิจมือใหม่หลายท่านอยากสู้ต่อก็อาศัยเงินกู้ยืมมาหมุนเรื่อยๆ สุดท้ายหนี้ก็พอกพูนจนไม่มีปัญญาจ่ายและลมละลายในที่สุด

แล้วธุรกิจของเราต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร

ตำราวิชาการทาง finance ช่วยท่านประมาณการเงินทุนหมุนเวียนได้ครับเพียงท่านรู้นสมมติฐานในการทำธุรกิจของท่านดังนี้
  • ระยะเวลาเก็บหนี้ ปกติระยะเวลาเก็บหนี้จะเท่าๆกับของคู่แข่ง
    •  สมมติให้เท่ากับ 60 วัน
  • ระยะเวลาขายสินค้า ให้ท่านเดาว่าควรมีของตุนไว้ในร้านประมาณกี่วันเพื่อให้มีสินค้าพอขาย
    • สมมติให้เท่ากับ 120 วัน
  • ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า
    • สมมติว่าเราได้เครดิตการค้ามา 90 วัน
  • ประมาณการยอดขายต่อปี ว่าขายได้กี่บาท
    • สมมติว่าขายของได้ 100 บาท
  • อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าที่คุณขายเป็นเท่าไร
    • อัตรากำไรขั้นต้น = (ยอดขาย-ต้นทุนขาย)/ยอดขาย
    • สมมติว่าทำธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้น = 0.2 หรือ 20%
นำความรู้เรื่องอัตราส่วนทางการเงินมาช่วยคำนวณ ลูกหนี้การค้า, สินค้าคงเหลือ, และเจ้าหนี้การค้าดังนี้
  • ลูกหนี้การค้า = (ระยะเวลาเก็บหนี้ / 360) x ยอดขาย
                     = (60/360) x 100  = 16.67 บาท
  • สินค้าคงเหลือ = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x ต้นทุนขาย
                        = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x (ยอดขายx(1-อัตรากำไรขั้นต้น))
                       = (120/360) x (100 x (1-0.2)) = 26.67 บาท
  • เจ้าหนี้การค้า = (ระยะเวลาชำระหนี้/360) x ต้นทุนขาย
                          = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x (ยอดขายx(1-อัตรากำไรขั้นต้น))
                       = (90/360) x (100 x (1-0.2)) = 20 บาท
ถ้าขี้เกียจคำนวณก็จิ้มเล่นได้ตามตารางครับ เปลียนสมมติฐานได้ตามสะดวกในช่องสีเหลืองๆ



จะได้ตัวเลขอัตราส่วนที่สำคัญสองตัวคือ
1) เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ
  • เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ - เจ้าหนี้การค้า
                                =16.67 + 26.67 - 20 =23.33 บาท
เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ จะเป็นตัวบอกว่าถ้าประมาณการยอดขายเท่านี้เท่านั้น ตั้งใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร ถ้ามีไม่พอก็เตรียมตัวหมุนเงินหัวปั่นได้เลย

2) อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย
  • อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย = เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ/ยอดขาย
                                                           = 23.33 / 100 = 0.23 บาท
เป็นตัวบอกว่า ถ้าจะเพิ่มยอดขาย 1 บาทต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร ในอนาคตถ้าเราวางแผนจะเพิ่มยอดยายก็สามารถคำนวณ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิได้ง่ายๆ โดย

  • เงินทุนหมุนเวียนสุทธิที่ต้องหาเพิ่ม = ยอดขายที่เพิ่ม x อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย

แนวทางการจัดการเงินทุนหมุนเวียน
จะเห็นว่าถ้าธุรกิจไหนต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเยอะ เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจอะไรไม่ต้องพูดถึง วันๆไม่ต้องทำอะไรหมุนเงินกันอย่างเดียว ตามตำราท่านว่าวิธีการจัดการดังนี้
  • ใช้ตัวเลขจากการคำนวณเป็นเป้าในการดำเนินการได้ เช่นปล่อยเครดิตการค้า 60  วัน ถ้าเก็บหนี้ได้ตามปกติ ระยะเวลาเก็บเงิน ( 360 x (ลูกหนี้การค้า / ยอดขาย) ) ก็ควรคำนวณออกมาใกล้ๆ 60 วัน 
  • ลูกหนี้การค้า
    • ขายเงินสดให้มากขึ้น
    • เรียกเก็บหนี้เร็วขึ้น(ยาก)
    • พยายามอย่าให้มีหนี้เสีย
    • เอาลูกหนี้การค้าไปขายคิดลดกับแบงค์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบ เอาเงินไปหมุนก่อน
  • สินค้าคงเหลือ
    • อย่าตุนของไว้เยอะ
    • ดูแลสินค้าคงเหลือไม่ให้หายหรือเสื่อมสภาพ
    • ระบายสินค้าที่ขายไม่ออก
  • เจ้าหนี้การค้า
    • ดึงดิวไว้หน่อย เลื่อนได้เป็นเลือน
  • อัตรากำไร
    • ถ้าไปขายของที่อัตรากำไรขั้นต้นสูงๆได้จะดีมาก
  • หนี้ระยะสั้น 
    • พยายามหาแหล่งเงินกู้ไว้เตรียมไว้เยอะๆ เผื่อหมุนไม่ทันได้หยิบยืมได้


เจริญในการลงทุนทุกท่านครับ

เสริมเรื่องการจัดการสินค้าคงเหลือ โดย อาจารย์มานพ สีเหลืองครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์ค่าเสื่อมราคากับการลงทุน

เวลาที่เราลงทุนในสินทัพย์ถาวรนักบัญชีเขาไม่ได้คิดเงินลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน แต่จะทยอยตัดเป็น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (depreciation and amortisation) จนหมดอายุการใช้งาน (สินทรัพย์ในงบดุลหายหมดพอดี) จะเห็นว่าค่าเสื่อมราคาเป็นเพียงค่าใช้จ่ายทางบัญชีเงินสดไม่ได้ออกไปจากบริษัท ปัญหาจึงเริ่มเกิดมาดูกันว่าในการลงทุนมีเรื่องอะไรวุ่นๆกับค่าเสื่อมกันบ้าง

1. ค่าเสื่อมเป็นต้นทุนคงที่ในงบกำไรขาดทุน

บริษัทไหนที่ต้องลงทุนสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ ก็จะทำให้ต้นทุนคงที่เยอะ ถ้ายอดขายตกไปต่ำกว่าจุดคุ้มทุนผลประกอบการก็จะตกลงมากกว่าบริษัทที่ต้นทุนคงที่น้อยกว่า
ASIA
โรงแรม asia [1] ช่วงเสื้อเหลืองเสื้อแดง กำไรหดไปเยอะมาก

ถ้าไปเจอบริษัทไหนที่เพิ่งลงทุนอะไรใหญ่ๆหนักแล้วยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนถ้าเราเข้าไปลงทุนช่วงที่ใกล้ๆคุ้มทุน เมื่อมันคุ้มทุนขึ้นมาจิรงกำไรจะโตแบบก้าวกระโดด
THCOM

THCOM [2] ลงทุนดาวเทียม internet แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่ถึงจุดคุ้มทุนก็ทำให้กำไรตกมาก แต่ในปีนี้กำลังจะถึงจุดคุ้มทุน ก็จะทำให้กำไรเติบโตมาก

2. ตัดค่าเสื่อมแล้วต้องลงทุนใหม่ (reinvestment) หรือไม่

สินค้าบางอย่างตัดค่าเสื่อมแล้วก็ต้องลงทุนใหม่เรื่อยๆอย่างนี้ไม่ค่อยดีครับเพราะเงินได้มาแทนที่จะเอาไปจ่ายปันผลก็ต้องเอามาลงสินทรัพย์ใหม่
GFPT
GFPT[3] เอาค่าเสื่อมปู่ย่าพันธ์ไก่มาบวกกลับทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)เป็นบวกเยอะ แต่ก็ต้องซื้อพ่อแม่พันธ์ไก่มาใหม่เรื่อยๆ ทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน (CFI) ติดลบเยอะ

MPIC
MPIC [4] ตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน(หนัง)มากมาย แต่ก็ต้องซื้อ(หนัง)เข้ามาใหม่เรื่อยๆ

3. ตัดค่าเสื่อมแล้วเอาเงินสดไปจ่ายหนี้หมด?

บางทีเงินสดที่ได้มาก็ไม่ตกถึงท้องเราเพราะหนี้เยอะก็เอาเงินไปจ่ายหนี้ซะหมด จะเห็นลักษณะแบบนี้บ่อยๆ ในบริษัทที่ต้องลงทุนสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ เช่นโรงแรม, สวนสนุก, พื้นที่ให้เช่า
ERW

ERW [5] งบออกมาขาดทุน แต่เอาค่าเสื่อมมาบวกกลับแล้ว CFO เยอะมาก ปีนึงเป็น 1,000 ล้านแต่ก็ไม่ตกถึงท้องผู้ถือหุ้น(ปันผล) เพราะต้องเอามาใช้หนี้(เงินต้น) เห็นจาก CFF จะติดลบเยอะมาก

สรุปว่าถ้าอยากรวยสบายๆไม่ต้องลุ้นอะไรมากก็ควรถือบริษัทสามารถที่เพิ่มยอดขายได้โดยไม่ต้องลงทุนสินทรพัย์ถาวรเยอะๆจะดีมากเพราะจะทำให้ต้นทุนคงที่ในงบกำไรขาดทุนไม่เยอะ, หักค่าเสื่อมมาก็ไม่ต้องเอาไปโป๊ะหนี้ เงินปันผลก็ตกถึงท้องนักลงทุนครับ


ที่มา
[1] http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=ASIA&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[2]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=thcom&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[3]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=GFPT&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[4]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=mpic&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[5]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=erw&language=th&country=TH ค้นวันที่ 4/11/2555