วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มเดินเรือ

บริษัทที่ทำธุรกิจเดินเรือเป็น cycle stock ที่ผลประกอบการถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนากซะเยอะ ถ้าปัจจัยภายนอกดีเดียวกำไรก็โตราคาวิ่งกระฉูด ธุรกิจพวกนี้รายรับขึ้นกับดัชนีค่าระวางเรือ ต้นทุนที่ขึ้นกับราคาน้ำมัน คู่แข่งก็เข้ามากันง่ายๆเห็นค่าระวางเรื่อสูงๆ กำไรดีก็สั่งต่อกันเยอะแยะ แล้วก็มาตัดราคากัน

ธุรกิจสายเรือจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

เรือที่แล่นในตลาดหุ้นไทยสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทหลักๆคือ เรือเทกอง กับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ รายรับจะขึ้นๆ ลงๆ ตามดัชนีครับ
  • ถ้าจะเล่นหุ้นที่เป็นเรือเทกอง (tta, psl) ดัชนีที่เกี่ยวข้องก็คือ
    • BDI (Baltic Dry Index)
  • ถ้าจะเล่นหุ้นที่เป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (rcl) ดัชนีที่เกี่ยวข้องก็คือ
    • HRCI (Howe Robinson Containership Index)
    • CCFI (China Containerize Freight Index) **
    • SCFI (Shanghai Containerize Freight Index) **
สำหรับ RCL เขาว่าให้ดู CCFI, SCFI  เพราะส่งไปจีนเยอะ

เรื่อง demand supply ของเรือก็ต้องใส่ใจ

นอกจากต้องเกาะติดเรืองดัชนีค่าระวางเรือแล้วก็ต้องติดตามอัตราการสั่ง ต่อเรือด้วย ช่วงที่ค่าระวางสูงๆคนก็สั่งต่อเรือกันยกใหญ่จนตอนนี้เรือมีเป็นจำนวนมากจึง เกิดภาวะ over supply เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินงาน ต้องรอให้จำนวนเรือสั่งต่อน้อยลงเรื่อยๆ และผู้เล่นรายเล็กหายไปจากตลาดแหละครับ ผู้ที่ใหญ่กว่าจะอยู่ได้
สู้ต่อไปสายเรือทั้งหลาย
แต่น้องสละเรือไปก่อนละ รอเศรษฐกิจโลกดีๆ ค่าระวางพุ่ง สายเรือเล็กล้มละลายเยอะๆ เดี๋ยวเจอกัน เหอเหอ

เรื่อกับเหล็ก

เหล็กมันหนักก็ต้องขนทางเรือครับ เรือเทกองจะได้ประโยชน์ ช่วงไหนตลาดเห็นเหล็กขึ้นก็จะไปเกร็งเรือเทกองกันครับ เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์

เรียบเรียงจากเว็ป thaivi http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51683

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์วงจรเงินสด (Cash Cycle) ของกิจการ

Cash Conversion Cycle (CCC) หรือ บางครั้งเรียกง่าย ๆ ว่า Cash Cycle หรือ วงจรเงินสด นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาสภาพคล่องของกิจการ โดยตัวเลขที่ได้ เป็นตัวเลขสมมุติให้ผู้บริหารพอมีไอเดียเกี่ยวกับการใช้เงินสดของตนว่าบริษัทใช้เงินสดลงทุนซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้าหรือซื้อสินค้ามารอในสต๊อกจนกระทั่งมีการขายออกไปและสามารถเก็บเงินลูกค้าได้เงินสดกลับมา หมดสิ้นขั้นตอนนี้ใช้เวลากี่วัน บางบริษัทก็อาจมีวงจรเงินสดที่ยาวมาก บางบริษัทอาจสั้น หรือถึงขนาดติดลบก็มี

ผู้เขียนขอพูดถึงวิธีคำนวณอย่างง่าย เพื่ออธิบายแนวความคิดสำหรับผู้เริ่มต้น แต่หากต้องการลงลึก อยากให้ผู้อ่านไปศึกษาต่อถึงวิธีการคำนวณที่ละเอียดถูกต้องกว่านี้ วิธีอย่างง่ายคือ

Cash Cycle (วัน) = Inventory Conversion Period (ICP) + Receivable Conversion Period (RCP) - Payable Conversion Period (PCP)

ระยะเวลาขายสินค้า Inventory Conversion Period (ICP)

ICP นั้นคือการพิจารณาว่าบริษัทผลิตสินค้าแล้วขายออกไปได้ภายในกี่วัน คำนวณจาก Inventory / (Cost of Goods Sold/365) โดย Inventory คือสินค้าคงคลังเฉลี่ย เราหาได้จากงบดุล หารด้วยต้นทุนสินค้าขายต่อวัน ก็จะทำให้เราทราบว่า จำนวนสินค้าที่ผลิตหรือซื้อมาเตรียมขายนั้นสามารถถูกขายไปได้หมดภายในกี่วัน นอกจากเราจะเอาตัวเลขที่ได้นี้ไปใช้คำนวณ Cash Cycle แล้ว ในเบื้องต้นเรายังสามารถพิจารณาได้อีกว่า จำนวนวันขายที่ว่านี้มันเหมาะสมหรือไม่ เช่นหากสินค้าที่เราขายนั้นเป็นสินค้าที่มีโอกาสตกรุ่นทุก 6 เดือน แต่เราคำนวณวันขายออกมาได้ 300 วัน แสดงว่าบริษัทนี้มีปัญหาขายของในสต๊อกไม่ทันตกรุ่นแน่นอน หรือในทางตรงกันข้าม จำนวนวันขายที่คำนวณออกมาต่ำเกินไปก็อาจแปลว่า บริษัทบริหารแผนผลิตไม่ดีและมีสินค้าไม่พอขายเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่บริหารการผลิตแบบ Just in Time อาจมีจำนวนวันขายที่สั้นมากเพราะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา หรือธุรกิจค้าปลีกที่ซื้อมาขายไป ด้วยระบบคลังสินค้าแบบ Cross Docking ที่รับมาแล้วส่งต่อไปยังร้านสาขาและวางจำหน่ายบนชั้นสินค้าให้ไวที่สุด อย่างพวกร้านสะดวกซื้อ หรือร้านหนังสือ ก็อาจจะมีจำนวนวันขายที่สั้นมากได้ ซึ่งแบบนี้ถือว่าดี

ระยะเวลาเก็บหนี้ Receivable Conversion Period (RCP) 

สำหรับ RCP (Receivable Conversion Period) นั้นคำนวณจาก Receivable / (Sales/365) หรือ จำนวนลูกหนี้การค้าที่หาได้จากงบดุล หารด้วย ยอดขายจากงบกำไรขาดทุน ปรับให้เป็นยอดขายเครดิตต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารทราบว่า บริษัทสามารถเก็บหนี้เฉลี่ยได้ภายในกี่วัน โดยนอกจากประโยชน์ในการเอาไปรวมคำนวณ Cash Cycle แล้ว เบื้องต้นยังสามารถพิจารณาตัวเลขว่ามันเหมาะสมกับธรรมชาติธุรกิจหรือไม่ เช่นหากนโยบายบริษัทระบุไว้ว่าให้เครดิตลูกค้าไม่เกิน 45 วัน แต่ตัวเลขวันเก็บหนี้ที่คำนวณได้นั้นเกินไปมาก เช่น 70 วัน นั่นอาจแปลว่าบริษัทมีปัญหาในการเก็บหนี้ และการขายได้มากแต่ทำให้วันเก็บหนี้ยาวขึ้น จะทำให้เงินสดของบริษัทถูกดึงเข้าไปหมุนในระบบมากขึ้นและนานขึ้น ไม่ได้หมุนกลับเป็นเงินไหลเข้ามาเสียที และสุดท้ายอาจทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องได้

โดยเฉพาะอย่าลืมว่า เงินสดของบริษัทนี้มีต้นทุน WACC แต่เครดิตที่ให้ลูกค้าไปนั้นไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้

ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า Payable Conversion Period (PCP)

PCP (Purchase Receivable Period) คำนวณจาก Purchases/ (Cost of Goods Sold/365) เจ้าหนี้การค้า (จากงบดุล) หารด้วย ต้นทุนสินค้าขายต่อวัน (งบกำไรขาดทุน) ตัวเลขนี้จะบอกจำนวนวันที่เราชำระหนี้การค้า หากจำนวนวันสูงอาจแสดงว่าเราใช้เครดิตให้เป็นประโยชน์ได้ดี และจำนวนวันต่ำก็อาจแปลว่าเรามีอำนาจต่อรองน้อย หรือ อาจเป็นการซื้อเงินสดเพื่อให้ได้ส่วนลดจำนวนมากก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วจำนวนวันชำระหนี้นี้ยิ่งมากน่าจะดี เพราะ เจ้าหนี้การค้า เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เหมือนเรายืมเงินคนอื่นเข้ามาหมุน หากยืมมาได้นาน แต่ขายแล้วเก็บเงินสดได้ เรายังสามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

วงจรเงินสด Cash Cycle

เมื่อเราคำนวณทั้ง ICP+RCP-PCP ได้แล้ว เราก็ได้ตัวเลข Cash Cycle ออกมาว่าเป็นจำนวนกี่วัน ในธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งเราอาจเห็น Cash Cycle ติดลบได้ และเมื่อเรานำ Cash Cycle ของหลายปีมาเรียงต่อกัน เราอาจเห็นภาพประสิทธิภาพในการใช้เงินสดของบริษัทว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง ผู้เขียนพิจารณา Cash Cycle ของบริษัทที่ตนสนใจทุกครั้งก่อนการลงทุน แต่หากขี้เกียจคำนวณเอง เราก็สามารถหาอ่านได้จากรายงานประจำปี ที่เขามักจะมีสรุปไว้ให้ได้

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/525842104110376
[2]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/526216367406283

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์และประเมินมูลค่าของธุรกิจบัตรเครดิต

ขอแชร์เรื่องการทำมาหากิน การวิเคราะห์และ การประเมินมูลค่าหุ้น ของธุรกิจบัตรเครดิตมากขึ้น บทความดีๆจากคุณ airazoc [1] ณ thaivi ครับ

การทำงานของธุรกิจบัตรเครดิต

ปกติแล้วธุรกิจบัตรเครดิต ถ้ามองแบบ overview คร่าวๆ จะประมาณนี้

ธุรกิจบัตรเครดิต
บริษัทบัตรเครดิต อยู่ตรงกลาง ทำงานหลักสองอย่าง คือ
  1. ออกบัตรเยอะๆ เพื่อให้บัตรไปอยู่ในมือผู้ถือบัตรเยอะๆ 
  2. Acquire ร้านค้าเยอะๆ (เอาเครื่องรูดบัตรไปวาง) จะได้มีร้านรับบัตรของเราเยอะๆ
จากนั้นก็เป็น Business As Usual คือ
  1. ประชาชนเอาบัตรไปรูดปรี้ดๆ ที่ร้านค้า
  2. บริษัทเอาเงินตามไปจ่ายให้ร้านค้า
  3. เมื่อตัดรอบครบกำหนด เราก็ไปเก็บเงินคืนจากผู้ถือบัตร

ทีนี้รายได้ กับ รายจ่าย ของบริษัทมาจากไหนบ้าง

รายได้หลักๆ มีสองส่วน (ถ้าไปดูในงบ KTC จะใกล้กันมาก แทบจะครึ่งๆ)
  1. รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (MDR, Merchant Discount Rate) ให้นึกถึง เรารูดสินค้าไป 100 บาท ร้านค้าอาจจะได้รับ สมมติว่า 98 บาท อีก 2 บาท เรียกว่า MDR ซึ่งจะเอาไปแบ่งกัน ระหว่าง Acquirer (เจ้าของเครื่องรูด) กับ Issuer (ธนาคารผู้ออกบัตร)
  2. รายได้ดอกเบี้ย (จากผู้ถือบัตรที่ชำระไม่ครบในแต่ละรอบบิล ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างชำระ)
รายจ่ายแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ
  1. Cost to Income (รายจ่ายต่างๆ เงินเดือนพนักงาน, outsource, ค่าที่ปรึกษา, ค่าโน่นนี่สารพัด)
  2. ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงิน (นอกจากเงินทุนของบริษัทแล้ว ปกติบริษัทบัตรจะ ออกหุ้นกู้, ตั๋ว debenture, กู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นๆ มาเป็นเงินสำหรับปล่อยวงเงินบัตรให้ลูกค้า)
  3. หนี้สูญและสงสัยจะสูญ
งบกำไรขาดทุน ktc

สำหรับการประเมินมูลค่าธุรกิจบัตรเครดิต

เริ่มจากประเมินหารายได้ และ รายจ่ายก่อน

รายได้นั้น อย่างที่บอกไปว่ามีหลักๆ 2 ส่วนคือ MDR และ ดอกเบี้ยรับ

  1. การ คำนวน MDR เฉลี่ย นั้น จริงๆ ต้องใช้ตัวเลขพอร์ทลูกหนี้บัตรทั้งหมด ซึ่งเป็นยอดที่ลูกหนี้ต้องมาชำระทุกเดือน เอามาคูณ 12 ก็จะได้ยอดเงินหมุนเวียนในระบบ (เช่นพอร์ท สี่หมื่นสามพันล้าน ก็จะมีเงินหมุนผ่านปีละประมาณ ห้าแสนล้าน) แล้วหารายได้ MDR ต่อปีมาหาร เช่น สมมติว่า พอร์ทสี่หมื่นล้าน มีรายได้ MDR ต่อปี 5500 ล้าน MDR เฉลี่ย ออกมาประมาณ 1.1% (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะหายากหน่อย เอายอดรายได้ค่าธรรมเนียม กับ พอร์ทลูกหนี้นั่นแหละ หารกันออกมาก็ได้ตัวเลขคร่าวๆ ถ้าอยากทำละเอียดให้โทรไปถามยอดแยกเอา หรือบางบริษัทในงบจะมียอดแยกให้) จริงๆแล้ว บริษัทผู้ออกบัตรจะได้ราวๆ 1.6-1.8% สำหรับบัตรแพลตินั่มสำหรับยอดรูดในร้านค้าทั่วไป แต่เนื่องจากบางร้านค้า เช่นปั้มน้ำมัน จะได้ MDR บางเฉียบมาก 0.2-0.3% เป็นต้น เฉลี่ยๆ ออกมาก็ราวๆนี้แหละ 1.0-1.2%

    (ที่ต้องหา MDR เฉลี่ย เก็บเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคต ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ว่ายอดการใช้บัตรโตกี่ % หรือ มีหน่วยงานไหนประกาศตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตออกมา เราก็สามารถประเมินตัวเลขในอนาคตได้ทันที ไม่ต้องรองบออก โดยคำนวนจากพอร์ทที่ขยายขึ้นคูณ MDR เฉลี่ย)
  2. รายได้ดอกเบี้ย อันนี้แล้วแต่บริษัท ตัวเลขค่อนข้างแตกต่างกัน ขึ้นกับกลุ่มลูกค้า บางบริษัทในบางประเทศ รับเฉพาะลูกค้าพรีเมี่ยมสุดๆ รายได้ดอกเบี้ยจะไม่ค่อยมี แต่ volume ที่ได้ MDR จะมหาศาล บางบริษัทจับชนชั้นกลาง ก็จะมีรายได้ตรงนี้เป็นสัดส่วนต่อรายได้มากกว่า แต่ถ้าทำ normal ratio จะไม่ค่อยสวิงเท่าไหร่ คือถ้าต่ำ ก็ต่ำตลอด สูงก็สูงอยู่อย่างนั้น นอกจากจะเปลี่ยน target group ดังนั้น ถ้าจะประเมิณรายได้ดอกเบี้ย ก็คิด normal ratio ของปีก่อน เทียบกับขนาดพอร์ทลูกหนี้เอาก็จะพอใช้ได้ครับ

การประเมินรายจ่าย

รายจ่ายที่ต้องคำนวน มี 3 รายการ

  1. รายจ่ายต้นทุนทางการเงิน ถ้าขี้เกียจเปิดย้อนดูว่าออกตั๋วไปกี่ล้านที่กี่ % กู้แบงค์มาเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วเท่าไหร่ ก็โทรไปถามบริษัท ได้ครับ ว่าตอนนี้ดอกเบี้ยเฉลี่ยจ่ายอยู่เท่าไหร่ ก็เอามาคูณยอดหนี้ ที่บอกอยู่ในงบ ถ้าระหว่างไตรมาส มีออกตั๋วหรือออกหุ้นกู้อะไรขึ้นมาก็อย่าลืมบวกเพิ่มเข้าไป
  2. หนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ ผมจะเอาหนี้สูญและสงสัยจะสูญ มาลบด้วยหนี้สูญได้รับคืนปีถัดมา (เช่นเอาหนี้สูญปี 53 ลบหนี้ได้รับคืนที่ได้รับในปี 54) เพื่อประเมินคร่าวๆว่า สูญจริงๆ ราวกี่ % (อะไรที่ปีถัดมายังไม่ได้คืนก็ทำใจว่าชวดละ) ส่วนที่จะคำนวนล่วงหน้าก็ต้องลองคำนวนจากที่ ผบห ให้สัมภาษณ์ว่าประมาณกี่ % และจะทำให้เป็นกี่ % แล้วประเมินดูว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องลอง discount ลงไปดู เช่น ผบห บอกว่าจะทำได้ 4% แต่ของเก่าก่อนหน้านั้นสมมติว่า 7% ก็อาจจะลองใช้ สัก 5.5% ดูก่อน (ครึ่งทาง เผื่อทำได้ไม่เท่าที่ให้สัมภาษณ์) แล้วก็ลองประเมินว่าตรงนี้เท่าไหร่
  3. Cost to Income เดิม 47% ก็ต้องลองประเมินว่า ผบห จะลดลงเป็น 40% ได้อย่างที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ ตรงนี้ควร ลองโทรไปสอบถามบริษัทดู เพื่อประเมินดูว่า บริษัทจะลด Cost to Income ได้จากอะไร ซึ่งตามข่าวก็คือจะลดจากค่า out source ซึ่งจะดึงงานมาทำเองหลายอย่าง รวมถึงปรับกระบวนการทำงาน ถ้าฟังรายละเอียดแล้วเชื่อมั่นก็อาจจะใช้ตัวเลขที่ให้ในข่าวคำนวน ถ้าฟังแล้วไม่มั่นใจ ก็ต้อง discount ลงไป

กำไรของบริษัทก่อนภาษี ก็จะออกมาคร่าวๆคือ

(รายได้ค่าธรรมเนียม+รายได้ดอกเบี้ย) - (ค่าใช้จ่ายทางการเงิน+หนี้สูญและสงสัยจะสูญ+Cost to Income)
ได้เท่าไหร่ โดนภาษี 23%
ออกมาเป็น net income เอาไปหารจำนวนหุ้น ก็จะได้ EPS

จะแม่นยำแค่ไหน ขึ้นกับว่าทำตัวเลขละเอียดแค่ไหนครับ ถ้าใช้ตัวเลขคร่าวๆ EPS ที่เพื่อนๆประเมินได้ ก็จะคร่าวๆ
ถ้า แยกตัวเลขละเอียดได้ ก็จะได้ค่อนข้างใกล้เคียง ที่เหลือก็คือต้องประเมินว่าตัวเลขเป้าหมาย cost to income กับ NPL ที่อยู่ในข่าวที่ ผบห ให้สัมภาษณ์นั้น มั่นใจแค่ไหน จะ discount เท่าไหร่

ขอให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการลงทุนครับ

ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=49&t=53772&start=1680

ความเชื่อของ value investor

การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ เรื่องสัมมาทิธิ หรือความเชื่อที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงไม่ใช่ทึกทักเอาเอง เป็นสิ่งที่จำเป็นครับ มาอ่านบทความเกี่ยวกับความเชื่อของคุณ OutOfMyMind on Value Investment เขียนไว้บน page[1][2] ได้น่าสนใจ เชิญอ่านโดยพลันครับ

"ความสำเร็จในกิจการงานใดใดนั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะผู้ปฏิบัติมีความศรัทธาต่องานนั้นและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุภารกิจนั้นให้จงได้ การลงทุนเองก็ไม่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ผู้เขียนจึงเทใจศรัทธาและเชื่อมั่นกับหลักการลงทุนว่ามันทำได้จริง เพราะเห็นตัวอย่างจากนักลงทุนที่มุ่งมั่นทั่วโลกว่าเขาทำสำเร็จกันมาแล้วมากมาย จิตใจที่แข็งแกร่งแน่วแน่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกไปและตัดสินใจตามแนวทางของตนแม้ว่ามันจะฝืนกับความเชื่อของคนอื่นๆ และหากเราต้องการเป็นนักลงทุนสายพื้นฐานที่เน้นความเข้าใจในกิจการ เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแข็งแกร่งในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว ในแบบที่ผู้เขียนใช้นั้น ก็ขออนุญาตแชร์ให้ฟังว่า ผู้เขียนเชื่อว่า
  1. การลงทุนที่ดีนั้นต้องช้าเข้าไว้ เดินช้า ๆ มาขึ้นรถและรอจนกว่ารถออก นั้นปลอดภัยกว่าการกระโดดขึ้นรถในนาทีสุดท้าย 
  2. การลงทุนด้วยข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลเปิดเผยตามสื่อทั่วไป ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบนักลงทุนที่รู้ข้อมูลวงในเสมอไป เพราะอันที่จริงเราไม่ได้แข่งกับใครทั้งสิ้น นอกจากหาซื้อของดีในราคาถูกที่วางขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างเปิดเผย 
  3. การเข้าใจโมเดลธุรกิจอย่างถ่องแท้ นั้นสำคัญกว่าความสามารถในการคำนวณสูตรหรือสมการยาก ๆ เพื่อประเมินมูลค่าธุรกิจออกมา 
  4. ไม่มีราคาเหมาะสมปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหน ๆ มีแต่มูลค่าตลอดชีพของกิจการที่เราต้องคอยประเมินอยู่เสมอและมันเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนหรือมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น 
  5. ไม่จำเป็นต้องแบ่งหุ้นเป็น Defensive, Turnaround, Cycle, Growth หรืออะไรทั้งนั้น เพราะการลงทุนที่ดีต้องเริ่มจากการป้องกันเงินต้นให้ได้ (Defensive) ด้วยการเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง หาจังหวะซื้อของดีที่ตลาดยังไม่รับรู้ (Turnaround) เข้าลงทุนที่ระดับราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากพอ แล้วถือยาวข้ามความผันผวน (Cycle) โดยบริษัทนั้นต้องมีโอกาสเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนอย่างเพียงพอในระยะยาว (Growth)
  6. อย่าถูกหลอกด้วย Sector และ Stereotype ของมัน จริงอยู่ว่า กิจการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ อิเล็กทรอนิคส์ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก หรืออื่น ๆ น่าจะมีคุณลักษณะและปัจจัยทางธุรกิจที่เฉพาะตัวและทำให้ดูเหมือนว่ามีบางอุตสาหกรรมน่าลงทุนมากกว่าบางอุตสาหกรรม แต่อย่าลืมว่าเราลงทุนในบริษัทไม่ใช่อุตสาหกรรม การเข้าไปศึกษาธุรกิจอย่างลึกซึ้งอาจพบกว่าธุรกิจหนึ่งถูกจับวางอยู่ในอุตสาหกรรมหนึ่งแต่มีบริษัทลูกทำธุรกิจอีกอีกอุตสาหกรรมและมันกำลังไปได้ดีมาก การมองแบบ Bottom Up หรือ Look-Through จะช่วยให้เราค้นพบเพชรที่ยังซ่อนอยู่ได้ก่อนคนทั่วไปในตลาด 
  7. ผู้ชนะในการลงทุนไม่จำเป็นต้องฉลาดที่สุด แต่ต้องมีอุปนิสัยที่เหมาะสมกับการลงทุนมากที่สุด บางอย่างต้องฝึกฝน บางอย่างก็โชคดีที่มีมาแต่กำเนิด หากคุณไม่รู้สึกอึดอัดที่ทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านรอบข้าง บางทีคุณอาจจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า คนฉลาดที่คิดคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์ยาก ๆ ได้ออกมาเท่ากับที่อาจารย์สอน และ 
  8. การลงทุนที่ทำกำไรได้มากคือการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องขายทำกำไรเลย ลงทุนในบริษัทที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราที่น่าพอใจได้อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพราะคำพูดแบบนี้มันดูเท่ดี แต่การไม่ขายก็ไม่ต้องเสียค่าคอมทั้งขาซื้อและขาขายแต่ปล่อยให้ผลตอบแทนทบต้นได้มีโอกาสทำงานของมันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย การถือหุ้นตัวเดียวที่สร้างผลตอบแทนทบต้น 20% ต่อปีเป็นระยะเวลา 10 ปี ย่อมดีกว่าการถือหุ้นที่สร้างผลตอบแทนปีละ 20% ตัวละ 1 ปี โดยการขายตัวเก่าเข้าตัวใหม่ทั้งหมด 10 ครั้ง เพราะนอกจากมีค่าคอมมาบั่นทอนจำนวนเงินทุนในการเข้าซื้อครั้งถัดไปแล้ว นักลงทุนยังพบกับ investment risk ที่จะหาหุ้นตัวใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเท่าหรือดีกว่าเดิม นอกจากนั้น การถือหุ้นตัวเดียว 10 ปี ย่อมเปิดโอกาสให้เรามีความเข้าใจในธุรกิจของมันอย่างถ่องแท้มากกว่าการเปลี่ยนหุ้นไปมา ทำให้เรามองเกมได้ลึกกว่าชัดกว่า อย่างไรก็ตามหุ้นที่ไม่ต้องขายนั้นคงหาได้ยากแสนยาก ประเด็นที่สำคัญ คือเราไม่ควรถามตัวเองว่าซื้อหุ้นตัวนี้แล้วควรขายเมื่อไรดี แต่ควรถามว่าจะหาหุ้นที่ซื้อแล้วไม่ต้องขายได้อย่างไร เพื่อปรับกรอบความคิดและเข็มทิศให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น"
ที่มา
[1] https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/527106740650579
[2] https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/527447647283155

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จับ Trend อสังหาเมืองไทย

เวลาเปลี่ยน Trend ธุรกิจอสังหาก็เปลี่ยนครับ จากบทความก่อสร้างและที่ดินของมติชนสุดสัปดาห์ [1] เขาว่า

  • คนรุ่นใหม่อยู่คอนโดริมรถไฟฟ้า ไม่กลับไปอยู่บ้านเดี่ยวหลังใหญ่กับพ่อแม่
  • พ่อแม่ ที่อยู่บ้านเดี่ยวใหญ่ๆ ดูแลไม่ใหวก็ขาย มาหาบ้านเล็กลง
  • นักธุรกิจที่อยู่ต่างจังหวัด แต่มีธุระมาเมืองกรุงบ่อยๆ
    • ซื้อบ้านเดี่ยวจากพวกข้างบนที่ดูแลบ้านไม่ไหวนั่นแหละ เพราะชินบ้านหลังใหญ่ที่ต่างจังหวัด
    • ซื้อคอนโดให้ลูกๆที่มาเรียนกรุงเทพ
  • นักธุรกิจเมืองกรุงเตรียมเกษียณ อยากไปอยู่ต่างจังหวัด
    • อยากทำธุรกิจเล็กๆ ก็ซื้อรีสอร์ททางภาคเหนือ
    • อยากซื้อที่ดินเปล่าไว้ลงทุนนิยมซื้อที่ดินภาคอีสาน
    • ชอบภูเขาไปซื้อที่ที่เขาใหญ่
    • ชอบทะเลไปซื้อคอนโดที่หัวหิน พัทยา
ใครอ่านเกิดไอเดียอะไรก็เชิญต่อยอดกันเอาเองนะครับ



[1] นายตอ, วงจรไหม่, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับที่ 1684 หน้า 22

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Microcredit คืออะไร

Microcredit ซึ่งมันก็คือการปล่อยกู้นอกระบบอย่างถูกกฎหมายนั้นเอง แต่ธนาคารในไทยยังไม่มีระบบนี้ออกมา ชาวบ้านตาดำๆก็เลยต้องกู้ไปด้วยความหวาดกลัวไปเรื่อยๆ

เคยได้ยินเรื่อง โมฮหมัด ยูนุสกับ Gramine Bank ไหมครับ ที่เค้าได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ เพราะเค้าตั้งธนาคารคนจนขึ้นมา เค้าเป็นผู้ก่อตั้ง ไมโครเครดิตครับ
เพราะจริงๆแล้ว คนเราจะตั้งธุรกิจเองนั้น เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเก็บตังส์ครบสามสิบ แล้วขยายธุรกิจ นักธุรกิจ 99 % นั้นไปกู้มาทำธุรกิจครับ
แต่คนจนนั้นไม่มีความสามารถในการเข้าหาสินเชื่อ ทั้งการกู้มาทำธุรกิจหรือการกู้มาหมุนรายจ่ายในชีวิตประจำวันนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ก็เลยต้องไปกูนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยนั้น 40-120%
เค้าเลยตั้งธนาคารคนจนขึ้นมา เพื่อให้คนจนนั้นกู้โดยเฉพาะ หากคนจนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เค้าก็จะสามารถลดความยากจนของเค้าได้มากยิ่งขึ้น (การไม่มีเงินคือความยากจน และการมีหนี้ไม่ได้แปลว่ายากจนครับ)
ทั้งๆนี้ ดอกเบี้ยของธนาคารคนจนก็จะอยู่ที่ 30-50% ซึ่งฟังดูโหดครับ แต่จำเป็น เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดแรงจูงใจให้คนจนต้องหาเงินมาคืนธนาคารครับ เพราะจริงๆ แรกๆพวกไมโครเครดิตกำหนด ดอกเบี้ยไว้ต่ำ ผลคือ อัตราการคืนเงินก็ต่ำไปด้วย พอมากำหนดที่ 30% อัตราการคืนเงินเกิน 90% ครับ ดังนั้นมันจึงเรื่องสำคัญของคนทำนโยบายคนจนเลยว่า อย่าให้อะไรคนจนฟรีๆ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ตัว แต่เราต้องกำหนดแรงจูงใจของเค้า
คนที่จะได้กู้กับธนาคารคนจนต้องรวมกลุ่ม 5 คนขึ้นไป ถึงจะกู้ได้ครับ หากใครคนหนึ่งเบี้ยว อีกสี่คนรับกรรมครับ ดังนั้นต้องมีระบบตรวจสอบของคนที่กู้ด้วย และจะให้ผู้หญิงกู้มากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูงกว่า
และไม่ได้คืนเงินกับหนึ่งเดือนที่ สองเดือนทีน่ะครับ ต้องคืนเงินอาทิตย์ล่ะครั้ง ไม่งั้น คนจนจะเก็บตังส์ไม่ได้ และไม่ได้คืนครับ แต่ธนาคารคนจนนี้เองก็ไปทำให้สภาพคล่องของคนจนดีขึ้น ทำให้ธุรกิจของพวกเค้าอยู่ได้ หรือแม้แต่คนจนจะกู้ไปซื้อกับข้าว ก็ยังกู้ได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Look-Through Earning คืออะไร


Look-Through Earning เป็นแนวคิดในการมองผลประกอบการของกิจการแบบมองทะลุ ที่ Warren Buffet นิยมใช้ในการวิเคราะห์บริษัทที่มีการถือหุ้นหรือลงทุนบริษัทอื่น ๆ ไว้ด้วย วิธีการมองผลประกอบการแบบนี้จะช่วยให้ผู้สนใจมองทะลุบริษัทแม่และบริษัทลูกไปถึงผลประกอบการที่นักลงทุนได้รับจากเงินลงทุนทั้งหมดของเขาจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก Reported Earning ตามมาตรฐานบัญชีที่บริษัทต้องรายงานในงบการเงินทุกงวดบัญชี ก่อนไปถึง Look-Through Earning เราจึงควรเข้าใจ Reported Earning
ก่อนว่าเขาคิดกันอย่างไร ผู้เขียนขออนุญาตอธิบายภาพรวมอย่างคร่าว เพื่อให้เข้าใจแนวคิด แต่หากผู้อ่านท่านใดสนใจลงลึก คงต้องขอความกรุณาศึกษาต่อในเรื่องของบัญชีต่อเอง เพราะจริงๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจอีกมาก แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวในคราวเดียวกันนี้เพราะจะยาวเกินไป

  • โดยทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชีนั้น เมื่อบริษัทเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น ในระดับมากกว่า 50% หรือไม่ถึงแต่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญเช่นในเชิงบริหารหรือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ระดับสะเทือนกิจการได้ นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถือหุ้นว่า บริษัทแม่ (Parent) และ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นว่า บริษัทย่อย (Subsidiary) โดยทั่วไปบริษัทแม่มักเข้าถือหุ้นบริษัทย่อยในระดับที่สูงก็เพราะบริษัทย่อยมีความเกี่ยวข้องทางยุทธศาสตร์กับกิจการแม่ หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันสูง การรายงานผลประกอบการ จึงกำหนดให้มีการทำงบการเงินของกิจการ และ งบการเงินรวม (Consolidate) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นผลประกอบการจริงๆ ของตัวบริษัทแม่ และ ผลประกอบการที่ได้รวมบริษัทย่อยเข้ามา โดยที่แม่ควบคุมย่อยอย่างมีนัยยะ จึงให้รวมยอดขาย ต้นทุน ตลอดจนกำไรของทั้งแม่และลูกเข้าด้วยกัน แล้วค่อยมาหัก กำไรที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่น (Minority Interest)ในบริษัทย่อยออกที่บรรทัดเกือบสุดท้าย ทำเป็นอย่างนี้ นักลงทุนก็จะพอมองเห็นขนาดธุรกิจของตนได้เห็นภาพชัดขึ้นเมื่ออ่านงบการเงินของบริษัท
  • และในกรณีที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับ 20-50% นักบัญชีเขาให้เรียกบริษัทที่ถูกถือหุ้นในระดับนี้ว่าบริษัทร่วม (Associate) คือมีความเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าบริษัทแม่จะไม่มีอำนาจควบคุมอย่างแข็งแรงในกรณีแรก แต่ก็พอมีบ้างตามสัดส่วนการถือหุ้น และในการวางกลยุทธ์นั้น กิจการทั้งสองอาจทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ ลูกไม่ได้ส่งผลอะไรต่อบริษัทแม่ นอกจากเป็นการนำเงินที่เหลือของบริษัทแม่ไปลองต่อยอดลงทุนในธุรกิจอื่นๆ บ้างเท่านั้น ทางการบัญชีจึงไม่ได้กำหนดให้ต้อง Consolidate ทั้งงบ แต่ให้ใช้วิธี Equity Method คือบันทึกเป็นสินทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น และกำไรจากบริษัทร่วมนี้ไม่ต้องลงรายการละเอียดแต่เอาเข้ามาใส่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทแม่เป็นบรรทัดเดียวตามสัดส่วนการถือหุ้นอีกเช่นกัน ในบรรทัดกำไรจากกิจการร่วมค้า
  • กรณีสุดท้ายที่บริษัทแม่เข้าถือหุ้นของบริษัทอื่นในระดับที่ต่ำกว่า 20% ซึ่งถือว่าไม่มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยยะ บริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นจะถูกเรียกว่าเงินลงทุนในบริษัทอื่น (Investment Position)ซึ่งไม่ส่งผลสำคัญเชิงกลยุทธ์กับบริษัทแม่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่อาจเป็นพอร์ตลงทุนของบริษัทแม่ที่ซื้อขายหุ้นทำกำไรบ้างในบางโอกาส ทางบัญชีบันทึกเงินลงทุนดังกล่าวในราคาทุนในกรณีเป็นการลงทุนระยะยาว หรือราคาตลาดหากเป็นเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อขายในกรณีที่บริษัทแม่คิดจะขายหุ้นในบริษัทที่ลงทุนนั้น ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นจะรายงานรายได้จากเงินลงทุนก็ต่อเมื่อบริษัทดังกล่าวมีการปันผลมาให้บริษัทแม่ หรือมีการขายบริษัทนั้นออกไปเพื่อทำกำไรในกรณีเป็นสินทรัพย์เพื่อขาย
 วิธีการรายงานผลประกอบการตามมาตรฐานบัญชีสำหรับการถือหุ้นใน 3 ระดับนี้ฟังดูมีเหตุผล สำหรับการเปรียบเทียบบริษัทแต่ละบริษัทด้วยกัน เพราะจับมาวางอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน แต่หากเราเป็นเจ้าของกิจการ บางครั้งเราอาจไม่อยากเปรียบเทียบบริษัทของเรากับบริษัทอื่น เพราะการพยายามทำอะไรให้เป็นมาตรฐานมันก็ทำให้ต้องตัดกิ่งก้านบางอย่างที่ไม่เข้าพวกออก และสุดท้ายอาจทำให้แต่ละบริษัทสูญเสียตัวตนของมันไป ได้ภาพที่ไม่ชัดเกี่ยวกับกิจการของตน Look-Through Earning เข้ามาช่วยตรงนี้ได้
Look-Through Earning มองผลประกอบการของบริษัทในอีกมุมมองหนึ่ง มันยอมรับข้อจำกัดในการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทของตนกับบริษัทอื่น ๆ จึงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักบัญชี หรือ ผู้อ่านโดยทั่วไป สามารถกวาดสายตาผ่านแล้วเข้าใจโดยง่ายและเทียบกับบริษัทอื่นๆ ได้บนมาตรฐานเดียวกันได้อย่างยุติธรรมดั่งเช่น งบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี Look-Through Earning ต้องการความเข้าใจในธุรกิจแบบเจาะลึก มองทะลุ เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ แล้วส่วนที่นักลงทุนเป็นเจ้าของนั้นสร้างผลตอบแทนได้เท่าไรจริงๆ โดยผู้ที่จะพิจารณา Earning แบบนี้จะต้องเข้าใจว่า บริษัทนั้นสร้างกำไรและมีทางเลือกในการใช้มันทำงาน 2 อย่าง คือ

  • ปันผลออกมาให้ผู้ถือหุ้น (Dividends)
  • เก็บอีกส่วนไว้ลงทุนต่อ (Retained Earnings)

โดยเงินปันผลนั้นเป็นเงินที่หมุนออกจากระบบธุรกิจไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าของผู้หุ้น ซึ่งในระยะสั้นมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนต่อนั้น กลับเป็นอีกส่วนที่สร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาวอีกมาก เพราะยังวนอยู่ในระบบธุรกิจและเดินหน้าสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อไป
Look-Through Earning จึงคิด Earning แบบรวมทั้ง 2 กลุ่มให้เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือ เงินลงทุน โดยให้คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เราถือครองจริงๆ จะคล้ายกับวิธี Consolidate กับ Equity Method แต่ใช้ Equity Method กับบริษัทในกลุ่มถือหุ้นน้อยกว่า 20% ด้วย จากนั้นมาคิดอีกทีว่าเราในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนจะได้ Earning เท่าไรกันแน่ และแบ่งเป็น Dividend เข้ากระเป๋าเราเท่าไร และเก็บไว้ในระบบเป็น Retained Earning เท่าไร และตัวหลังนี่แหล่ะที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเราหา Look-Through Earning เราได้เปิดโอกาสตัวเองให้ค้นพบมูลค่าอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในRetained Earning ที่ยังไม่ได้รายงานตามมาตรฐานการบัญชี แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นมูลค่าสำหรับผู้ถือหุ้น ที่จะรอเวลาสร้างผลตอบแทนทบต้นให้เราต่อไปอีกมาก

ที่มา
  1. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/517718114922775
  2. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518106654883921
  3. https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/518605594834027

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องวุ่นๆของเงินทุนหมุนเวียน(working capital)

เงินทุนหมุนเวียนถือเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ มนุษย์เงินเดือนหลายคนลาออกจากงานมาทำธุรกิจมักตกม้าตายตรงขาดเงินทุนหมุนเวียนนี่แหละ เพราะเตรียมเงินมาลงทุนแค่สินทรัพย์ถาวรแต่ไม่ได้เตรียมเงินลงทุนในเงินทุนหมุนเวียน และเจ้งไปในที่สุด

เงินทุนหมุนเวียนคืออะไร

คนทั่วไปอาจคิดว่าทำธุรกิจก็แค่
  • รายได้ - รายจ่าย = กำไร
แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ จะมี "เงินทุนหมุนเวียน" อยู่ก้อนนึงที่มันหมุนไปหมุนมา ตามภาพ

เงินทุนหมุนเวียน
 
  • เจ้าหนี้การค้า เอาของมาลงที่ร้านก่อนเดี๋ยวค่อยมาเก็บเงิน
  • ของที่กองๆอยู่ในร้านก็คือสินค้าคงเหลือ แบ่งย่อยเป็น
    • วัตถุดิบ
    • งานระหว่างทำ
    • สินค้าสำเร็จรูป
  • ลูกหนี้การค้า คือยอดขายที่ยังเก็บเงินไม่ได้
เงินที่งอกจากวงจรนี้ก็จะนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆของต่อไป

บริหารเงินทุนหมุนเวียนไม่ดีเกิดอะไรขึ้น
ปัญหาที่พบบ่อยๆก็เช่น
  • เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ไม่รู้ว่าธุรกิจตัวเองต้องใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนเท่าไร
  • สินค้าคงเหลือ ล้าสมัย เสื่อมสภาพ ขายไม่ออก ต้องตัดจำหน่ายไปด้วยน้ำตา
  • ลูกหนี้การค้าจ่ายช้าหรือเก็บเงินไม่ได้ 
พอเงินทุนหมุนเวียนมีปัญหาเงินไม่งอก แค่ค่าใช้จ่ายต่างๆรอท่านอยู่ ถ้าไม่จ่ายธุรกิจก็เดินต่อไม่ได้
  • ไม่จ่ายเจ้าหนี้การค้า ก็ไม่มีของ lot ใหม่มาลงหน้าร้าน
  • ไม่จ่ายค่าเช่าที่ เจ้าของที่ก็ไล่ที่
  • ไม่จ่ายเงินเดือนพนักงงาน ลูกน้องก็ลาออก
นักธุรกิจมือใหม่หลายท่านอยากสู้ต่อก็อาศัยเงินกู้ยืมมาหมุนเรื่อยๆ สุดท้ายหนี้ก็พอกพูนจนไม่มีปัญญาจ่ายและลมละลายในที่สุด

แล้วธุรกิจของเราต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร

ตำราวิชาการทาง finance ช่วยท่านประมาณการเงินทุนหมุนเวียนได้ครับเพียงท่านรู้นสมมติฐานในการทำธุรกิจของท่านดังนี้
  • ระยะเวลาเก็บหนี้ ปกติระยะเวลาเก็บหนี้จะเท่าๆกับของคู่แข่ง
    •  สมมติให้เท่ากับ 60 วัน
  • ระยะเวลาขายสินค้า ให้ท่านเดาว่าควรมีของตุนไว้ในร้านประมาณกี่วันเพื่อให้มีสินค้าพอขาย
    • สมมติให้เท่ากับ 120 วัน
  • ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า
    • สมมติว่าเราได้เครดิตการค้ามา 90 วัน
  • ประมาณการยอดขายต่อปี ว่าขายได้กี่บาท
    • สมมติว่าขายของได้ 100 บาท
  • อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าที่คุณขายเป็นเท่าไร
    • อัตรากำไรขั้นต้น = (ยอดขาย-ต้นทุนขาย)/ยอดขาย
    • สมมติว่าทำธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้น = 0.2 หรือ 20%
นำความรู้เรื่องอัตราส่วนทางการเงินมาช่วยคำนวณ ลูกหนี้การค้า, สินค้าคงเหลือ, และเจ้าหนี้การค้าดังนี้
  • ลูกหนี้การค้า = (ระยะเวลาเก็บหนี้ / 360) x ยอดขาย
                     = (60/360) x 100  = 16.67 บาท
  • สินค้าคงเหลือ = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x ต้นทุนขาย
                        = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x (ยอดขายx(1-อัตรากำไรขั้นต้น))
                       = (120/360) x (100 x (1-0.2)) = 26.67 บาท
  • เจ้าหนี้การค้า = (ระยะเวลาชำระหนี้/360) x ต้นทุนขาย
                          = (ระยะเวลาขายสินค้า/360) x (ยอดขายx(1-อัตรากำไรขั้นต้น))
                       = (90/360) x (100 x (1-0.2)) = 20 บาท
ถ้าขี้เกียจคำนวณก็จิ้มเล่นได้ตามตารางครับ เปลียนสมมติฐานได้ตามสะดวกในช่องสีเหลืองๆ



จะได้ตัวเลขอัตราส่วนที่สำคัญสองตัวคือ
1) เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ
  • เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ - เจ้าหนี้การค้า
                                =16.67 + 26.67 - 20 =23.33 บาท
เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ จะเป็นตัวบอกว่าถ้าประมาณการยอดขายเท่านี้เท่านั้น ตั้งใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร ถ้ามีไม่พอก็เตรียมตัวหมุนเงินหัวปั่นได้เลย

2) อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย
  • อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย = เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ/ยอดขาย
                                                           = 23.33 / 100 = 0.23 บาท
เป็นตัวบอกว่า ถ้าจะเพิ่มยอดขาย 1 บาทต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเท่าไร ในอนาคตถ้าเราวางแผนจะเพิ่มยอดยายก็สามารถคำนวณ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิได้ง่ายๆ โดย

  • เงินทุนหมุนเวียนสุทธิที่ต้องหาเพิ่ม = ยอดขายที่เพิ่ม x อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสุทธิต่อยอดขาย

แนวทางการจัดการเงินทุนหมุนเวียน
จะเห็นว่าถ้าธุรกิจไหนต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเยอะ เรื่องกลยุทธ์ธุรกิจอะไรไม่ต้องพูดถึง วันๆไม่ต้องทำอะไรหมุนเงินกันอย่างเดียว ตามตำราท่านว่าวิธีการจัดการดังนี้
  • ใช้ตัวเลขจากการคำนวณเป็นเป้าในการดำเนินการได้ เช่นปล่อยเครดิตการค้า 60  วัน ถ้าเก็บหนี้ได้ตามปกติ ระยะเวลาเก็บเงิน ( 360 x (ลูกหนี้การค้า / ยอดขาย) ) ก็ควรคำนวณออกมาใกล้ๆ 60 วัน 
  • ลูกหนี้การค้า
    • ขายเงินสดให้มากขึ้น
    • เรียกเก็บหนี้เร็วขึ้น(ยาก)
    • พยายามอย่าให้มีหนี้เสีย
    • เอาลูกหนี้การค้าไปขายคิดลดกับแบงค์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบ เอาเงินไปหมุนก่อน
  • สินค้าคงเหลือ
    • อย่าตุนของไว้เยอะ
    • ดูแลสินค้าคงเหลือไม่ให้หายหรือเสื่อมสภาพ
    • ระบายสินค้าที่ขายไม่ออก
  • เจ้าหนี้การค้า
    • ดึงดิวไว้หน่อย เลื่อนได้เป็นเลือน
  • อัตรากำไร
    • ถ้าไปขายของที่อัตรากำไรขั้นต้นสูงๆได้จะดีมาก
  • หนี้ระยะสั้น 
    • พยายามหาแหล่งเงินกู้ไว้เตรียมไว้เยอะๆ เผื่อหมุนไม่ทันได้หยิบยืมได้


เจริญในการลงทุนทุกท่านครับ

เสริมเรื่องการจัดการสินค้าคงเหลือ โดย อาจารย์มานพ สีเหลืองครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์ค่าเสื่อมราคากับการลงทุน

เวลาที่เราลงทุนในสินทัพย์ถาวรนักบัญชีเขาไม่ได้คิดเงินลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน แต่จะทยอยตัดเป็น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (depreciation and amortisation) จนหมดอายุการใช้งาน (สินทรัพย์ในงบดุลหายหมดพอดี) จะเห็นว่าค่าเสื่อมราคาเป็นเพียงค่าใช้จ่ายทางบัญชีเงินสดไม่ได้ออกไปจากบริษัท ปัญหาจึงเริ่มเกิดมาดูกันว่าในการลงทุนมีเรื่องอะไรวุ่นๆกับค่าเสื่อมกันบ้าง

1. ค่าเสื่อมเป็นต้นทุนคงที่ในงบกำไรขาดทุน

บริษัทไหนที่ต้องลงทุนสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ ก็จะทำให้ต้นทุนคงที่เยอะ ถ้ายอดขายตกไปต่ำกว่าจุดคุ้มทุนผลประกอบการก็จะตกลงมากกว่าบริษัทที่ต้นทุนคงที่น้อยกว่า
ASIA
โรงแรม asia [1] ช่วงเสื้อเหลืองเสื้อแดง กำไรหดไปเยอะมาก

ถ้าไปเจอบริษัทไหนที่เพิ่งลงทุนอะไรใหญ่ๆหนักแล้วยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนถ้าเราเข้าไปลงทุนช่วงที่ใกล้ๆคุ้มทุน เมื่อมันคุ้มทุนขึ้นมาจิรงกำไรจะโตแบบก้าวกระโดด
THCOM

THCOM [2] ลงทุนดาวเทียม internet แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังไม่ถึงจุดคุ้มทุนก็ทำให้กำไรตกมาก แต่ในปีนี้กำลังจะถึงจุดคุ้มทุน ก็จะทำให้กำไรเติบโตมาก

2. ตัดค่าเสื่อมแล้วต้องลงทุนใหม่ (reinvestment) หรือไม่

สินค้าบางอย่างตัดค่าเสื่อมแล้วก็ต้องลงทุนใหม่เรื่อยๆอย่างนี้ไม่ค่อยดีครับเพราะเงินได้มาแทนที่จะเอาไปจ่ายปันผลก็ต้องเอามาลงสินทรัพย์ใหม่
GFPT
GFPT[3] เอาค่าเสื่อมปู่ย่าพันธ์ไก่มาบวกกลับทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)เป็นบวกเยอะ แต่ก็ต้องซื้อพ่อแม่พันธ์ไก่มาใหม่เรื่อยๆ ทำให้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน (CFI) ติดลบเยอะ

MPIC
MPIC [4] ตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน(หนัง)มากมาย แต่ก็ต้องซื้อ(หนัง)เข้ามาใหม่เรื่อยๆ

3. ตัดค่าเสื่อมแล้วเอาเงินสดไปจ่ายหนี้หมด?

บางทีเงินสดที่ได้มาก็ไม่ตกถึงท้องเราเพราะหนี้เยอะก็เอาเงินไปจ่ายหนี้ซะหมด จะเห็นลักษณะแบบนี้บ่อยๆ ในบริษัทที่ต้องลงทุนสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ เช่นโรงแรม, สวนสนุก, พื้นที่ให้เช่า
ERW

ERW [5] งบออกมาขาดทุน แต่เอาค่าเสื่อมมาบวกกลับแล้ว CFO เยอะมาก ปีนึงเป็น 1,000 ล้านแต่ก็ไม่ตกถึงท้องผู้ถือหุ้น(ปันผล) เพราะต้องเอามาใช้หนี้(เงินต้น) เห็นจาก CFF จะติดลบเยอะมาก

สรุปว่าถ้าอยากรวยสบายๆไม่ต้องลุ้นอะไรมากก็ควรถือบริษัทสามารถที่เพิ่มยอดขายได้โดยไม่ต้องลงทุนสินทรพัย์ถาวรเยอะๆจะดีมากเพราะจะทำให้ต้นทุนคงที่ในงบกำไรขาดทุนไม่เยอะ, หักค่าเสื่อมมาก็ไม่ต้องเอาไปโป๊ะหนี้ เงินปันผลก็ตกถึงท้องนักลงทุนครับ


ที่มา
[1] http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=ASIA&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[2]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=thcom&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[3]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=GFPT&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[4]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=mpic&language=th&country=TH, ค้นวันที่ 4/11/2555
[5]http://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=erw&language=th&country=TH ค้นวันที่ 4/11/2555

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ลงทุนหุ้น VI ควรถือยาวแค่ไหน

จะเป็น VI ที่จะถือหุ้นยาวๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อหุ้นพื้นฐานดีแล้วถือระยะยาวแบบไม่สนใจใยดี นักลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ...เพื่อประเมินว่าหุ้นที่เราถืออยู่เหมาะที่จะถือต่อหรือ ไม่?
  • หุ้นยังมีการเติบโตหรือไม่? 
  • หุ้นยังคงมีศักยภาพการเติบโต (Potential growth) อยู่หรือไม่? 
  • ราคาหุ้นถึงมูลค่าเมื่อคิดรวมการเติบโตในระยะยาวหรือยัง? (Room of growth)
เมื่อมีสัญญาณว่าหุ้นไม่มีการเติบโตแล้ว หมดศักยภาพเติบโตแล้ว หมดโอกาสเติบโตทางธุรกิจแล้ว หุ้นถึงมูลค่าแล้ว ต่อให้ถือหุ้นในเวลาสั้นแค่ไหนก็ควรขายทิ้ง

เมื่อหุ้นยังคงมีการเติบโตของกิจการอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสทางธุรกิจเพิ่ม ศักยภาพทางธุรกิจเพิ่ม ต่อให้ถือหุ้นมานานแค่ไหนก็ควรถือต่อ เพราะมูลค่าหุ้นมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆตามการเจริญเติบโต ขายไปก็เหมือนขายหมูครับ ไม่สามารถกลับมาซื้อในราคาต่ำกว่า

ดังนั้นการลงทุนระยะยาวต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ ว่าหุ้นที่เราถืออยู่ควรถือต่อหรือไม่? ถ้าหุ้นยังมีคุณสมบัติที่ดีประเมินแล้วสรุปว่าต้องถือต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นการลงทุนระยะยาวโดยปริยายครับ :D 

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

Fiscal Cliff คืออะไร?

Fiscal Cliff คืออะไร?

Fiscal Cliff เป็นคำอธิบายสถานการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงอีกครั้ง เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะหมดอายุลงพร้อมกันภายในสิ้นปี 2012 นี้ นั่นคือ 

  1. มาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ (เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมรดก) ที่เรียกกันว่า Bush Tax Cut จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ทำให้คนอเมริกันต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นในปี 2013 และเมื่อต้องเสียภาษีมากขึ้น ก็จะมีเงินใช้จ่ายน้อยลง
  2. นอเมริกันจะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 3.8% จาก “เงินได้จากการลงทุน” เพื่อไปดูแลค่ารักษาพยาบาลในโครงการ ObamaCare
  3. เงินงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีใช้จ่ายสนุกมือจะหายไปครึ่งหนึ่ง
หากมาตรการเหล่านี้ไม่ได้รับการต่ออายุ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2013 จะพลิกจาก +2.0% เป็น -0.5% อัตราการว่างงานจะเพิ่มจาก 8.0% เป็น 9.1% และอาจจะฉุดเศรษฐกิจโลกที่แย่อยู่แล้วให้แย่ไปกว่านี้อีก อันที่โหดมาก คือ ภาษีเงินได้จากเงินปันผล ที่จะเพิ่มจาก 15% เป็นอัตราปกติ 39.6% แล้วบวกภาษี ObamaCare อีก 3.8% คนอเมริกันต้องจ่ายภาษีเงินปันผลสูงถึง 43.4% มีคนทำนายว่า หุ้นสหรัฐฯจะร่วงอย่างน้อย 30% ในปีหน้า!!!

แต่ในระยะยาว Fiscal Cliff จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องประหยัดและรัดเข็มขัดมากขึ้นครับ คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ในปี 2022 จะลดลงจาก 90% เหลือเพียง 58%

Fiscal Cliff มีผลต่อเงินออมของเราอย่างไร? ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ผมเกรงว่าคนที่ซื้อหุ้นในตอนนี้ อาจจะต้อง “ติดดอย” กันเป็นแถวครับ : )





ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=309478322493680&set=a.305313389576840.71578.305000962941416&type=1


วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

Rules of Thumb กับการลงทุน

มนุษย์เรานั้นชอบทำอะไรตามความคุ้นเคย และมองหาทางลัดในการตัดสินใจอยู่เสมอ หลายครั้งเราเลือกใช้กฎบางอย่างมาช่วยในการตัดสินใจอย่างคร่าว ๆ เพื่อประหยัดเวลา แม้ว่ามันอาจไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็มีโอกาสใกล้เคียง มีกฎอยู่บางประเภทที่เราสร้างมันขึ้นมาจากประสบการณ์และบอกต่อกันเพื่อเอาไว้ใช้เพื่อประหยัดเวลา เราเรียกกฎประเภทนี้ว่า Rules of Thumb ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากอดีตที่ช่างไม้ขี้เกียจใช้ไม้วัดในการวัดชิ้นงานของตน และตัดสินใช้นิ้วตัวเองวัดแล้วก็บอกต่อๆ กัน ผู้เขียนเข้าใจว่ามันคงคล้ายกับรากศัพท์หน่วยวัดที่บ้านเราเรียกว่า นิ้ว หรือ คืบ(มือกาง) หรือ ศอก(ท่อนแขน) หรือวา (สองแขนกาง) ซึ่งแท้จริงแล้วศอกแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แต่สมัยโบราณ เพื่อความรวดเร็ว เราก็ยอมรับให้ใช้แบบอนุโลมเพื่อความรวดเร็วได้ และ ได้พัฒนากลายเป็นกฎบางอย่างเกี่ยวกับงานของตน เช่น ช่างตัดเสื้อที่วัดเพียงรอบหัวแม่เท้าหรือ รอบคอก็สามารถคะเน และตัดเสื้อทั้งตัวออกมาได้

และสำหรับการลงทุนก็มี Rules of Thumb อยู่หลายข้อเหมือนกันที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น
  1. ให้เราเอาผลตอบแทนเฉลี่ยที่เราทำได้ไปหาร 72 แล้วเราจะได้จำนวนปีที่เงินต้นเราจะเพิ่มเป็น 2 เท่า เช่นหากผู้เขียนทำผลงานได้ปีละ 20% มันก็จะใช้เวลา 72/20 = 3.6 ปี ในการทำให้เงินต้น 100 บาทกลายเป็น 200 บาท หรือ 
  2. ผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์คือ 10% ซึ่งทำให้เราน่าจะคาดได้ว่าหากเราลงทุนระยะยาว เราควรได้ผลตอบแทนประมาณนี้สอดคล้องกัน และเราควรตั้งเป้าให้สูงกว่านี้อีกนิดเพื่อเพิ่มความท้าทาย แต่อย่างไรก็ตามนี่คือค่าเฉลี่ย ไม่ใช่ว่าทุกปีจะเท่ากับ 10 มันมีปีที่พุ่งสูงลิ่วและดิ่งทะลุเหว โปรดระลึกไว้เสมอ หรือ 
  3. อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4% เราจึงควรตระหนักอยู่เสมอว่า เงินที่เราหามาได้ในปีหน้านั้น ค่าของมันหายไป 4% เสมอ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ด้วย เราจึงต้องหมั่นติดตามสภาวะที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในตลาดอยู่เสมอ มิใช่ วิเคราะห์บนแผ่นกระดาษเพียงอย่างเดียว 
จะเห็นว่า Rules of Thumb ช่วยประหยัดเวลาให้เราในการตัดสินใจหรือทำความเข้าใจในบางเรื่องได้พอสมควร แต่ หากเป็นการตัดสินใจที่สำคัญเราควรให้เวลาในการคิดมากกว่านี้ พิจารณาให้ละเอียดทุกด้าน จะดีที่สุด

ที่มา https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment บทความหมายเลข 132

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

การใช้งาน efinancthai สำหรับชาว VI

เดียวนี้เครื่องมือกรองหุ้นมีเยอะครับแต่กรองมาแล้วจะกล้าซื้อหรือเปล่าเท่านั้นเอง

กรองหุ้น

เลือกเมนูกรองหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน

เลือกเงื่นไขตามต้องการ

ได้รายชื่อหุ้น

ดูข้อมูลพื้นฐาน

analysis stock

หน้าจอ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

การจัดพอร์หุ้นกับการเล่นดนตรี

คุณ OutOfMyMind on Value Investment ได้เขียนใน page เปรียเทียบการ portfolio ลงทุนกับดนตรีได้เห็นภาพดีครับ เชิญอ่านโดยพลัน

วันนี้เบาๆ สำหรับคนรักในเสียงเพลงนะครับ พอร์ตลงทุนที่ถูกออกแบบไว้อย่างสวยงามสอดคล้องน่าจะสามารถสร้างความบันเทิงให้กับเจ้าของในการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของมันได้เป็นอย่างดี ไม่ต่างกับบทเพลงไพเราะสักบท พอร์ตที่ไพเราะเหมือนเพลงนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 อย่างนั่นคือ

  1.  Melody อันได้แก่จังหวะการขึ้นลงของหุ้นแต่ละตัวที่ควรมีจังหวะขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง ไม่หวือหวา กระโดดข้าม หรือ เคลื่อนไหวในทิศทางที่เกินความคาดหมาย จนขาดความไพเราะ
  2.  Harmony อันเป็นความสอดคล้องเมื่อรวมหุ้นทุกตัวเข้าด้วยกัน ต้องสามารถทำงานร่วมกัน เมื่อตัวหนึ่งกดลงแรง อีกตัวหนึ่งอาจจะขึ้น เพื่อรองรับ ไม่ให้บทเพลงเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่าที่ควร
  3.  Rhythm คือการไหล (Flow) หรือการเคลื่อนตัวของพอร์ต ซึ่งควรเป็นจังหวะ อาจเป็นได้ทั้งเร่งเร็วหรือไหลเอื่อย ก็แล้วแต่เจ้าของผู้สร้างสรรค์พอร์ตลงทุนนั้นจะเลือกใช้จังหวะอะไร ด้วยความเร็วแค่ไหน และ 
  4. Dynamic คือชีวิต พลัง และ อารมณ์ ของพอร์ตที่ต้อง กำหนดผ่านความหนักเบา ของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ต ซึ่งไม่ควรแข็งทื่อด้วยการกำหนดน้ำหนักเท่า ๆ กันทุกตัว แต่ควรแตกต่าง เพื่อให้พอร์ตลงทุนมีพลัง และ เคลื่อนไหวอย่างมียุทธศาสตร์
สำหรับผู้เขียนนั้น ชอบเพลงช้า ที่มีจังหวะแน่นอน มีหนักบ้าง เบาบ้าง เสียงขึ้นลง อยู่ในกรอบที่ไม่กว้างนัก มันต้องมีเสียงลงต่ำบ้าง เพื่อให้เวลาขึ้นสูงแล้วไพเราะ พอถึงท่อน Hook ต้องได้ได้เนื้อได้หนัง ฟังแล้วจับใจ ไพเราะ เปิดวนซ้ำได้นานหลายปี ยังทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ต้องเปลี่ยนเพลงใหม่บ่อยๆ

ที่มา https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปแบบการตกแต่งงบกระแสเงินสดในไทย


รูปแบบการตกแต่งงบกระแสเงินสดในไทย

  1. รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งในกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 
  2. จัดจำแนกรายการเงินให้กู้ยืมกรรมการและบำเหน็จไว้เป็นกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน 
  3. แสดงรายการส่วนเกินจากการตีราคาทรัพย์สิน ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นของหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด(เงินลงทุนระยะยาว) และผลสะสมของการเปลี่ยนแปลงหลักการบัญชี(การเปลี่ยนแปลงวิธีบันทึกเงินลงทุนในบริษัทร่วมและย่อย จากวิธีราคาทุนเป็นวิธีส่วนได้เสีย) โดยปรับกับกำไรสุทธิ ทั้งๆ ที่รายการดังกล่าวจัดเป็นรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสด( Noncash Items) 
  4. นำรายการกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย หรือกำไรจากการขายเงินลงทุน มาบวกกับกำไรสุทธิ 
  5. นำรายการเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้ค่าหุ้นซึ่งเกิดจากการจัดหาเงินมาปรับกับกำไรสุทธิ
  6. นำรายการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเจ้าหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการลงทุน (เช่น การซื้อเครื่องจักรโดยการก่อหนี้) มาปรับกับกำไรสุทธิ 
  7. ไม่บันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ กำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย ออกจากการคำนวณกระแสเงินสดจากการดำเนินงานตามวิธีทางอ้อม 
  8. แสดงกำไรสุทธิในงบกระแสเงินสดแตกต่างไปจากกำไรสุทธิที่แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุนหรือ แสดงค่าเสื่อมราคาในงบฯต่างไปจากที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทั้งๆ ที่เป็นรายการเดียวกัน
  9. ไม่แยกแสดงเงินสดที่ไม่มีสภาพคล่อง ( เช่น เงินสดที่นำไปใช้ค้ำประกัน เงินเบิกเกินบัญชี และการออกหนังสือค้ำประกันต่างๆ) ออกจากรายการเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด
  10. รวมรายการเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารไว้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 
  11. รวมเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทอื่นๆ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดำเนินงาน ในขณะที่บันทึกเงินปันผลรับจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยไว้ในกิจกรรมลงทุน 
  12. รายการต่างๆ ที่รวมอยู่ในการคำนวณกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน เมื่อตรวจสอบการคำนวณใหม่ จะได้ยอดที่ไม่ตรงกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานตามที่แจ้งในงบกระแสเงินสด 

ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=3497

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนกับนักเก็งกำไร

นักเก็งกำไร  และนักลงทุนต่างกันอย่างไร

การเก็งกำไรคือการตกปลา บางคนก็ได้ปลามาเป็นกอบเป็นกำทุกครั้ง บางคนก็เสียเหยื่อไปฟรีๆ บางคนอาจถึงขั้นตกเรือโดนปลากินอีกต่างหาก

การลงทุนคือการสร้างบ่อเลี้ยงปลา ค่อยๆสร้าง แรกๆได้ปลานิดเดียวแต่ลงทุนไปเยอะ นานๆเข้าก็แค่คอยดูแลไปเรื่อยๆก็มีปลาให้กินทุกวัน

แต่ก็มีบางคนที่
  • นอกจากตกปลาไม่เป็น/เก่งแล้ว ยังสร้างบ่อเลี้ยงปลาไม่เป็น/เก่งครับ 
  • ไม่มีความรู้เรื่องปลาอย่างแท้จริง การผสมพันธุ์ หรือรักษายามมันติดโรค 
  • มีข้อจำกัดในการลงทุน ไม่สามารถลงทุนสร้างได้แม้แต่บ่อเดียว นอกจากนี้
    หากรายได้จากการขายปลาดี ผมกลัวจะขยายการลงทุนทำบ่อเพิ่มไม่ทันคนอื่นเขา

ทำไปก็เจ้งดังนั้น แทนที่จะสร้างบ่อเลี้ยงปลาเอง ก็ขอเลือกบ่อปลาดีๆ ที่ต้องการผู้ร่วมลงทุนแทนครับ แต่ก่อนจะตัดสินใจ ก็ต้องดูหลายอย่างเหมือนกัน เช่น

  • เลือกเจ้าของบ่อที่มีความรู้ ความสามารถ ต้องใจเลี้ยงปลาเพื่อให้ผมประกอบการให้ดียิ่งขึ้น 
  • เลือกชนิดของปลาที่จะเลี้ยง เป็นความต้องการของตลาด รสชาดอร่อย มีความแตกต่าง 
  • เลือกบ่อที่มีชื่อเสียงและขายปลาได้ราคา มีความสามารถในการแข่งขัน 
  • เลือกบ่อที่มีประวัติดี ยอดขาย รายได้ กำไร อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังแบ่งปลามาให้ทานบ้าง
    และอื่นๆ 
เวลาผ่านไปสิบปี
คนตกปลาก็ต้องออกไปหาปลาเรื่อยๆถ้าอยากได้ปลา
คนเลี้ยงปลากับคนที่ร่วมหุ้นกับเจ้าของบ่อปลาไม่ต้องออกไปหาก็ได้ปลามากินทุกวัน

ความเสี่ยง

เสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ครับ ทั้งคนตกปลา กับคนเลี้ยงปลา 
คนตกปลาอาจไม่ได้ปลา ก็อดตาย
คนเลี้ยงปลาถ้าปลาตาย ก็อดเหมือนกันครับ

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อยากลงทุนแบบ Value investor ต้องทำอย่างไร

ความหมายของ Value investor ก็คือนักลงทุนที่พยายามหาซื้อกิจที่ที่ดีในราคาโปรโมชั่น(ราคาต่ำกว่ามูลค่าของกิจการมากๆ) ซึ่งจะทำให้
  • เอาไปขายต่อก็ได้ราคา (capital gain)
  • ถือไว้ยาวๆก็ได้ผลตอบแทนเงินปันผลที่มากกว่าตลาด (dividend yield)
ซื้อหุ้นดีราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ

การลงทุนแบบ VI นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องซื้อหุ้นที่ดูเหมือนเป็นหุ้น VI ตามที่เค้าแนะนำมาตามแหล่งต่างๆ เช่น ห้องกระทิงคุณค่า หรือ www.thaivi.org นะครับ

ดังนั้นจะต้องแยกให้ออกว่าเราจะเป็น VI หรือ จะซื้อหุ้น VI ซึ่งอย่างหลังนั้นไม่ยากเพราะสามารถสอบถามจาก web ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ VI แต่การที่จะเป็น VI คือสามารถเลือกหาหุ้นที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพงเกินไปนักเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะทำหรือไม่นะครับ

คุณ Inivisible Hand [1]ได้เขียนคำแนะนำขั้นต้นหากต้องการเป็น VI ไว้ดังนี้

  1. หาหนังสือแนว VI มาอ่าน ตอนนี้มีการแปลหลายเล่มมาก เช่น
    - หนังสือต่างๆ ที่เขียนโดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เช่น ตีแตก ชนะอย่างเต่า ฯลฯ มีขายตามร้านหนังสือทั่วไปครับ เช่น SE-ED
    - หนังสือแปลจากต่างประเทศเช่น
    - The new Buffetology ผู้แปล คือ คุณพรชัย
    - One up on wallstreet ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
    - Common stocks uncommon profit ผู้แปล คือ ดร. นิเวศน์
  2. จะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างน้อยวันละ 1 เล่ม ถ้าให้ดีควรจะอย่างน้อย 2 และหนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วัน 7 วัน เช่น ประชาชาติธุรกิจหรือฐานเศรษฐกิจ หรือ Biz Week อย่างน้อย 1 เล่ม เป็นขั้นต่ำ ถ้าให้ดีควรอ่านทุกเล่มเลยครับ
  3. จะต้องอ่านหนังสือธุรกิจรายเดือน เช่น ผู้จัดการรายเดือน Brandage Thaicoon Marketeer การเงินการธนาคาร อย่างน้อยเดือนละ 1-2 เล่ม
  4. จะต้องหา Pocket book ต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจ ( ซึ่งหลายๆ เล่มมีฉบับแปล ) มาอ่านให้ได้อย่างน้อยปีละ 4-5 เล่ม เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก และสามารถวิเคราะห์ภาพใหญ่ๆ ได้ ยกตัวอย่างหนังสือดีๆ ที่มีแปลเป็นไทยแล้ว เช่น Blue ocean strategy หรือ ใครว่าโลกกลม ( The world is flat )
  5. หากสนใจหุ้นตัวใดแล้ว จะต้องอ่านข้อมูลอย่างน้อยคือ 56-1 รายงานประจำปี งบการเงิน รวมไปถึงการ search หาข่าวเก่าๆ ที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆ ง่ายที่สุดคือ พิมพ์ชื่อบริษัท หรือชื่อ นามสกุล กรรมการผู้จัดการ ลงใน www.google.com ครับ
  6. ฝึกเป็นคนสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของวัน เช่น การขับรถ การเดินห้าง การดู TV ฟังวิทยุ ไปต่างประเทศ หรือการพูดคุยกับคนต่างๆ อาชีพ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกและวิเคราะห์หุ้นได้เป็นอย่าง ดี
  7. ฝึกการคิดต่างจากคนอื่นๆ เพราะถ้ามีเรื่องแบบเดียวกันและเราคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป โอกาสประสบความสำเร็จจะมียากกว่าคนที่ฝึกการคิดแตกต่าง เปรียบเหมือนกับการหาที่จอดรถในห้าง หากเราขับตามๆ กันไปเราก็ต้องได้ที่จอดรถหลังคันหน้าเราอยู่ดี ดังนั้นเราควรจะเลือกขับไปในจุดที่เราเป็นคันแรกจะมีโอกาสได้ที่จอดรถ มากกว่า
  8. หาโอกาสไปประชุมผู้ถือหุ้น หรือ งาน Opportunity day เพื่อทำความรู้จักผู้บริหารและซักถามข้อสงสัยต่างๆ
  9. จะต้องเป็นคนรู้กว้าง อ่านและฟังมากๆ ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นเท่านั้น แต่ควรจะรู้ความเป็นไปในโลกให้มากที่สุด เพราะบางครั้งความรู้ต่างๆ ที่เรามีนั้นจะถูกเชื่อมโยงเป็นข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ต่างๆ ของเราได้ เพราะผมเองยังได้กำไรจากหุ้นตัวหนึ่งจากการอ่านหนังสือบันเทิงอย่าง Maya Channel เลยครับ ดังนั้นผมจะอ่านนิตยสารอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับหุ้นด้วยจำนวนหนึ่งเพื่อหาความรู้ทั่วไปและการผ่อนคลาย เช่น แพรว ยานยนต์ สารคดี ฯลฯ VI ที่ดีควรเข้าร้านหนังสืออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งครับ
  10. ฯลฯ มีอีกหลายข้อแต่ยังนึกไม่ออกครับ

ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนทำได้ยาก แต่เมื่อลองทำจริงๆ แล้วมันจะเป็นนิสัยและจะอยู่ในชีวิตเราเองแบบไม่ตั้งใจ แล้วเราจะสามารถมีชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปครับ สามารถเดินห้าง ดูหนัง ซื้อของ สังสรรค์ ท่องเที่ยว ได้ตามปกติครับ และก็ไม่ได้เป็นการทำงานหนักมากด้วย เพราะเราจะเป็น VI ที่คอยสังเกตสิ่งต่างๆ และหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงครับ

จะเห็นว่าการเป็นนักลงทุนแบบที่เค้าเรียกกันว่า VI นั้น ไม่ได้มาด้วยความฟลุ๊กแน่นอนครับ

ที่มา
[1]http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=24502

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

GFPT ไก่กำลังบิน

GFPT เป็นผู้ผลิตไก่แบบครบวงจรครับทำแม่งทุกอย่างตั้งแต่ อาหารสัตว์ เลี้ยงไก จนแปรรูปและส่งออก เป็น supplier ให้รายใหญ่หลายเจ้า ทั้งนิชิเรที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ขายไก่ให้้ร้าน mac

วันนี้ 28/3/2012 ราคา 10.4 @ PE 10.84 เท่า

ประเด็นการลงทุน
  • โรงงานที่ร่วมทุนกับนิชิเรถึงจุดคุ้มทุน (ปี่ที่แล้วขาดทุนจากโครกการนี้ 100 ล้าน)
  • อียู ไกล้ยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สด
  • ตอนนี้ไก่หน้าฟาร์มราคาตก แต่มีแนวโน้มสูงขึ้น
สู้ต่อไป เจ้าไก่น้อย

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จับเท็จ..."หุ้นอสังหาฯ" 4 วิธี "เลี่ยงหลุมพราง" ทางบัญชี

จะเล่นหุ้นอสังหาฯ ให้มีกำไรต้องทำอย่างไร นักวิเคราะห์แนะนำว่า มีกลเกมทางบัญชี 4 วิธีที่ผู้ลงทุนต้องรู้ทุน คือ การบันทึกรายได้ กำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่าย และการไหลของกระแสเงินสด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยมีมากถึง 68 บริษัท แยกเป็น 5 กลุ่ม ทั้งรับเหมาก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการให้เช่า โรงงานอุตสาหกรรม และน้องใหม่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสิทธิการเช่า ซึ่งกลุ่มหลังสุดนี้โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีกองทุนเข้ามาจดทะเบียนต่อเนื่อง ทั้ง 5 ธุรกิจในเซคเตอร์อสังหาฯ รวมๆ กันแล้วมีมาร์เก็ตแคปประมาณ 10% ของตลาด แต่กระจายกันถึง 68 หลักทรัพย์ แค่เลือกว่าจะลงทุนตัวไหนก็ละลานตาพอแล้ว แต่นักวิเคราะห์ยังเตือนไว้ด้วยว่า "เล่นหุ้นอสังหาฯ ไม่ง่าย" เพราะแต่ละบริษัทมีกลวิธีทางบัญชีที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจะเล่นหุ้นกลุ่มนี้ ต้องตาดีเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจตกหลุมพรางทางบัญชีที่ถูก "ขุดล่อ" ไว้

1. วิธีบันทึกรายได้
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส บอกว่า ก่อนจะตัดสินใจลงทุน หรือไม่ลงทุนในหุ้นอสังหาฯ นอกจากต้องเข้าใจกลไกและผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย ความเชื่อมั่น มาตรการต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเข้าใจโครงสร้างรายได้ วิธีบันทึกรายได้ และการทำประมาณการผลการดำเนินงาน เพราะหุ้นกลุ่มนี้ แตกต่าง จากกลุ่มอื่นๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มอสังหาฯ เหมือนกัน ก็ยังมีวิธีบันทึกรายได้และประมาณการแตกต่างกัน สินค้าทั่วไป ถ้าขายแล้วได้เงินมา ก็จะบันทึกราคาเลย แต่บริษัทอสังหาฯ ไม่ใช่ จะบันทึกรายได้เฉพาะส่วนที่ "สร้างเสร็จ" แล้วเท่านั้น ไม่ใช่เท่านั้น เพราะการบันทึกรายได้ของธุรกิจบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือที่เรียกว่า โครงการแนวราบ กับโครงการคอนโดมิเนียมก็ "แตกต่าง" กันอีก เทิดศักดิ์อธิบายว่า การบันทึกรายได้ในบัญชีมี 3 เงื่อนไข คือ
  • บริษัทต้องได้รับเงินจากลูกค้าอย่างน้อย 20% ของราคาขาย 
  • งานก่อสร้างต้องคืบหน้าเกิน 10% และลูกค้าผ่อนดาวน์ต้องไม่ขาดผ่อนต่อเนื่องเกิน 3 งวด
  •  ส่วนกรณีคอนโดมิเนียม จะเพิ่มเงื่อนไขอีกข้อว่า โครงการนั้นต้องมียอดขายพื้นที่ "เกิน 40%" ของพื้นที่ขาย โครงการคอนโดมิเนียมจะแบกรับความเสี่ยงมากกว่าบ้านเดี่ยวหรือ ทาว์นเฮ้าส์ จึงต้องการยอดขายและกำไรขั้นต้นที่สูงกว่า ผู้ลงทุนที่จะซื้อหุ้นของกิจการคอนโดมิเนียมจึงต้องพิจารณาให้ดี

2. อัตรากำไรขั้นต้น
อีกเรื่องที่ต้องดูคือการคาดการณ์ กำไรขั้นต้น หรือ "Gross Margin" ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึง "ฝีมือ" ผู้บริหาร ถ้า Gross Margin สูงๆ โดยปกติก็บ่งชี้ว่า จัดการเก่ง มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการเป็นเยี่ยม แต่บางกรณี Gross Margin ก็อาจถูก หมกเม็ด ได้เช่นกัน ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ กำไรขั้นต้นสูง แต่ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการที่ดี แต่มาจากการเล่นกลทางบัญชี เทิดศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า บางบริษัทที่มี Gross Margin สูง เพราะมีการปรับปรุงทาง บัญชี เช่น ปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในอดีต ทำให้เมื่อนำสินทรัพย์ชิ้นที่ถูกปรับลดมูลค่ามาพัฒนาเพื่อขาย จึงมีต้นทุนต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นสูงกว่าปกติ กำไรขั้นต้น หรือ Gross Margin สูง ยังอาจมาจากกลยุทธ์พัฒนาที่ดินของผู้บริหาร เช่นสะสมที่ดินแปลงใหญ่มาหลายปี แต่ทยอยพัฒนา เช่น มีที่ดินสะสม 100 ไร่ ซึ่งในการพัฒนาที่ดินเฟสแรกๆ กำไรขั้นต้นจะต่ำเพราะมีต้นทุนสูง แต่หลังจากนั้นมูลค่าที่ดินสูงขึ้น และตั้งราคาสินค้าได้สูงกว่าเฟสแรก กำไรขั้นต้นก็สูงขึ้นในช่วงเฟสท้ายๆ กำไรขั้นต้นของกลุ่มอสังหาฯ เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 41% ในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านสร้างไม่พอขาย ทำให้การสต็อกสินค้าต่ำมากๆ และตลาดเป็นของผู้ขาย แต่จากนั้น Gross Margin ก็ถอยลงมาเรื่อยๆ จนเหลือ 32-34% สะท้อนว่าตอนนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ" กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เทิดศักดิ์ยกตัวอย่างบริษัทสัมมากร" ซึ่งซื้อที่ดินแปลงใหญ่และพัฒนาโครงการ โดยใช้เวลาถึง 10 ปี ตอนนั้นโครงการหมู่บ้านที่บางกะปิ เคยมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 70% แต่พอที่ดินหมด กำไรขั้นต้นก็ลดลง ฉะนั้นในการพิจารณา Gross Margin หากเห็นว่าสูงผิดปกติ ต้องเจาะลึกด้วยว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ และจะอยู่อย่างนั้นตลอดไปหรือไม่ "ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร" ก็เป็นอีกรายการหนึ่งที่ต้องดูอย่างละเอียด และเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ลงทุนต้องระวัง..

3. ค่าใช้จ่าย
โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของธุรกิจอสังหาฯ จะมี 4 ส่วน คือ ค่าจ้างเงินเดือน และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในการจัดการต่างๆ ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมิน ค่าธรรมเนียมการโอน 2% และค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายส่วนใหญ่จะคิดราว 3% ของยอดจอง รวมเป็น 7.3% สิ่งที่ควรระวังก็คือ ในบางกรณีการบันทึกบัญชี จะมีค่าใช้จ่ายการขายแปลกๆ เกิดขึ้น เช่น โปรโมชั่นแปลกๆ ให้ของแลกแจกแถม ดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งถ้าเห็นความผิดปกติ ต้องสอบถามผู้บริหารด้วย สิ่งที่ต้องจับตาอีกอย่างคือ โครงสร้างการเงินและแนวโน้มการก่อหนี้ ในช่วงวิกฤติ บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่จะเติบโตด้วยการก่อหนี้ โดยไปกู้ยืมเงินนอกประเทศ เพราะได้อัตราดอกเบี้ยถูก แต่หลังการปล่อยค่าเงินลอยตัว ทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2543 สัดส่วนหนี้สิน (Net Gearing) สูงถึง 11% จากนั้นจึงทำการ "แฮร์คัต" หรือปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ Net Gearing ปัจจุบันเหลือเพียง 0.7% ช่วงนี้จึงถือว่าฐานเงินทุนบริษัทอสังหาฯ แข็งแรง เพราะเป็นการเติบโตจากเงินของผู้ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่

4. งบกระแสเงินสด
วิธีดูกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ "สถานะ" (Position) ของกิจการได้ทางหนึ่ง "ในช่วงเริ่มฟื้นตัวของกิจการ หรือช่วงขยายกิจการ ส่วนใหญ่จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ แต่เมื่อผ่านช่วงการลงทุนไปแล้ว ฐานธุรกิจใหญ่ขึ้น กระแสเงินสดจะเป็นบวก" "ดูวิธีบันทึกบัญชี เกาะติด Gross Margin พิจารณาค่าใช้จ่ายในการขาย และปรายตาดูกระแสเงินสด" นี่คือแนวทางหลักๆ ในการค้นหาความจริงของหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่นักวิเคราะห์แนะนำไว้ หากทำได้ครบ รับรองว่าได้หุ้นถูกตัว ถูกใจ มีกำไรได้ไม่ยาก..

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การประยุกต์ใช้ EBITDA และข้อจำกัด

EBITDA วิธีจำความหมายให้ขึ้นใจก็จำเป็นตัวย่อไว้ดังนี้ กำไร(Earning) ก่อน(Before) ดอกเบี้ยจ่าย(Interest) ภาษี(Tax) ค่าเสื่อม(Depreciation) ถ้าดูเผินก็เหมือนกำไรที่มาจากธุรกิจจริงยังไม่แบ่งให้เที่มาของทุน (เจ้าหนี้ เจ้าของทุน) แต่มันลึกกว่านั้นครับ ก็ยกบทความของคุณ green-orange [1] มาให้อ่านกันครับ เชิญอ่านโดยพัน

การนำเอา EBITDA ไปใช้และข้อจำกัด
ต่อ จากบทความที่แล้ว และที่น้องปิ๊กขอมา เป็นแรงบันดาลใจทำให้ผมต้องมานั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนอย่างไรดี แล้วผมจะเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องได้ไหมเนี่ย…แต่แล้วผมก็คิดว่าผมจะพยายาม ลองดูครับ เป็นการฝึกฝนตนเองไปด้วย ถ้าผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ขออภัยมา ณ ที่นี้
เริ่มเลยแล้วกัน……

ในการนำเอา EBITDA ไปใช้นั้น ในความคิดส่วนตัว ผมเห็นว่าเราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลายสิ่งด้วยกันดังนี้
1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่าย
2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
3 ลักษณะของกิจการ
4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
5 Utilization Rate

ทีนี้เราลองมาดูทีละประเด็นกันนะครับ ว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการพิจารณาอย่างไร

1 หนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ย
เหตุผล ที่เราต้องมาพิจารณาหนี้สินต่อทุนและภาระดอกเบี้ยจ่ายประกอบนั้น เนื่องจากว่า EBITDA นั้นเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่าย ซึ่งยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงโครงสร้างหนี้สินต่อทุนของกิจการ (หนี้สินในที่นี้หมายถึงหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย) เลยว่าสินทรัพย์ที่ได้มานั้นได้มาจากส่วนไหนในอัตราส่วนเท่าไหร่ เช่น ถ้าหากกิจการ A มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน = 1:1 ส่วน B มีภาระหนี้สินต่อทุน 1:2 และอัตราดอกเบี้ยจ่าย = 5% เท่ากันทั้ง 2 บริษัท นั่นก็จะทำให้เราทราบคร่าวๆว่า บริษัท A นั้นมีความเสี่ยงที่สูงกว่า B ในเรื่องของภาระดอกเบี้ยจ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาระดอกเบี้ยจ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้นำไปหักออกจาก EBITDA ซึ่งการดูเฉพาะเรื่องของอัตราหนี้สินต่อทุนก็ยังบอกอะไรเราไม่ได้มากนัก ต้องดูอย่างอื่นประกอบเพิ่มเติม

2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT)
ทำไม เราต้องมาดูเรื่องอัตรากำไรจากการดำเนินงานของกิจการกัน (EBIT) สาเหตุก็เนื่องจากถ้า 2 กิจการมี EBIT ที่เท่ากันแต่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและดอกเบี้ยจ่ายที่แตกต่างกันแล้ว ก็จะทำให้มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนดังที่แสดงในตารางด้าน ล่างซ้ายมือ เราลองมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมกันนะครับ สมมุติว่าทั้ง 2 บริษัทที่มี EBIT เท่ากันที่ 10% ในตอนแรกนั้นมียอดขายลดลง 10% เท่ากันพอดี แต่บริษัท B มีอัตราหนี้สินน้อยกว่า A ที่อัตราดอกเบี้ยจ่าย 5% เท่ากัน สังเกตุว่าบริษัท A เกือบจะขาดทุนแต่บริษัท B ยังพออยู่ได้ ดังแสดงในตารางด้านล่างด้านขวามือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่ารายได้ลดลงมากกว่า 10%??? เพื่อนลองจินตนาการดูเอาเองนะครับ

3 ลักษณะของกิจการ
ที่ นี้เราก็จะมาดูกันนะครับว่าลักษณะของกิจการมันมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร กับเรื่องนี้กันครับ ผมคิดว่ากิจการที่เราควรจะระมัดระวังก็คือกิจการที่มีต้นทุนคงที่สูงและมี รายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่กิจการลักษณะนี้ก็จะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสูง ซึ่งสินทรัพย์ถาวรเหล่านี้จะใช้เป็นตัวสร้างรายได้หลักของกิจการ และโดยปกติก็จะต้องมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีการตัดค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคาที่สูงตามไปด้วย เช่น กิจการโรงแรม โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น

4 ความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
ถาม ว่าข้อนี้แตกต่างอย่างไรกับลักษณะของกิจการในข้อ 3 ผมคิดว่ามีความแตกต่างแน่นอนครับ เพราะลักษณะกิจการบางอย่างเป็นกิจการที่มีความจำเป็นและไม่ค่อยมีความอ่อน ไหวกับภาวะเศรษฐกิจมากนัก ลูกค้าไม่สามารถชะลอการใช้จ่ายได้นานมากนัก ทำให้รายได้มีความสม่ำเสมอและค่อนข้างมั่นคงมากกว่า เพราะเป็นสินค้าปัจจัย 4 เช่น โรงพยาบาล ห้างค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งก็ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่แตกต่างกับพวกโรงแรมหรือโรงงานปิโตรเคมีนั้น ค่อนข้างชัดเจนคือ ความสม่ำเสมอของรายได้ และความจำเป็นที่ต้องใช้

5 Utilization Rate
อัน นี้ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สาเหตุก็เนื่องจากถ้าหากกิจการมีอัตราการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ใกล้จะเต็ม กำลังแล้วนั้น กิจการจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ซึ่งต้องการเงินลงทุนในปริมาณสูงมาก และจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าเสื่อมราคามาลดกำไรลง เพราะกว่าที่สินทรัพย์ใหม่จะสามารถสร้างรายได้จนถึงจุด คืนทุนได้นั้นก็คงต้องใช้เวลาสักระยะขึ้นอยู่กลับลักษณะของกิจการ

สรุป แล้วในความคิดส่วนตัวของผมนั้น ผมไม่ชอบที่จะใช้ EBITDA ในการประเมินมูลค่าหุ้นมากนัก เนื่องจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่ายนั้น ผมคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายจริงๆที่เกิดขึ้น แต่ว่ากิจการได้จ่ายเงินสดในการลงทุนในสินทรัยพ์นั้นๆออกไปก่อนแล้ว เพียงแต่ในทางบัญชีอนุญาติให้บริษัทค่อยนำเอาค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาแบ่งหัก ออกเป็นค่าใช้จ่ายตามแต่วิธีที่กิจการเห็นว่าเหมาะสมในการเลือกใช้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะต้องถูกนำไปใช้ซื้อสินทรัยพย์ใหม่เข้ามาทดแทนของ เก่าที่หมดสภาพลงในอนาคตอยู่ดี แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรจะพิจารณาก็คือระยะเวลาและวิธีการที่ บริษัทเลือกใช้ในการตัดค่าเสื่อมราคานั้นมีความเหมาะสมกับอายุการใช้งานของ สินทรัพย์เหล่านั้นและสอดคล้องกับกลยุทธของบริษัทหรือไม่ และผมเห็นว่าเราควรที่จะนำเอา EBIT ไปใช้มากกว่าในการประเมินมูลค่าหรือวิเคราะห์กิจการ แทนที่จะนำเอา EBITDA ไปใช้ และก็ต้องใช้ประกอบกับอัตราส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น กระแสเงินสดอิสระหลังจากที่ได้ลงทุนในส่วนของการบำรุงรักษาและส่วนของการ เติบโตด้วย เป็นต้น และสุดท้ายคือ EBITDA นั้น ส่วนของ ค่าเสื่อมราคา (D) นั้นมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดในวันนี้ที่จะต้องถูกนำไปใช้ทดแทนหรือ ปรับสภาพสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือดีขึ้นในอนาคตเนื่องจากมี เทคโนโลยี่ใหม่มาทดแทนของเดิมที่อาจจะทำให้สินทรัพย์เดิมล้าสมัยเร็วกว่า เวลาอันควร โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นพวกเทคโนโลยี่หรือแม้กระทั่งธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี่ใน การผลิตที่ใครๆมีเงินก็หาซื้อมาใช้ได้

อ้างอิง
[1] green-orange , การนำเอา EBITDA ไปใช้และข้อจำกัด, http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51081

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สรุปความรู้ที่ได้จากงานเดินหมากลงทุนในหุ้นกับสุมาอี้ 25 มค.

เขียนสรุปโดยคุณ earthcu [1] แห่งเว็ปไทยวีไอครับ เกี่ยวกับการหาหุ้นที่มี long term growth ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยื่นนั่นเอง ถ้าอ่านบทความจะเห็นว่าบริษัทที่จะชนะในการแข่งขันจะต้องมีกลยุทธ์ที่ล้อกับความจุดแข็งหลังขององค์กรและคู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก เชิญอ่านโดยพลัน

เนื่องด้วยได้มีโอกาสไปร่วมงานเสวนาเดินหมากลงทุนกับสุมาอี้ ของ P’สุมาอี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้บางส่วน เผื่ออาจจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นบ้างครับ (รบกวนพี่ๆเพื่อนๆท่านอื่น ช่วย comment ด้วยครับ ถ้าผมจดผิดหรือเข้าใจในประเด็นที่วิทยากรสื่อสารคาดเคลื่อน)

1.การ ที่เราลงทุนในหุ้น long term growth นั้นประเด็นที่สำคัญคือการมองเพดานการเติบโตของธุรกิจนั้นว่ามีเพดานการเติบ โตว่าเยอะมากน้อยขนาดไหน

2.หุ้น long term growth นั้น ส่วนใหญ่จะได้ซื้อในราคาที่ไม่ถูกมาก (fair price) ซึ่งอาจจะต่างจากการลงทุนในแนว VI ที่นักลงทุนอาจจะต่อรองราคามากกว่า

3.ตัวอย่าง หุ้น long term growth นั้น เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า ซึ่งการที่จะเปิดสาขาเพิ่มนั้นไม่ได้ลำบากมากนัก ถ้าเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงกลั่นซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นเพิ่ม ทุนถ้าจะต้องสร้างโรงกลั่นใหม่ที่มีมูลค่าเป็น 100,000 ล้าน
อีกหนึ่ง ธุรกิจที่อาจจะเติบโตได้เรื่อยๆ คือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเหมือง, บ่อน้ำมัน ซึ่งสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นจากการการที่ไปหาบ่อ, แหล่งใหม่ๆ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทที่ทำกิจการรับเหมาก่อสร้างนั้น พอหมด project ก็จำเป็นที่จะต้องไปหา project ใหม่ เริ่มใหม่อยู่ตลอดเวลาทำให้การที่บริษัทจะโตในระยะยาวค่อนข้างลำบาก

4.Criteria นึงสำหรับการเลือกบริษัท long term growth ที่จะลงทุนนั้นคือการที่พยายามหาจุดแข็งที่บริษัทอื่นไม่มี ซึ่งถ้าเราเองยังนึกจุดแข็งไม่ออกก็ยังไม่ควรสนใจที่จะลงทุนในบริษัทนั้น

สำหรับ ตัวอย่างจุดแข็งของบริษัท เช่น PS สร้างบ้านแบบเดียวกันแต่สามารถทำราคาได้ถูกกว่าบริษัทอื่นประมาณ 15% (Cost leadership) เพราะมี Technology ในการก่อสร้าง ทำให้สามารถสร้างเสร็จได้ไว ควบคุมต้นทุนบริษัทได้ดี ซึ่งการที่บริษัทสามารถตั้งราคาขายของบ้านได้ถูกกว่าบริษัทอื่นก็ยิ่งเป็น ผลดีต่อความสามารถในการขายบ้านของบริษัทเพราะผู้บริโภคมีโอกาสกู้ซื้อบ้าน ผ่านได้เพิ่มขึ้น

5.อีก Critreria นึงในการเลือกบริษัทที่ long term growth คือการมอง Megatrend เช่นการมองว่าบริษัทไหนที่ผู้ใช้มีโอกาสเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เช่นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน การที่ประเทศจีนและอินเดียนั้นมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงนั้นทำให้มีคน ที่ขยับฐานะจากชนชั้นล่างขึ้นสู่ชนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้มีคนสามารถซื้อรถขับมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มากขึ้น
นอกจากนี้นั้นอีกธุรกิจนึงที่อาจ เกี่ยวข้องกับ Megatrend คือเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะโลกไร้พรมแดนในปัจจุบันนั้นทำให้ค่าเครื่องบินนั้นถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเดินทางที่มากขึ้น
แต่ก็อาจจะมีจุดอ่อนสำหรับการ มองเพียงแค่ Megatrend เพียงอย่างเดียวเพราะบางธุรกิจนั้นแม้ demand จะเพิ่มขึ้นจริงแต่ก็อาจจะมาพร้อมกับการแข่งขันที่สูง เช่นธุรกิจ Internet ISP (ในอดีต) เพราะมีการแข่งขันที่สูงมาก เนื่องจากในช่วงนั้นมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานเยอะมากทำให้เกิดการแข่งขันที่ ราคาเพียงอย่างเดียว สุดท้ายก็มีบริษัทจำนวนมากที่ล้มละลายไป หรืออีกตัวอย่างนึงคือธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นแม้ demand อาจจะเพิ่มขึ้นแต่ก็อาจจะประสบปัญหาในแง่บริษัทสายการบินเองก็มีการแข่งขัน ที่สูงมาก รวมไปถึงยังอาจจะประสบปัญหาจากปัจจัยอย่างอื่นเช่นปัญหาน้ำมันราคาแพงเป็น ต้น หรืออย่างธุรกิจโรงแรมเองนั้นก็อาจจะประสบปัญหาการแข่งขันที่สูงมากเนื่อง จากมีการเปิดใหม่ของโรงแรมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

6.สำหรับบริษัท ที่อาจจะมองว่าเป็น monopoly (ผูกขาด) ในบ้านเรานั้นก็อาจจะมีเช่นธุรกิจสนามบิน เพียงแต่ก็อาจจะมีปัญหาในแง่การบริหารจัดการองค์กรที่ค่อนข้างจะอึดอัด
หรือ อย่างอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในบ้านเรานั้นก็ถือว่า monopoly ในระดับนึง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้นั้นมองว่าการเกิดขึ้นใหม่ของโรงพยาบาลเองนั้นถือว่าเกิด ขึ้นค่อนข้างยากเนื่องจาก ถ้าตั้งโรงพยาบาลใหม่นั้นอาจจะต้องยอมขาดทุนเป็นระยะเวลาเป็น 10 ปี เพราะในช่วงแรกฐานลูกค้าของโรงพยาบาลยังไม่มากพอที่ทำให้เกิดการคุ้มทุน จึงทำให้ธุรกิจนี้นั้นส่วนใหญ่ใช้ Strategy ซื้อโรงพยาบาลมากกว่าการตั้งโรงพยาบาลใหม่ เพียงแต่ในปัจจุบันเองนั้นก็เหลือกลุ่มโรงพยาบาลที่จะให้ซื้อน้อยมาก ซึ่งสำหรับโรงพยาบาลนั้นนอกจากจะโตจากการซื้อกิจการก็อาจจะสามารถโตแบบ Organic growth คือการที่มีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการขึ้นค่ารักษาบริการของทางโรงพยาบาล

7.สำหรับการมอง Population trend นั้นในประเทศไทยเองอาจจะไม่ค่อย work สักเท่าไรเนื่องจากโดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย (ประมาณ 1%)

8.ในระยะหลังๆ ธุรกิจที่จะโตในบ้านเรานั้น ส่วนใหญ่จะโตมาจากการกิน market share ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจ modern trade เองนั้นสามารถโต 15% ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาที่นานจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการเดินซื้อของ ในตลาดสดมาเป็นซื้อที่ห้างแทน

9.สำหรับนักลงทุนนั้น ปัจจัยนึงที่ควรจะมองคือผู้บริหารของบริษัท โดยสังเกตจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารในช่วงอดีต แล้วเราก็มาดูว่าผู้บริหารสามารถบริหารบริษัทได้ตามที่เคยให้สัมภาษณ์หรือ ไม่ อาจจะต้องดูหลายๆปี รวมไปถึงมองว่าการที่ไม่สามารถทำตามที่เคยให้สัมภาษณ์นั้นเป็นเรื่องสุด วิสัยหรือไม่

10.หนังสือแนะนำของ P’สุมาอี้ คือ Beating the street ของ Peter Lynch และตีแตกของท่านอาจารย์นิเวศน์ (เล่มหลังนั้นอ่านแล้วอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่อ่าน)
ซึ่งการที่ เราเคยอ่านหนังสือในช่วงแรกๆของการลงทุน แล้วกลับมาอ่านใหม่ในอีก 2-3 ปีต่อมานั้นเราเองอาจจะเข้าใจในรายละเอียดมากขึ้น รวมไปถึงได้อะไรใหม่ๆจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นอีกรอบครับ

11.อาชีพ นักลงทุนนั้นจริงๆแล้ว % ประสบความสำเร็จเองนั้นก็มี % ที่น้อยใกล้เคียงกับอาชีพอื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะประสบความสำเร็จเราเองก็ต้องมีความพยายามแน่วแน่จริง จัง โดยดูจากข้อมูลของลูกค้าของ broker พบว่าในนักลงทุน 100 คนนั้นมีคนที่ไม่ขาดทุนเพียงแค่ 35 คน และสำหรับนักลงทุนเพียงแค่ไม่ถึง 10 คน ที่สามารถลงทุนจนสามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง

12.สำหรับการลงทุน นั้น P’สุมาอี้เองนั้นก็ไม่ได้มองว่าทุกกรณีต้องมาทำ DCF เนื่องจากการที่จะทำ DCF เองนั้นต้องใช้ข้อมูลและตัวแปรที่ใช้เป็นจำนวนมาก

13.สำหรับ sale growth นั้นเราควรที่จะสนใจ sale growth ที่เกิดขึ้นจากปริมาณการขายที่มากขึ้นมากกว่า การที่ sale growth เนื่องจากราคาขายที่เพิ่มขึ้น (การที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการขายนั้น เราอาจจะต้องไปลองหาข้อมูลจากข่าวของบริษัทเพราะว่าข้อมูลนี้นั้นอาจจะไม่ ได้แสดงอยู่ในงบการเงิน)

14.สำหรับวิธีการง่ายๆอย่างนึงในการหาข่าว ของบริษัทนั้น คือ การใช้ internet ในการหาข้อมูลจาก google โดยเพียงแค่ลองพิมพ์ชื่อของบริษัท ชื่อผู้บริหาร ก็จะทำให้เราสามารถหาข้อมูลของบริษัทได้มากขึ้น

ปล.เนื่องจากกว่าผม จะเดินทางจากชลบุรีมาถึงงานก็ประมาณ 6 โมงกว่าแล้ว ทำให้ผมไม่ได้ฟังตั้งแต่ช่วงแรกๆครับ (ขออภัยที่อาจจะนำมา share ให้เพื่อนๆทราบได้เพียงแค่บางส่วนครับ)

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจความรู้จาก P’สุมาอี้ สามารถเข้าไปอ่านความรู้ในการลงทุนเพิ่มเติมได้จาก http://dekisugi.net/

สุด ท้ายนี้ขอขอบคุณ P’สุมาอี้ มากๆครับสำหรับความรู้ดีๆที่นำมาฝากเพื่อนๆนักลงทุนเสมอๆ และขอขอบคุณ web thaivi ด้วยครับสำหรับคลังแห่งความรู้ในการลงทุนที่ช่วยทำให้เกิดนักลงทุนที่มีความ รู้มากมาย รวมไปถึงขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ที่มีสัมมนาการลงทุนดีๆให้ได้ไปเรียนรู้อยู่ ตลอดเวลาครับ

:bow:

อ้างอิง

[1]earthcu ,"สรุปความรู้ที่ได้จากงานเดินหมากลงทุนในหุ้นกับสุมาอี้ 25 มค." ,http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51092
ม.ค.

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ของงบการแสเงินสดกับวงจรชีวิตของกิจการ

บทความสอนอ่านงบกระแสเงินสดเขียนโดยคุณ chatchai [1] แห่งเว็ปไทยวีไอ สอนอ่านงบการะแสดเงินสด และไปเชื่อมโยงให้เห็นภาพของวงจรชีวิตของกิจการครับ


งบกระแสเงินสดนั้นจะเป็นงบที่แสดงการได้รับเงินสดและการใช้จ่ายเงินสดของกิจการ

งบกระแสเงินสดนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามกิจกรรมต่างๆของกิจการ ประกอบด้วย

1. กิจกรรมดำเนินงาน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามปรกติของกิจการ ดังนั้นรายการนี้จะสามารถบอกเราได้ว่ากิจการนั้นดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินสด รับมากกว่าจ่าย หรือว่าจ่ายมากกว่ารับ

2. กิจกรรมการลงทุน จะเป็นรายการที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตรต่างๆ และรายการที่ขายสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภท

3. กิจกรรมเกี่ยวกับการเงิน ทั้งการเพิ่มทุนจดทะเบียน การกู้ยืม/ชำระหนี้เงินกู้ยืม การจ่ายเงินปันผล

ดังนั้นการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดจะสามารถบอกเราได้ว่า สถานะของบริษัทนั้นอยู่ในประเภทใด

1. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมทางการเงิน เช่น การเพิ่มทุน การกู้ยืม และบริษัทมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การดำเนินงานยังไม่สามารถหาเงินสดได้เพียงพอในการขยายการลงทุนที่ยังคง มากอยู่

2. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมการลงทุน แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะการเติบโต ธุรกิจของบริษัทสามารถหาเงินสดได้แล้ว แต่ยังคงมีภาระที่จะขยายการลงทุนอยู่

3. ถ้าบริษัทมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน เช่น ชำระหนี้เงินกู้ แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะที่โตเต็มที่ ไม่มีภาระที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม

4. บริษัทจะมีเงินสดรับจากกิจกรรมดำเนินงาน และมีเงินสดจ่ายในกิจกรรมทางการเงิน คือ การจ่ายเงินปันผล แสดงว่าบริษัทอยู่ในสถานะ ห่านทองคำครับ คือบริษัทสามารถหาเงินสดจากการดำเนินงานได้ อีกทั้งยังไม่มีภาระการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนหรือการชำระหนี้เงินกู้ บริษัทจึงมีเงินสดเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

แล้วหุ้นที่เพื่อนๆลงทุนอยู่ในตอนนี้จัดอยู่ในประเภทไหนครับ

[1]chatchai ,งบกระแสเงินสดสามารถบอกวงจรชีวิตของบริษัท online : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=1096 

พัฒนาการของ Supply Chain Management

บทความของ อ. พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ครับจากหน้า facebook จดไว้กันลืมเหมือนเดิม

Supply Chain Management เป็นการบริหารธุรกิจแบบใหม่ ที่วิธีคิดและขอบเขตของการบริหารจัดการเริ่มฟักตัวและพัฒนา Concepts ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990s จุดเริ่มต้น SCM เกิดขึ้นกับบริษัทในซีกโลกตะวันตกที่มีปัญหาด้านซัพพลาย-ต้นทุนสินค้าตัวเองสูงสู้สินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมใหม่จากเอเชียไม่ได้ กลยุทธ์ในขณะนั้นของบริษัทญี่ปุ่นและสี่เสือเอเชีย (เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์) จะอาศัยต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่า โดยย้ายฐานผลิตมาในอาเซียน ช่วงเวลานั้นบริษัทและสินค้าของคนไทยได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถส่งสินค้าไปยังประ เทศอื่นๆมากขึ้นอย่างมาก แต่ก็เป็นสินค้า "Low Technology, Low Quality, Low Value Added, และ Labor Intensive ซะส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ อาหารแปรรูปและสินค้ารับจ้างผลิตพวก OEMs...

สำหรับช่วงปี1990s ที่เรื่อง SCM เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ บริษัทในซีกโลกตะวันตกกำลังสนใจกับเรื่อง Business Process Reengineering ของ Michael Hammer คำว่า"คิดใหม่ทำใหม่""คิดนอกกรอบ""Think out of box"หรือ"Breakthrough"เป็นแนวบริหารจัดการใหม่ในขณะนั้น บริษัทใหญ่ๆให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีบริหารจัดการ ที่จำเป็นจะต้อง Reengineering หรือ Change ขบวนการทำงาน หรือ Business Processes

ช่วง 1990s หลายๆบริษัทในฉีกโลกตะวันตกเริ่มสนใจวิธีการบริหารจัดการของบริษัทญี่ปุ่นที่ประสพความสำเร็จอย่างมากในขณะนั้น โดยเฉพาะบริษัท Toyota ในช่วง 1990s บริษัทตะวันตกเริ่มศึกษา Toyata System หรือ Just-in-time ของบริษัทญี่ปุ่นและตื่นตัวในเรื่อง Kaizen หรือ Total Quality Management

ขณะที่เวลานั้นในช่วงเดียวกัน บริษัทในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง..แม้ว่าต้นทุนถูกลงเนื่องจากย้ายฐานมาอาเซียน แต่ต้นทุนโลจิสติกส์แพงขึ้นมาก ช่วง 1990s บริษัทญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์ เริ่มพัฒนาฟังก์ชันโลจิสติกส์ตามบริษัทตะวันตก พร้อมทั้งยกระดับสินค้าตนเองให้สูงขึ้น

การเริ่มต้นสนใจด้านซัพพลาย(Supply Side)ที่ขาดประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน เป็นจุดเริ่มต้นของ Supply Chain Management ในช่วงทศวรรษ1990s ด้านซัพพลายใน SCM ณ.ขณะนั้นได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ และการจ้างบริษัทภายนอกผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนให้แทนทำเอง ทั้งในและนอกประเทศ คำว่า Procurement, Sourcing, หรือ Supply Management เกิดขึ้นในช่วงนั้น ส่วน Supply Chain Management เพิ่งจะเกิดขึ้นในวงวิชาการในมหาลัยใน USA

Conceptsในเรื่อง SCM ในช่วงฟักตัวหรือเริ่มต้นขณะนั้น จึงเน้นไปที่การตอบสนองดีมานด์ด้วยซัพพลายที่มีประสิทธิภาพ "Efficient Response" Efficient Response Concepts จึงเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อพูดถึง SCM โดยหัวใจในการบริหารจะเน้น การลดต้นทุน,เวลา,สต็อกในการตอบสนองลูกค้า Efficient Response Concepts จึงเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อพูดถึง SCM โดยหัวใจในการบริหารจะเน้น การลดต้นทุน,เวลา,สต็อกในการตอบสนองลูกค้า

การลดต้นทุน,เวลา,และสต็อกในด้านซัพพลายที่สัมพันธ์กับฟังก์ชันการจัดหา ฟังก์ชันการผลิตและฟังก์ชันโลจิสติกส์ จึงจำเป็นจะต้องบริหารจัดการร่วมกัน ขณะนั้น 1990s,การทำ Efficient Response ก็ส่งผลให้เกิด Best Practicesใหม่ๆเกิดขึ้น..บริษัทต่างๆอาศัยความสามารถและศักยภาพของซัพพลายเออร์แข่งขันตัวอย่าง Best Practices ขณะนั้นที่คำว่า SCM ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ได้แก่ Just-in-Time, VMI, Crossdock, Quick Response, Lean, DC เป็นต้น

ตย.บริษัทรถยนต์อาศัยซัพพลายเออร์ช่วยทำ JIT, ห้างสรรพสินค้า JC Penny อาศัยซัพพลายเออร์ช่วยทำ VMI, Walmart ทำ DC/Crossdock ร่วมกับซัพพลายเออร์

ตย. Dell computer อาศัยซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมด โดยตัวเองตั้ง DC และใช้ระบบ Assembly-to-Order ชนะ HP,IBM ซึ่งทำก่อน SCM เป็นที่ยอมรับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จุดกำเนิดเกิดขึ้นของ SCM เป็นเรื่องของ การแข่งขันที่มุ่งไปในองคาพยพด้านซัพพลาย ที่บูรณาการฟังก์ชันด้านซัพพลายเข้าด้วยกัน ฟังก์ชันซัพพลายหลักๆก็ได้แก่ Procurement, Manufacturing,และ Logistics นั้นเอง นอกจากนี้ SCM ก็ยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ่วมกับซัพพลายเออร์ ปลายทศวรรษที่ 1990s จึงเห็นพ้องกับชื่อ Supply Chain Management เพราะประเด็นหลักเป็นเรื่อง การบริหารฟังก์ชันธุรกิจที่สัมพันธ์กันในด้านซัพพลาย

อย่างไรก็ตามแม้ว่า SCM จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในช่วงเริ่มต้นทศวรรษที่ 2000 ก็เกิดข้อถกเถียงกันว่า "ขอบเขตกว้าง และไม่มีทฤษฎีรองรับ"

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สรุปความรู้จากการสัมมนาสอนเล่นหุ้นแบบ Super Exclusive

เป็นบทความที่เขียนสรุปจากคุณ earthcu  จาก thaivi ครับ ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51141

เป็นการสัมนาสัมมนา Super Exclusive ที่จัดขึ้นโดยคุณ hongvalue โดยมีวิทยากรหลัก คือ P’chinn, P’moomoo, K.hongvalue เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้บางส่วน เผื่ออาจจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นบ้างครับ (ผมขออนุญาตอธิบายตามความเข้าใจของผมครับ ถ้าผมเข้าใจในประเด็นที่วิทยากรสื่อสารคาดเคลื่อน หรือจดในส่วนเนื้อหาไม่ถูกต้อง รบกวนวิทยากรทั้ง 3 ท่านช่วยแนะนำด้วยครับ รวมไปถึงพี่ๆเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปร่วมงานในวันดังกล่าวช่วยแนะนำผมด้วยครับ)

ส่วนที่ 1 P’chinn share ความรู้และประสบการณ์การลงทุน
1.สิ่ง ที่สำคัญอย่างนึงสำหรับผู้ที่อยากประสบความสำเร็จด้านการเงินคือ การเขียนเป้าหมายให้ชัดเจน แม้ว่าบางทีเป้าหมายเองนั้นอาจจะดูว่าเป็นไปไม่ได้ก็ตาม และพยายามเขียนแผนเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นจริง โดยยกตัวอย่าง P’chinn เองก็จะมีการทำ file excel เพื่อ simulate ว่าในช่วงอายุเท่าไรจะมีมูลค่า port การลงทุนขนาดไหน รวมไปถึงเพื่อเปรียบเทียบว่าเทียบกับเป้าหมายเรายัง OK ไหม แล้วก็พยายามดูเป้าหมายบ่อยๆ เพื่อให้เกิดการซึมซับเข้าไปในจิตใจ ซึ่งจะทำให้เราเองพยายามคิดขวนขวายเพื่อจะให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดัง กล่าว

2.คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น แทบทุกคนจะเป็นคนที่พยายามลงทุนกับวิชาความรู้เป็นหลัก
เรา ควรที่จะเข้ามาตลาดหุ้นโดยที่ไม่ควรที่จะคำนึงถึงเรื่องเงินเป็นหลัก แต่เราควรที่จะนึกถึงความรู้เป็นหลักก่อน เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าความคิดมันใช่ เงินก็จะตามมาเอง

3.อธิบาย Case study เกี่ยวกับหุ้น PSL ในอดีต มีอยู่ช่วงเวลานึงนั้นเศรษฐกิจของจีนกำลังโต ทำให้เรือขาดแคลน จึงทำให้ค่าระวางเรือเองนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนั้น p’chinn เองก็นำค่าระวางเรือนั้นมาทำ forecase earning เพื่อคำนวณหามูลค่าหุ้น (โดยช่วงที่ p’chinn ลงทุนช่วงนั้นมองว่า Dividend ที่คำนวณได้มากกว่า 10%) ซึ่งหลังจากนั้นราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นไปหลายเท่าตามกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น

4.การ ลงทุนนั้น เราไม่ควรที่จะเชื่อใครง่ายๆ การที่จะเชื่ออะไรสักอย่างเราควรต้องพิสูจน์ก่อน รวมไปถึงเราไม่ควรมี bias เกี่ยวกับหุ้นบางตัวเพราะเราอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้กำไรจากหุ้นตัวนั้น

5.อธิบาย Case study เกี่ยวกับหุ้น JAS ในอดีต ช่วงนั้น JAS เอง Market cap ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่มีกระแสเงินสดประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า JAS เองค่อนข้างถูกมากในช่วงนั้น เปรียบเปรยเหมือนกับการที่เราซื้อตู้ ATM ในราคา 10,000 ล้านบาท แล้วตู้ ATM เองสามารถผลิตเงินสดให้แก่เราได้ปีละ 2000 ล้านบาท ซึ่งถ้าซื้อตู้ ATM นี้เพียงแค่ 5 ปี เราก็สามารถคืนทุนได้

6.ปัจจัย นึงที่ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นได้คือการที่บริษัทมีประเด็นหรือมีตัวเร่ง catalyst ยกตัวอย่างเช่นช่วงแรกๆ นั้น JAS ถือว่าเป็นหุ้นที่ถูกและดี เพียงแต่ยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะเป็นตัวผลักดันราคาของหุ้น จนกระทั่งการที่บริษัทดึง 3 broadband มาจาก TT&T ได้รวมไปถึง การที่บริษัทเองนั้นมีกระแสเงินสดที่ดีมาก แต่ช่วงนั้นเองก็ยังไม่มีการปันผล เพราะบริษัทเองนั้นยังมีขาดทุนสะสมอยู่ จึงทำให้มีกระแสเรียกร้องจากผู้ถือหุ้นเพื่อให้บริษัทเองทำการลด par เพื่อล้างการขาดทุนสะสมจนกระทั่งทำให้บริษัทเองสามารถปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมไปถึงประเด็นเรื่องการขาย TT&T ซึ่งเป็นตัวถ่วงผลการดำเนินงานของบริษัท (โดยส่วนตัวผมมองว่าสำหรับหัวข้อนี้เพื่อนๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือกุญแจ 5 ดอกของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าในบทที่ 4 : การระบุถึงตัวเร่ง Catalyst และประสิทธิภาพของตัวเร่ง ครับ)

7.เวลามองอะไร ควรจะมองไปให้เห็นภาพที่เป็นจริงของบริษัท อย่าไปติดกับดักในภาพหลอกของงบการเงิน เช่น JAS การที่บริษัทขาดทุนนั้นเกิดจากการที่ Write off หุ้น TT&T ทำให้กำไรน้อย ซึ่งถ้าปีต่อมาไม่เกิดเหตุการณ์นี้ก็จะทำให้กำไรของบริษัทนั้นโตขึ้น ทั้งๆที่จริงๆแล้วกำไรของบริษัทนั้นดีอยู่แล้ว
หรืออย่างกรณีการมองหนี้ ของบริษัท JAS ในอดีตนั้นเราควรจะมองให้เห็นความจริงว่าหนี้ก้อนไหนที่บริษัทแม่ต้องรับผิด ชอบ หนี้ก่อนไหนที่บริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบ

8.Case Study หุ้น DTAC ช่วงต้นปี 2554 P’chinn ทำการหาข้อมูลบริษัทที่ 1.)Dividend yield ดีๆ 2.)เป็นบริษัทที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งก็เจออยู่ 2 อุตสาหกรรม คือ ไฟฟ้า และสื่อสาร หลังจากทำการศึกษาก็เลือก DTAC เนื่องจากมองไปที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท รวมไปถึงการมองดูว่าคนรอบข้างเริ่มหันมาใช้ smart phone กันมากขึ้น ตอนนั้น ARPU (Average revenue per user) อยู่ที่ 200 กว่าบาท ซึ่งมีโอกาสปรับตัวได้เพิ่มขึ้นจากกระแสการเล่น internet (ปันผลช่วงนั้นประมาณ 7%) หลังจากทำ forecast แล้วมองว่ามีโอกาสที่ DTAC จะปันผลถึง 10% ณ ราคาตอนนั้น
ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือก ADVANC ในช่วงนั้นเนื่องจากมองว่า ADVANC มีการรีดเงินสดโดยการปันผลออกไปเยอะแล้วในขณะที่ DTAC เองมีกำไรสะสมและเงินสดอยู่ในบริษัทเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สมเหตุสมผลเท่าไร จึงคาดเดาว่าอาจจะมีปันผลพิเศษ จากกระแสเงินสดที่เหลือมากกว่าจะทำ 3G

9.สิ่ง หนึ่งที่นักลงทุนควรมองให้ละเอียดก่อนการลงทุน คือการพิจารณาเรื่องว่าเราจะปลอดภัยไหมจากการลงทุนนั้นๆโดยมอง Downside risk ของบริษัทให้ดีก่อนการลงทุน นอกจากนี้แล้วโดยปกติ P’chinn เองจะลงทุนในโอกาสที่มั่นใจ 100% (หวดทุกวงสวิง ที่มั่นใจเท่านั้น) หากโอกาสนั้นเป็นเพียงแค่ 50-50 ก็จะไม่พิจารณาลงทุน รวมไปถึงถ้าเราไม่เข้าใจในตัวกิจการที่มากพอ ก็จะไม่ลงทุนในบริษัทนั้นๆ

10.ประเด็น นึงที่ P’chinn เองมักจะใช้ข้อมูลนี้ในการทำ forecast ยอดขายของบริษัท คือการใช้ข้อมูล Demographic โครงสร้างประชากร เพื่อนำข้อมูลนี้มาใช้ในการคำนวณว่าต่อไปผู้บริโภคกลุ่มไหน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น (เช่นประชากรกลุ่ม Generation X,Y รวมไปถึงมองว่าประชากรกลุ่มดังกล่าวเองมีความสนใจในอะไรบ้าง เช่น Gen Y เองอาจจะสนใจใน Technology มากกว่าประชากรที่มีอายุสูงๆ)

11.สิ่ง หนึ่งที่นักลงทุนควรที่จะต้องระวัง คือการที่บางคนนั้นใช้วิธีมองว่าที่ผ่านมากำไรของบริษัทโตขึ้นกี่ % แล้วคิดว่าในปีต่อไปบริษัทเองจะกำไรโตเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนเองนั้นควรที่จะทำความเข้าใจในที่มากำไรของบริษัทนั้นๆก่อน ถึงจะสามารถคาดการณ์การเติบโตของกำไรของบริษัทได้ใกล้เคียงขึ้น

12.การ จะเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้นนั้น เราควรที่จะฝึกคิดวิเคราะห์จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรา เช่นการอ่านข่าวนั้นเราควรที่จะคิดตามว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นๆจะส่งผลให้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วบางกรณีอาจเป็นเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กำไรของบริษัทในตลาด หลักทรัพย์สามารถเติบโตได้

13.พึงระวังบริษัทที่มีลูกค้าเป็นลูกค้า รายใหญ่ เพราะยิ่งธุรกิจขยายตัวอาจจำเป็นที่ต้องให้ supplier credit เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนึงอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์บริษัทที่เป็นลูกค้านั้นเบี้ยวหนี้ บริษัทที่เราไปลงทุนทำให้เกิดความเสียหายหนักได้ ซึ่งจะค่อนข้างแตกต่างกับบริษัทที่ลูกค้าเป็นผู้บริโภครายย่อย เช่นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะต่อให้ลูกค้าบางคนไม่ยอมจ่ายค่าบริการ กำไรของบริษัทเองก็แทบไม่ได้กระทบกระเทือน

14.สำหรับผู้ที่อยากประสบ ความสำเร็จทางด้านการเงินนั้น บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องเอาความสุขของเราไว้ทีหลัง (อาจจะเป็นช่วงแรกๆของการลงทุน) โดยพยายามที่จะควบคุมรายจ่ายของตัวเรา เพื่อให้เหลือกระแสเงินสดที่จะสามารถนำมาลงทุนได้

15.นักลงทุนเองไม่ ควรที่จะโลภ เพราะการที่เราไม่โลภก็จะทำให้เราลงทุนด้วยความไม่รีบร้อน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เราเองก็จะลงทุนด้วยความไม่เสี่ยง

16.อย่าเชื่อว่าใครจะพูดอะไร คนที่เก่งกว่าเรานั้นมองยังไง
อย่าเชื่อว่าหุ้นตัวไหนดี หุ้นตัวไหนปั่น
ถ้าสิ่งที่คนอื่นเชื่อนั้นไม่จริง มันคือโอกาสของคุณ

17.ความ เสี่ยงคือ การที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ในประเด็นนี้คือการที่ทำให้มันรู้ โดยศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเราให้มากที่สุด เพื่อปิดความเสี่ยง

18.ผู้บริหารและเจ้าของ เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างนึงในการเลือกหุ้น โดยบางครั้ง ถ้าเรารู้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของผู้บริหารและเจ้าของเป็นยังไง ก็อาจจะทำให้เรารู้แรงจูงใจของพวกเขาในในบริษัท โดยถ้าผู้บริหารถือหุ้นในสัดส่วนที่เยอะก็มีโอกาสที่จะมีแรงจูงใจสูง

19.คนที่จะลงทุนโดยใช้ margin นั้น สิ่งที่สำคัญมากคือคุณควรที่จะมี Exit Plan ไม่งั้นคุณอาจจะพังพินาศเพราะการใช้ margin

20.พึง ระวังการใช้กำไรสุทธิเพียง อย่างเดียวในการวิเคราะห์หุ้น เพราะบางบริษัทอาจจะมีกำไรสุทธิเป็นบวก แต่ขาดกระแสเงินสดในการดำเนินงานทำให้บริษัทอาจจะล้มละลายได้

21.หนังสือ เล่มนึงที่ P’chinn อ่านแล้วมีความประทับใจนั้นคือหนังสือชื่อ good luck เป็นหนังสือที่คุณอ่านแล้วอาจจะได้เรียนรู้วิธีการสร้างโชคดีด้วยตัวคุณเอง (หนังสือเล่มเล็กๆสีฟ้าๆ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ผมชื่นชอบเช่นเดียวกันครับ)

22. ถ้าคุณอยากจะหาหุ้นตีแตกนั้น เราควรที่จะทำอะไรที่ละเอียดมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะเป็นการปิดความเสี่ยงต่างๆ ทำให้เราสามารถที่จะถือหุ้นอย่างสบายใจ เช่นศึกษาผู้ถือหุ้นใหญ่, พรบ, กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง (และเราควรที่จะต้องเขียนเป้าหมายว่าเราหวังอะไรจากบริษัทนั้น เช่น Dividend เองจะเพิ่มขึ้นเท่าไร แล้วเอาเป้าหมายนั้นมาดูในเวลาที่มีความผันผวนของราคาหุ้นของบริษัทสูงๆ เพื่อป้องกันการขายหุ้นนั้นเพราะความตกใจกลัว)

23.สำหรับการทำ valuation ของหุ้นนั้น ถ้าเป็นไปได้เราควรที่จะลอง simulate เหตุการณ์หลายๆกรณี เช่นการ valuation หุ้นบริษัทสื่อสารนั้น ถ้าประมูล 3G ปี 2555,2556,2557 จะส่งผลยังไง หรือถ้าไม่มีการประมูล 3G เกิดขึ้น มูลค่าหุ้นของบริษัทเองนั้นยังคุ้มที่จะลงทุนอยู่รึไม่

24.สำหรับ step การเลือกหุ้นมีดังนี้
หา Idea การลงทุน เริ่มหาข้อมูลบริษัท  ทำ forecast งบการเงิน จากข้อมูล 56-1 หรือการสอบถาม IR  ทำความเข้าใจบริษัท เพื่อปิดความเสี่ยงทั้งหมด หาคนตรวจสอบ idea การลงทุนคุณ ทำการตรวจแก้ model การลงทุนจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับ  เลือกลงทุนในบริษัท


สำหรับใน ส่วนที่ 2 ของ P’moomoo (P’หมง) share ประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ Margin รวมไปถึงการกู้เงินเพื่อมาซื้อหุ้นในอดีตนั้น ผมขออนุญาตนำกระทู้ที่ P’moomoo เคย post มา share เพื่อนๆ อีกรอบครับ น่าจะอธิบายได้เห็นภาพชัดเจนกว่าครับ (ขอบพระคุณ P’moomoo เป็นอย่างสูงครับ)
ที่มา viewtopic.php?f=1&t=43059&p=646260#p646260

“ของ ผมเริ่มเข้าตลาดก่อน subprime 1 ปีครับ เข้ามาเปิดดูในเวป thaivi ครับ ศึกษาข้อมูลย้อนหลังได้อ่านบทความและอดีตเห็น 3 ทหารเสือชุดแรกขึ้นเป็นหลายเท่าครับ ต่อมาหลังจากสามทหารเสือชุดแรก ผมก็มาได้อ่านเจอสามทหารเสือชุดที่สองครับ ผมเลือก ptl ถ้าจำไม่ผิดผมมาเริ่มซื้อตอนเริ่มแพงแล้วครับ ราคาประมาณ 6 บาทและเริ่มเก็บเพิ่มไปเรื่อย ๆ ครับ เก็บไปจนถึง 7 บาทกว่าครับ เก็บจนเงินหมด ไม่ซื้อตัวอื่นเลยครับ (นิสัยเสียมาก ๆ ครับ) ตอนนั้นทุกคนในเวปมองกันว่าน่าจะได้เห็นสองหลักครับ ทุกอย่างดูดีไปหมดครับ ทำไงดีตังค์หมดก็เปิดมาร์จิ้นเลยสิครับ ให้ MM 50% ด้วยครับ ยิ้มเลยครับ อัดเต็มพอร์ตซื้อไปจนถึง 7.5 บาทครับก่อนประกาศผลประกอบการ 1 วันครับ ประกาศเสร็จผมยังไม่รู้เลยครับ ว่ามันแย่ลงเห็นว่ากำไรน้อยลงนิดหน่อยไตรมาสหน้าจะดีขึ้น เปิดเช้ามาที่ 7.2 ครับหลังจากนั้นก็ลงมาตลอดครับ ไม่เป็นไรเราไม่ขาย ธุรกิจยังโอเค ไม่เป็นไรถือได้ (ลืมบอกครับว่าตอนนั้นผมเป็นบ้าขนาดเอาวงเงิน OD มาซื้อด้วยครับ เพื่อน ๆ ที่เคยคุยด้วยก็เตือนนะครับว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำยังไง ผมก็หลงตัวเองบอกว่ายังไงก็ไม่ต่ำกว่า 5.8 อยู่แล้ว เพราะถ้าต่ำกว่าจะโดน Call ครับ ถือได้ปีเศษเกิด subprime หุ้นลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน โดน call แน่ยังมั่นใจอีก เอาที่ดินที่มีไปจำนองแบงค์แบบเร็วมาซื้อหุ้นเพิ่มครับ เพราะเห็นว่าแค่ 5 บาทกว่าถูกจะแย่ซื้อเสร็จยังโอนเข้าไปค้ำประกันได้ 2/3 ของเงินสดอีกแนะ เรื่องอะไรหุ้นถูกขนาดนี้จะเอาไปใช้หนี้ สู้ดีซื้อหู้นดีกว่า คิดได้ดังนั้นก็ซื้อตลอดทางครับ ยิ่งซื้อยิ่งลง ตังค์หมดเอาตึกที่ร้านไปจำอีก ทำเหมือนเดิมครับเพราะไม่คิดว่าขนาด 4 บาทกว่าจะถูกขนาดนี้ ใครขายมาเนี่ยโง่จัง เราฉลาดจัง เป็นไงหล่ะครับ เหลือสามบาทกว่า เอารถสามคันไปจำแบบไฟแนนซ์นอกครับ ดอกแพงกว่าแบบในระบบเท่าตัวแต่ได้เงินภายในวัน แต่ต้องจอดรถกับเค้าไว้เลยครับ ลืมบอกไปผมเปิดร้านขายคอมตอนนั้นก็ดึงเงินจากหน้าร้านซื้อหุ้นเพิ่มทุกวัน เพื่อที่จะโอนหุ้นเข้าครับ สิ่งที่ได้ประสบการณ์คือยิ่งโอนหุ้นเข้าค้ำ เวลาหุ้นยิ่งลงตัวเงินที่โดน Call ยิ่งต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครับ เพราะหุ้นที่โอนเข้าไปค้ำมูลค่าลดลงครับ ตอนนั้นผมเจรจาหยุดจ่ายเจ้าหนี้การค้าทุกคนเลยครับ เป็นเวลาสองเดือน ยอมจ่ายดอกเบี้ยแต่ไม่หนี้นะครับ ผมโทรหาเจ้าหนี้ทุกคนแต่บอกไม่ได้ว่าเสียหุ้นครับ จนกระทั่งลงไปเหลือ 2.88 ครับราคานี้จำได้ดีเพราะผมจำนำและขายทุกอย่างเท่าที่ขายได้หมดแล้ว ผมทำได้สองทางครับ จะไล่ราคาหุ้นกลับเพื่อให้ไม่ต้องโดน force sell หรือจะขาย ผมตัดสินใจไล่ราคากลับครับ เพราะวอลุ่มบางครับ ถ้าผมขายราคาลงต่อก็โดน force sell อยู่ดีครับ ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ สมมติเริ่มต้นผมมี 100 บาทกู้มาร์จิ้น 100 บาท วันที่ราคาเหลือ 2.88 เงินผมเหลือแค่ 8 บาทครับ เพราะผมซื้อหุ้นแล้วโอนเข้าค้ำแทนที่จะใช้หนี้ตลอดทางขาลง ผมตัดสินใจผิดมหันต์ครับ เพราะไม่คิดว่าหุ้นจะลงได้ลึกขนาดนี้ บริษัทก็ดี ไม่ได้แย่ลง แต่ลืมนึกว่าตอนนั้นทุกคนต้องขาย บ้างก็โดน force ถ้าเงินใส่ไม่ได้ วันนั้นผมเลยตัดสินใจไล่ราคากลับครับ วัดดวงครั้งสุดท้าย จนราคาไปปิดประมาณ 3 บาทนิด ๆ ผมรอด force ครับ แต่ผมมีเวลา 5 วันในการหาเงินมาใส่ เพราะโดน call ครับ และมีเวลา 3 วันที่จะมาจ่ายค่าหุ้นที่ไล่ราคาครับ เพื่อน ๆ คงงงว่าทำไมผมไม่ตัดสินใจขายเพราะถ้าขาย ณ ตอนนั้น ราคาลดผมก็โดน force อยู่ดีครับ ยิ่งขายยิ่งแย่ดู่แล้วถ้าตอนนั้นหุ้นหมดแต่หนี้มาร์จิ้นหมดผมก็ยอมครับ แต่ดูแล้วถ้าโดน force หมดผมคงติดลบอีกบาน ต้องหาเงินใช้หนี้อีกทั้งชีวิตครับ สรุปว่าหาเงินจ่ายตลอด 2 เดือนครับ หยุดจ่ายเจ้าหนี้ จำนำและขายทุกอย่าง ขนาดทองหมั้นแม่ผมรู้ยังเอาทองของแฟนไปไว้ที่แบงค์กลัวผมเอาไปขายเลยครับ ผมโชคดีที่แฟนไม่ว่าอะไรซักคำ ไม่ด่าและช่วยเป็นกำลังใจให้ครับ หลังจากไล่กลับมาสามบาทเศษวันนั้น หุ้นก็ค่อย ๆ ปรับขึ้นวันละนิดครับ ผ่านไป 5 วันราคาก็ขึ้นมาเกินจาก call ครับ
ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นบท เรียนสอนให้รู้ว่าอย่ามั่นใจอะไรมากเกินไป อย่าโลภ อย่าลงทุนเกินตัว ถ้าผมกินเงินเดือนป่านนี้คงหมดตัวแล้วครับ ดีแต่ว่าค้าขายยังดึงเงินหน้าร้านมาจ่ายได้ สมมติว่าถ้าหุ้นฟื้นช้ากว่านี้อีกแค่สองวันหรือมีคนโดน force ลงมาอีกตอนนี้ผมคงเป็นคนล้มละลายแล้วครับ ขอเป็นประสบการณ์ให้คนที่ได้กำไร ณ ตอนนี้ระวังเรื่องมาร์จิ้นด้วยนะครับ อันตรายถึงชีวิตครับ และอย่าใส่ไข่ในตระกร้าใบเดียวครับ เพราะเวลาหุ้นลงสภาพคล่องหายขายไม่ได้ อยากขายก็ขายไม่ได้ครับ ตอนซื้อซื้อเยอะก็ต้องซื้อแพงอีกไม่มีอะไรดีเลยครับ ผมถือว่าผมยังโชคดีนะครับ แต่ผมไม่รู้ว่ารอบหน้าจะโชคดีแบบนี้อีกหรือไม่ หลังจากรอบนี้ผมตั้งใจจะเปลี่ยนทั้งเรื่องมาร์จิ้น เรื่องซื้อหุ้นตัวเดียว เรื่องมั่นใจในตัวเอง แล้วครับ”

โดยสรุปของ p’moomoo คือ
1.)ไม่ต้องรีบรวย ถ้ายังไม่เคยเจอวิกฤติในชีวิต

2.)การใช้ margin นั้นจะทำให้คุณจนลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้าคุณเลือกหุ้นผิดตัว

3.)การ ใช้ margin แล้วคุณลงทุนหุ้นเพียงแค่ตัวเดียวนั้น ถ้าหุ้นเองมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแล้วเกิดวิกฤตินั้นจะทำให้น่ากลัวมาก รวมไปถึงคุณเองอาจจะไม่สามารถที่จะ switch port ได้

4.)การที่ราคาหุ้นยิ่งลง แล้วเราจะยิ่งขายนั้น เป็นเรื่องที่ยากในการทำใจของนักลงทุนทั่วไป


สำหรับส่วนที่ 3 นั้น K.hongvalue share ความรู้มีรายละเอียดบางส่วนดังนี้ครับ

1.ข้อควรที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ margin
-Business ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจควรจะต้องต่ำ
-Financial Risk ความเสี่ยงทางด้านการเงินของบริษัทเองควรจะต้องต่ำ เช่นเดียวกัน
-Market Risk ซึ่งนักลงทุนหลายๆคนที่ไม่เคยผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเองอาจจะไม่ได้สนใจใน ประเด็นนี้ ซึ่งจริงๆแล้วการที่มีความไม่แน่นอนตรงนี้นั้นอาจจะทำให้หลายๆท่านที่ไม่ได้ คำนึงถึงจุดนี้อาจจะล้มละลายได้ครับ

2.K.hongvalue อธิบายเกี่ยวกับแง่คิดในการใช้ชีวิตว่า เรานั้นควรจะมองหาแง่ดีๆของคนที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับตัว เราเอง เพื่อที่จะทำให้เราได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

3.Criteria ที่สำคัญสำหรับการเลือกหุ้น Super Stock มีดังนี้ครับ
-Market Share
-Market Growth
-Profit Margin
โดย มองว่าบริษัทเองควรอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโต และควรที่จะต้องมี net margin ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่าง LH (ในอดีต) ใช้นโยบายสร้างบ้านเสร็จก่อนขาย ในช่วงที่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งช่วงนั้นเองผู้บริโภคเป็นจำนวนมากกลัวว่าจะซื้อบ้านแล้วจะไม่ได้รับบ้าน เนื่องจาก ช่วงนั้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เองก็ล้มละลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่ LH ใช้นโยบายดังกล่าวก็ส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ market share เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึง market growth ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของ gross profit margin และ net profit margin ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทสามารถโตได้อย่างต่อเนื่องหลายปีในช่วงเวลาดังกล่าว
ตัวอย่าง MINT (ในอดีต)
ใน อดีต MINT เองมีธุรกิจอาหารที่เติบโตสูง รวมไปถึงยอดนักท่องเที่ยวที่เติบโตสูงทำให้อีกธุรกิจหลักนึงของบริษัท MINT ซึ่งก็คือ ธุรกิจโรงแรมเองนั้นมี occupancy rate ประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูง รวมไปถึงช่วงนั้น MINT เองก็เริ่มมีการพัฒนา brand อนันตรา เพื่อรับจ้างบริหารธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นการใช้ Asset ที่ไม่มีตัวตนเพื่อใช้ในการหารายได้ของบริษัทอีกทางนึง ซึ่งจากหลายปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลต่อการเติบโตของกำไรของบริษัท ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไปหลายเท่า
CPALL เองก็โตจากการกิน market share ของโชวห่วย และการขยายสาขาของ 7-11 รวมไปถึงการที่ Profit margin ของบริษัทเองก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการที่บริษัทมุ่งเน้นไปยังธุรกิจการขาย สินค้าประเภทอาหารทำให้กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกัน

4.)การ ที่จะซื้อหุ้น super stock นั้นสิ่งนึงที่สำคัญก็คือการที่ซื้อหุ้นของบริษัทในช่วงที่ราคาไม่แพงจนเกิน ไป เพราะถ้าไปซื้อในช่วงที่ราคาสูงจนเกินไปนั้นก็อาจทำให้เราขาดทุนได้ ถ้ากำไรของบริษัทเองไม่ได้เพิ่มตามระดับความคาดหวังของนักลงทุน

สุด ท้ายนี้ขอขอบคุณ P’chinn สำหรับการให้ความรู้ที่มากมายกับเพื่อนๆนักลงทุน ขอขอบคุณ K.hongvalue สำหรับความเสียสละเพื่อที่จะจัดสัมมนาที่มีเนื้อหาดีๆครับ รวมไปถึงความรู้ที่มอบให้เพื่อนๆ ขอขอบคุณ p’moomoo สำหรับประสบการณ์อันล้ำค่าที่นำมา share ให้น้องๆทุกคนครับ และขอขอบคุณ web thaivi ด้วยครับที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ความรู้มากมายเกี่ยวกับการลงทุนครับ
:bow: