วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทำไม ROE จึงเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น

ทำไม ROE จึงเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น อ. sanpong limthamrongkul [1][2] ครับ

สำหรับคนที่เรียนวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินมาจะทราบว่า มีอัตราส่วนหลายตัว เช่นอัตราส่วนที่ใช้ดูสภาพคล่องมี Current ratio, Quick ratio อัตราส่วนที่ดูประสิทธิภาพหรือ อัตราส่วน turnover ต่างๆ เช่น A/R turnover, Inventory turnover, Asset turnover หรืออัตราส่วนที่ใช้ดูความสามารถในการทำกำไร เช่น Gross margin, Net margin, ROA, ROE อัตราส่วนการอยู่รอด เช่น D/E ratio, ICR เป็นต้น ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายๆอัตราส่วนที่มีอีกหลายสูตร

ในบรรดาสูตรอัตราส่วนทางการเงินตัวที่ถือว่าเด่นที่สุด เป็นสูตรที่สะท้อนค่าอัตราส่วนต่างๆหลายค่ารวมๆกันในตัวมันมากที่สุด คือ ROE (Return on Equity) = Net Income / Average Equity และถ้าใครที่ติดตามนักลงทุนแนว VI ทั้งไทยและต่างประเทศ หลายๆท่านจะใช้ ROE เป็นตัวหนึ่งในหลายๆเครื่องมือในการเลือกหุ้น เช่นดู P/E, PBV อัตราการเติบโตกำไรและ ROE เป็นต้น การจะใช้กี่ตัวคัดกรองก็แล้วแต่เทคนิคเฉพาะตัวของ VI แต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะคล้ายกันคือ ROE มักจะเป็นตัวหนึ่งที่ถูกนำมาใช้

ทำไม ROE จึงถูกเลือกมาใช้ในบรรดาอัตราส่วนที่มีอยู่มากมายหลายตัว ให้เหตุผลง่ายๆ อยู่ 2 ข้อหลักๆคือ
หนึ่ง ROE ตอบหลักการทางการเงินเรื่อง Maximize shareholders’ wealth ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเงินได้ดีกว่าการวัดด้วยอัตราส่วนการเงินอื่น
สอง ตัวมันเองมีองค์ประกอบอื่นหรือแยกเป็นอัตราส่วนการเงินอื่นๆ ได้ ตามหลักของ Du Pont Analysis ตัวมันเองจึงเหมือนค่าสรุปของอัตราส่วนหลักๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนค่า เกรดเฉลี่ย GPAX ของนักเรียน นักศึกษานั่นเอง

ในแนวความคิดของการบริหารการเงินสำหรับเศรษฐกิจทุนนิยมคือ Maximize shareholders’ wealth ซึ่งมีเป้าหมายคือ สร้างมูลค่าราคาหุ้นให้ดีทีสุดในการบริหารการเงิน ไม่ว่าจะเป็น short-term หรือ long-term ซึ่งแนวคิดนี้สำหรับคนที่เรียนทางการเงินมาจะทราบดี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี CAPM (Capital Asset Pricing Model), APT (Arbitrage Pricing theory), Capital Budgeting, Capital structure หรือ การหามูลค่าของเรื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น Futures, Options, Swaps เป็นต้น ทุกเรื่องทางการเงินล้วนตอบหรือนำไปสู่ Maximize shareholders’ wealth ทั้งสิ้น แม้ว่าปัจจุบัน จะขยายแนวคิดไปสู่ Shareholders’ value Creation เช่น VBM (Vale Based Management) ก็ตามแต่ก็ยังแฝงแนวคิด Maximize shareholders’ wealth อยู่ หากการบริหารกิจการได้ดีจริงแล้วสุดท้าย ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นต้องเพิ่มขึ้นในระยะยาว (ทั้งนี้ต้องถือเรื่องความโปร่งใสและการเปิดเผยรายงานทางการเงินถูกต้องเป็นพื้นฐาน) ดังนั้นทำไมเราจึงไม่ลงทุนในหุ้นที่มีความไม่ชอบมาพากลในการรายงานงบก่รเงิน เพราะผิดหลักการข้อแรกนี้แล้ว ย่อมเชื่อได้ว่ากิจการนั้นไม่ได้มุ่งสร้าง Maximize shareholders’ wealth ให้กับนักลงทุนทั่วไป การมี Good Governance (หลักธรรมาภิบาล) จึงเป็นจุดเริ่มที่ดี

ส่วนข้อสอง หลักของ Du Pont Analysis คือการพยายามแตกสูตรออก เมื่อพิจารณาจากสูตร ROE สามารถแยกออกได้หลายแนวทางคือ
ROE = NI / Equity = (NI/Sales) x (Sales/Asset) x (Asset/Equity)
ถ้าAsset/Equity = (Debt + Equity) / Equity = 1+D/E เรียกว่า Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยง

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือผลของ อัตรากำไรสุทธิ x อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ x ตัวคูณความเสี่ยง

ROE = NI / Equity = (NI /Asset) x (Asset/Equity)
ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือผลของ อัตรากำไรของสินทรัพย์ (ROA) x ตัวคูณความเสี่ยง

ROE = NI/ Equity = (NI/EBIT) x (EBIT/Sales) x (Sales/Asset) x (Asset/Equity) or

ROE = (Gross profit – S&A Expense – Interest&Tax)/Sales x (Sales/Asset) x (Asset/Equity)

ROE = (GM - %S&A- %I&T) x Asset turnover x Leverage Multiplier

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือ ผลของอัตรากำไร x อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ x ตัวคูณความเสี่ยง

จากการแตก ROE พบว่าการเพิ่มผลตอบแทนหรือนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ขึ้นกับ 3 เรื่องหลักๆคือ

  1. อัตรากำไร (ในทุกๆขั้น) ถ้าสูง ROE จะสูง
  2. อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ ถ้าสูง ROE จะสูง นั่นคือสินทรัพย์มีระดับที่เหมาะสม หรือส่วนใหญ่เป็น Performing Asset เช่นลูกหนี้หมุนเวียนดี สินค้าหมุนเวียนดี มีการลงทุนในบริษัทร่วมที่ทำกำไร ลงทุนใน PPE ที่เหมาะสม ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น GW, R&D ที่มากไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนทำให้ ROE สูงขึ้ง การมีลูกหนี้เก็บเงินช้า ลูกหนี้ก็จะหมุนช้า มึจำนวนมาก เทียบกับขายก็มีดี ก็มีผลรวมต่ออัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์รวมด้วย เป็นต้น สินทรัพย์อื่นก็อยู่บนตรรกะเดียวกัน
  3. โครงสร้างหนี้ต่อทุน อันนี้บางคนอาจรู้สึกจะขัดแย้งว่าโครงสร้างหนี้มากๆ ทำROE สูง จะดีอย่างไร ลองมาดูเหตุผลทางการเงินประกอบจะรู้ว่า มัน Balance ตัวเองได้โดยไม่ต้องห่วง Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยงนี้คือ 1+D/E เช่น บริษัทมี D/E = 1.2 ตัวคูณความเสี่ยงจะเท่ากับ 2.2 การที่บริษัทใช้เงินกู้มาบางส่วนถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นทุนการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) จะไม่มากเกินอัตราตลาดที่ควรได้รับ ผลคือ อัตรากำไรในข้อ 1 จะสูงอยู่ ถ้าระดับหนี้มากขึ้นต้นทุนจะยิ่งสูงขึ้นจะทำให้อัตรากำไรลดลง เพราะดอกเบี้ยจ่ายสูง ในเรื่องCapital structure อัตราการเพิ่มต้นทุนเงินกู้จะเป็นอัตราเร่ง ดังนั้นเมื่อหนี้มากเท่าไรอัตากำไรยิ่งลงเร็วมากขึ้น ซึ่ง ผลของการมี Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยง สูงๆ จะถูก offset ด้วยอัตรากำไรโดยอัติโนมัติ ดังนั้นใครที่คิดจะก่อหนี้มากๆ เพื่อสร้าง ROE เมิ่อถึงระดับดับหนึ่งจะทำลาย ROE เองโดยหลักทั่วไปของตลาดการเงิน บางบริษัทใช้วิธีการตีสินทรัพย์เพิ่มในส่วนทุนเพื่อดึง D/E ลง ถ้าจะลงมากๆ ต้องตีเพิ่มสูงๆ สินทรัพย์ยิ่งเพิ่มมาก E ยิ่งมาก แต่ Asset turnover ยิ่งลด ROE ก็ยิ่งลดเช่นกัน ดังนั้น D/E ดี แต่ ROE ไม่ดี ดังนั้นถ้ายึดหลักโดยเอา ROE เป็นตัวหลักจะช่วยกรองเอาความพยายาม ตกแต่งงบโดยมาตรฐานการบัญชีได้ระดับหนึ่งพอควร พวกที่ไม่ตัดหนี้สงสัยสูญกลัวกำไรลด ไม่ตีการด้อยค่าสินทรัพย์ Asset turnover ก็ฉุด ROE ทางอ้อมเอง ถ้าตีด้อยค่า ตั้งหนี้สงสัย หรือลดมูลค่าสินค้าลง สินทรัพย์ลด asset turnover เพิ่ม แต่อัตรากำไรก็ลดลง offset กันเอง กิจการที่ทำอะไรตรงไปตรงมาและถูกต้องมันจะไปได้เองโดยธรรมชาติ บริษัทที่ทำกลบัญชีมักจะมีจุดอ่อนหนึ่งคือ ROE 


และการใช้ ROE ในการคัดกรองนั้น ควรใช้ค่าเฉลี่ยราว 4-5 ปี จะดีกว่าปีล่าสุดปีเดียว ค่าปีล่าสุดที่สูงควรเทียบกับแนวโน้มว่า สูงขึ้น และค่า ROE ไม่ควรผันผวนมาก ค่า sd ของ ROE ไม่ควรมาก โดยเมื่อเอาค่า
ROE – sd x (1.96) จะได้ค่าประมาณกรอบล่างที่เป็นไปได้ ที่

ปีล่าสุดอาจจะสูงมาก แต่ถ้าหาค่าเฉลี่ย 4 ปีที่ผ่านมาอาจจะยังได้ไม่ถึงผลตอบแทนตลาด หุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์อย่างนี้จะยังไม่ใช่หุ้นที่จะเลือกลงทุนระยะยาว แต่อาจจัดไว้ในกลุ่ม trade ได้หากมีข่าวดีในระหว่างนี้

ค่า SD/AVG ใช้ดูว่าอัตราผันผวนขึ้นลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเป็นอย่างไร ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี (ต่ำกว่า 10-15% จะดีมาก) หุ้นบางตัวถ้าใช้ข้อมูลในอดีต จะมีทั้งบวกและลบสูงมาก หากภาวะเศรษฐกิจลง มีโอกาสที่จะขาดทุนมาก หุ้นนี้ถือเป็นหุ้นกลุ่มวัฏจักรดังที่เคยกล่าวมาก่อนหน้า ดังนั้นการฟื้นกลับของผลการดำเนินงานอาจต้องเข้าไปดูให้ลึก แต่ถ้า เอาแค่ trade ก็หา Price pattern หาจังหวะให้ดีเท่านั้นเอง

สมมติว่าลดทุนหรือซื้อหุ้นคืนล่ะ Equity ลดลงแน่ เพราะทั้งสองรายการส่วนทุนลดลง การลดทุนเพราะมีขาดทุนสะสมไม่กระทบเพราะมักลดทุนลงโดยตัดขาดทุนสะสมกับทุนหุ้นสามัญที่ออก แล้ว ROE ไม่ดีหรือ คำตอบคือไม่ เพราะการที่บริษัทมีขาดทุนสะสมมาแสดงว่า อัตรากำไรที่ผ่านมาติดลบจึงขาดทุนดังนั้น ROE ย่อยไม่ดีคือต่ำหรือติดลบ ดังนั้น แม้จะลดทุนก็ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้าง D/E จึงไม่มีอะไรดีขึ้นจากเดิม ดังนั้นการดู ROE ก็ยังคัดกรองได้

ส่วนการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เงินสดลด ทุนลด (เอาหุ้นซื้อคืนมาลบส่วนทุน) ดูแล้วน่าจะดีเพราะสินทรัพย์ก็ลด ทุนก็ลด บริษัทก็ยังมีกำไรดีอยู่เหมือนเดิม โดยคร่าวๆ วิธีนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นส่วนมากเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาให้ดีทางตรรกะ ก็ยังพบว่า ROE ยังใช้คัดกรองได้เช่นกัน การซื้อหุ้นคืนนี้บริษัทต้องเอาเงินสดบริษัทไปซื้อหุ้นบริษัมกลับ และอาจนำออกไปขายใหม่ (คล้ายกับระดมทุน แต่ใช้หุ้นเดิม) วิธีการบัญชีจะอย่างไรก็เถอะ ในแง่ที่ไม่ได้เป็นนักบัญชีอาจรู้สึกงงว่า มันจะไปมาอย่างไร ผมนักบัญชีรู้ครับแต่นักลงทุนรู้แล้วอาจยิ่งมีคำถามยิ่งมาก และอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่อยากจะรู้นัก

มาดูผลภาพกว้างจาก ROE ว่าสะท้อนอย่างไร โดยปรกติ บริษัทควรนำสินทรัพย์ไปลงทุนต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น หากบริษัทมีเงินเหลือ และถ้าสามารถเอาเงินไปลงทุนให้เกิดกำไรในอัตราที่มากกว่าเดิม (ROA) ก็ไม่ควรเอามาซื้อคืน เช่น ทุกสินทรัพย์ 100 บาท บริษัททำให้เกิดรายได้ขึ้น 120 บาท และมีกำไร 10% = 12 บาท ถ้าสมมติขณะนั้นมีสินทรัพย์ 1,000 บาท มี หนี้ 200 ส่วนทุน 800 เดิมมีกำไร 120 บาท บริษัทจะเอาเงิน 200 ไปซื้อหุ้นคืน จะเหลือสิทรัพย์ 800 หนี้ 200 ทุน 600 การเอาเงินสดออกไปซื้อหุ้นคืนทำให้บริษัทเสียโอกาสหารายได้ เช่นซื้อสินค้ามาขาย จ่ายค่าโฆษณาและอื่นๆ กระตุ้นยอดขาย แต่ยังคงอัตราการสร้างรายได้ที่ AT 1.2 เท่า และอัตรากำไรที่ 10% การซื้อหุ้นคืนนี้ทำให้บริษัมยังมีกำไร 9.6 บาท ROE (คิดง่ายๆไม่ถัวเฉลี่ย) ก่อนซื้อ 15% (120/800) หลังซื้อ 15% (9.6/600) ดังนั้นถ้าบริษัทคงความสามารถทำกำไร (อัตรากำไร) และประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ (AT Asset Turnover) คงเดิม ราคาก็จะคงเดิม แต่ถ้าการเอาเงินมาซื้อหุ้นคืนแล้วบริษัทสูญเสียโอกาสจากการใช้สินทรัพย์ในการสร้างรายได้ ROE จะลดลง โดย AT ลดลงหรือ อัตรากำไรลด หรืดลดทั้งคู๋ EPS จะลดลง หุ้นจะลง ดังนั้นบริษัทจะทำอะไรก็ตามสุดท้ายวัดที่ ROE และการดู ROE นี้ต้องดูยาวๆครับใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่นที่วัดสัก 5 ปีขึ้นไปจะเห็นแนวโน้มชัดเจนมากกว่าดูแบบปี ต่อปี

บางครั้งแม้จะไม่รู้บัญชีลึกซึ้งมากมาย มาตรฐานการบัญชีจะเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ แต่หลักการดู ROE เป็นเกณฑ์เบื้องต้นก็ยังใช้คัดกรองเบื้องต้นได้ ย้ำครับว่าคัดกรองเบื้องต้นได้ ที่เหลือก็ต้องดูเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น P/E, P/BV, Expectation Earning growth เป็นต้น บางใช้แค่ 3-4 ตัว ก็ได้หุ้นมาวิเคราะห์ต่อได้แล้วจากหุ้นที่มีหลายร้อยตัวในตลาด

เช่นภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ในด้านนักบัญชีอาจดูน่าตื่นเต้นเพราะมีผลกระทบต่อกำไร เช่นบริษัทที่มีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัด เมื่อลดภาษีลงก็จะทำให้ภาษีทางบัญชีต้องบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีมากขึ้น ในแง่นักลงทุนเราจะลงทุนบริษัทที่มี ROE ดีๆ สูงๆ ดังนั้นในแง่การคัดกรองหุ้น พวกนี้ตกรอบแรกแล้วถ้ากระทบต่อกำไรอย่างมีสาระสำคัญ แล้วก่อนหน้าล่ะ ถ้าบริษัทมีสินทรัพย์ภาษีรอตัดมากๆ AT จะไม่ดีอยู่แล้วเพราะสินทรัพย์จะไม่ได้ generate รายได้ พวกนี้ก็มักตกรอบคัดเลือกด้วยหลักคัดกรอง จึงไม่น่าพลาดมาลงทุนในบริษัทที่มีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีมากๆ เล็ดรอดก็มีสัดส่วนน้อยจนไม่น่ากังวล แต่ปกติสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีมักจะมีสัดส่วนไม่มากจนเป็นสาระสำคัญต่อ AT ในการวิเคราะห์จริงผมไม่ค่อยสนใจเท่าไรนัก

ส่วนหนี้สินผลประโยชน์พนักงานก็เช่นกัน พวกนี้มักมีสัดส่วนไม่มากจนกระทบโครงสร้างทุน ถ้ามากส่วนทุนก็จะลดเยอะ แต่ละปีก็อาจจะตั้งค่าใช้จ่ายมาก อัตรากำไรก็กระทบ ROE ก็แย่ พวกที่มีรายการนี้มากๆ อย่างมีสาระสำคัญก็มักตกรอบการคัดกรอง ที่ผ่านได้ ก็แสดงว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ

โดยสรุป ROE, จะสามารถใช้เป็นตัวคัดกรองได้ดีโดยดูร่วมกับ P/E และหรือ P/BV ว่าจะไม่ซื้อหุ้นราคาแพงไป และอาจดู Gross margin, Net margin, Asset turnover, D/E ประกอบด้วย แต่ผมจะเพิ่มเรื่องคุณภาพกำไรประกอบด้วย QE (Quality of Earning) = CFO/NI ควรมากกว่า > 1 อย่าลืมที่ว่ามาคือการคัดกรอง เลือกหุ้นต้องเอาพวกผ่านเข้าประกวดรอบตัดสินอีกทีนะครับ


ที่มา
 [1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200384941564562
[2]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200384943564612

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

P/E กับราคาหุ้น และการลงทุน

P/E กับราคาหุ้น และการลงทุน บทความดีฯจาก อ.sanpong limthamrongkul [1] ครับเชิญอ่านโดยพลัน
ดูจากกราฟของpost ก่อนหน้า P/E ตลาดหุ้นโดยรวม กราฟได้การอนุเคราะห์จาก Barton’s Global Market Trends
PE กับ SET

P/E ในกราฟ ถึงปี 2012 แต่ล่าสุด P/E ตลาดอยู่ที่ 18.38 (ณ 28/5/2013)

ถ้าใช้ EPS 4 ไตรมาสหลังสุดในการคำนวน P/E เราจะเรียกว่า “trailing P/E”
แต่ถ้าใช้ EPS พยากรณ์ไป4 ไตรมาสข้างหน้าในการคำนวน P/E เราจะเรียกว่า “projected or forward P/E”

Barton ได้แบ่ง P/E ออกเป็น 4 โซน คือ

  1. โซน P/E ถูก ซึ่งเกิดจากภาวะตลาดขาลงแรงๆ ที่ P/E ต่ำกว่า 6 เท่า
  2. โซน P/E ปกติ อยู่ในกรอบกว้างหน่อย คือ 6 ถึง 16 เท่า
  3. โซน P/E แพง เกิดจากภาวะตลาดกระทิง นักลงทุนแห่เข้ามาลงทุน กรอบอยู่ที่ 16-25 เท่า (ขณะนี้อยู่ในโซนนี้)
  4. โซน P/E แพงมากๆ เกินกว่า 25 เท่า (อันตราย) โซนนี้ เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา หุ้นไทย ไปแตะแค่ 3 ครั้งเท่านั้น

การดู P/E ย้อนหลัง 4 ไตรมาส จริงๆแล้ว ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าหุ้น หรือดัชนีนั้นถูกหรือแพงแบบเต็มปาก 100%

นักวิเคราะห์จึงพยายามคาดการณ์อนาคตของบริษัทโดยประเมินว่า 4 ไตรมาสต่อไป กำไรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งโดยปกติ บริษัทที่มี EPS Growth โตต่อเนื่อง จะมีค่า Forward P/E ต่ำ Historical P/E อยู่แล้ว (หรือ แปลว่า ค่า E ในอนาคต สูงกว่าในอดีตนั้นเอง)
ส่วนความถูกต้องแม่นยำของการวิเคราะห์กำไรนั้น นั้นก็เป็นหน้าที่ที่ต้องพิจารณากันเอาเอง ยังไงๆก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก 100% ว่า Forward P/E ถูก แล้วหุ้นน่าเก็บอยู่ดีเพราะในภาวะที่อะไรๆ ดูดีนั้น มักมีมุมมองในเชิงบวกสูง ทำให้ Forward P/E เกิด bias

ความสัมพันธ์ P/E, P/BV และ ROE

P/BV หาร P/E จะได้ = E/BV ซึ่งในที่นี้ E คือกำไรต่อหุ้น ส่วน BVคือมูลค่าตามบัญชีของส่วนผู้ถือหุ้นต่อหุ้น หากเราคิดง่ายโดยไม่ไปดูเรื่องค่าเฉลี่ยแล้ว P/BV หาร P/E ก็คล้ายกับค่า ROE นั่นเอง วิธีนี้ใช้ดูหยาบๆ แบบเร็วๆ หุ้นที่มี P/E ต่ำกว่า ในขณะที่มี P/BV เท่ากันหรือใกล้เคียงกันย่อมดีกว่า ปกติหลายคนอาจมอง P/BV ที่ต่ำๆด้วย ต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า หลักมาตรฐานการบัญชีปัจจุบัน ให้มีการปรับมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ไม่นำกำไรรวมในงวดปัจจับันแต่ให้รับรู้ในงบกำไรเบ็ดเสร็จแทน เช่น การตีมูลค่าเพิ่มในที่ดินอาคารและอุปกรณ์ การตีมูลค่าเงินลงทุนเผื่อขาย เงินลงทุนระยะยาวตามราคาตลาดยุติธรรม หรือแม้แต่การซื้อเงินลงทุนที่สูงมากจนมีค่าความนิยมสูงๆ รายการเหล่านี้ล้วนทำให้ P/BV ต่ำลงโดยไม่เกิดผลกำไรต่อธุรกิจ รายการเหล่านี้ทำให้ D/E ต่ำลงดูดีขึ้น ในทสงบัญชีเพียงต้องการให้แสดงมูลค่าสินทรัพย์สอดคล้องกับมูลค่าตลาดเท่านั้น มูลค่าที่สูงขึ้นดีในแง่ Liquidation or Breakup Value เท่านั้น แต่ราคาหุ้นส่วนมากอิงกับผลประกอบการ เรื่องมูลค่าเคยเขียนหลักการไว้ก่อนนี้บ้างแล้ว ดังนั้นการเรือกวิธีการประเมินราคาต้องใช้ให้ถูกจังหวะ

ค่า P/BV หาร P/E นี้ ใช้ดูเทียบเร็วง่ายๆ ระหว่างเทรดได้ด้วยว่า หุ้นที่มาเร็วมาแรงตอนนี้ เบื้องต้นมันมีอะไรดีจรงไหม จะเล่นตามและเร็วดีหรือไม่ เพราะขรธ trade ข้อมูล P/E และ P/BV หาง่ายมีให้ระหว่าง trade แต่ถ้าต้องไปเปิดงบดู ผมว่าบางทีเสียเวลา และหลายคนก็ไม่ไปเปิดด้วยซ้ำในเวลานั้น เอาแบบนี้ก็ง่ายและเร็วดี

ข้อคิดน่าสนใจจาก ปีเตอร์ลินท์


  • ผล ประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นอาจจะไม่มีความสัมพันธ์ในระยะสั้นหนึ่งเดือน หรือสองเดือนแม้กระทั้งสองหรือสามปี แต่ในระยะยาวผลประกอบการของบริษัทและราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กัน 100 เปอร์เซ็นต์
  • ถ้ายังหาหุ้นที่น่าลงทุนไม่ได้ จงอย่าลงทุนและนำเงินไปฝากธนาคารจนกว่าจะหาเจอ
  • ถ้าพูดถึงบริษัทขนาดเล็กคุณควรจะรอจนกว่าบริษัทมีความสามารถทำกำไรสม่ำเสมอ แล้วค่อยตัดสินใจลงทุน
  • ถ้าคุณอยากลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต จงลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสที่จะรอดจากช่วงวิกฤตได้เท่านั้น (อันนี้ต้องดูกันให้ดีๆ-ผู้เขียน)
ที่มา https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200384951924821

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความต้องการใช้ทองคำมีกี่ประเภท


ทองสี่เหล่า

มีคำถามเรื่องเกี่ยวกับ Demand ทองเข้ามาค่อนข้างเยอะ เลยเอาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Demand ของทองคำมาฝากกัน
ภาพแสดงความต้องการใช้ทองคำ

ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความต้องการใช้ทองคำหลักๆออกเป็น 4 กลุ่ม

1. กลุ่ม Jewellery เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้ทองคำจริง เพื่อการนำไปทำเป็นเครื่องประดับเพื่อจำหน่ายทำกำไรอีกที ความต้องการกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับความนิยมของสินค้าของตน เช่น สร้อยคอ แหวน กำไรข้อมือ เป็นต้น ส่วนราคาทองจะขึ้นจะลงถ้าของยังขายได้ก็ต้องซื้ออยู่ดี ไม่งั้นก็ต้องไปประกอบอาชีพอื่น แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยตุนทองไว้นานเพราะกำไรของกลุ่มเหล่านี้อยู่ที่มูลค่าเพิ่มของชิ้นงานที่ผลิต ไม่ได้อยู่ที่การเก็งกำไรทอง ส่วนมากเครื่องประดับทองเหล่านี้ตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย

2. กลุ่ม Technology เป็นอีกกลุ่มที่ต้องใช้ทองคำจริงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เช่น Intrigated circuit (IC) เป็นต้น ความต้องการกลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่ และถ้าเป็นไปได้จะพยายามลดการใช้ทองให้มากที่สุด (เพราะทองมันแพง)

3. กลุ่มผู้ซื้อทองเพื่อการลงทุน (Investment) เป็นผู้ซื้อที่ไม่ได้ต้องการใช้ทองจริง แต่ซื้อทองเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร ซื้อเพื่อป้องกันเงินเพ้อ ซื้อเพื่อกระจายการลงทุน กลุ่มเหล่านี้มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย กองทุนรวม กองทุน ETF กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedged Fund) กองทุนบำเน็จบำนาณ (Pension fund) เป็นต้น ความต้องการผู้ซื้อในกลุ่มนี้ค่อนข้างผันผวนคาดการณ์ยาก เนื่องจากผู้ลงทุนมีหลากหลายทั่วโลก และวัตถุประสงค์การซื้อก็แตกต่างกันไป เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สร้างความปวดหัวให้กับตลาดทองคำมากที่สุด

4. กลุ่มธนาคารกลาง (Central bank) ในสมัยโบราณที่สกุลเงินต่างๆยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ธนาคารกลางที่จะพิมพ์ธนบัตรออกมาให้ใช้จ่ายก็จะต้องสำรองทองคำเอาไว้รองรับเงินที่ตนเองพิมพ์ออกมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสกุลเงินของตน ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นมาใช้เงินทุนสำรองของประเทศมากขึ้น และทยอยขายทองคำออกมา ทีนิยมกันมาก็คงเป็นค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สกุลยูโร และสกุลเยน มาช่วงหลังๆประเทศเจ้าของเงินสกุลดังกล่าวขยันพิมพ์เงินออกมามากๆ ธนาคารกลางประเทศต่างๆก็เริ่มกลัวว่าเงินสกุลหลักเหล่านั้นจะกลายเป็นแบงค์กงเต็กในที่สุด จึงทยอยกลับเข้ามาซื้อทองเก็บ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีทองเป็นทุนสำรองต่ำ เช่น จีน และอินเดีย

ก่อนปี 2003 ที่กองทุนรวมทองคำ หรือกองทุน ETF ยังไม่แพร่หลาย Demand จากกลุ่มนักลงทุนมีน้อยมาก ความต้องการใช้ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่ม Jewellery เป็นหลัก มีกลุ่มเทคโลยีเล็กน้อย ส่วนกลุ่มธนาคารกลางทยอยขายโดยตลอดเนื่องจากทองไม่มีดอกเบี้ยจึงหันไปสะสมพันธบัตรรัฐบาลประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นแทน เนื่องจากธรรมชาติของกลุ่ม Jewellery และ เทคโลโลยีจะค่อนข้างสม่ำเสมอ การซื้อต้องพยายามซื้อให้ได้ราคาต่ำที่สุดเนื่องจากเป็นต้นทุนของสินค้าตน ไม่แย่งกันซื้อแบบไล่ราคา ทำให้ช่วงก่อนปี 2003 เป็นช่วงที่ราคาทองคำค่อนข้างมีเสถียรภาพ

หลังจากกองทุน ETF เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำกันสะดวกขึ้น ประกอบกับการเติบโตของบรรดา Hedge Fund ที่มุ่งเน้นการเก็งกำไร ทำให้ความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐปี 2008 ความต้องการทองคำพุ่งกระฉูดเพราะสหรัฐดำเนินนโยบายพิมพ์เงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศอื่นๆในโลกก็ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำปั๊มเงินออกมากู้ชาติเช่นกัน ทำให้นักลงทุนกังวลว่าค่าของเงินสกุลต่างๆที่พิมพ์ออกมาไม่หยุดหย่อนจะลดลง โดยเฉพาะสหรัฐ (คิดง่ายๆ เงินเยอะ ค่าน้อย เงินก็เฟ้อ) จึงแห่ตุนทองคำ ไม่ว่าจะเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ เก็งกำไร หรือกระจายความเสี่ยง (สำหรับผมแล้วคำเหล่านี้มันไม่ต่างกันเท่าไร เพราะทุกคนต้องการกำไรเพื่อมาชดเชยค่าของเงินที่ลดลง) ทำให้ราคาทองพุ่งทะลุโลกถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่ตลาดทองคำ จนในที่สุดธนาคารกลางประเทศต่างๆต้องหันกลับมาทบทวนเงินทุนสำรองของตนที่เคยขายทองมาซื้อพันธบัตร ก็เปลี่ยนกลับมาถือทองมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรมันต่ำเตี้ย และก็กลัวว่าเงินที่พิมพ์มาเยอะๆทำให้ค่าเงินสกุลที่ตนใช้สำรองอยู่มันจะลดลงฮวบๆ จึงกลับมาซื้อทองอีกทีตอนเกือบจะพีค โดยให้เหตุผลว่าเพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรอง (คำนี้อีกแล้ว) ส่วนกลุ่ม Jewellery เมื่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น เครื่องประดับก็เริ่มมีราคาแพงกำลังซื้อก็ลดลงไป กลุ่ม Jewellery จึงต้องหันไปใช้วัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่ามาแทนที่เพื่อลดต้นทุน เช่น เงิน พลอย และอัญมณี ทำให้ความต้องการทองคำของกลุ่มนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีหลังจากทุกคนตุนทองเพื่อรับมือเงินเฟ้อกันครบ เงินเฟ้อมันก็ไม่มาซะที ทั้งๆที่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐก็ขยันพิมพ์เงินกันออกมา คนก็ไม่เอาเงินมาลงทุนใช้จ่าย ดันเอากลับไปซื้อพันธบัตรทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำเตี้ยเรี่ยราด สถาบันการเงินก็กลัวตัวเองจะล้มหายตายจากเหมือนเลห์แมน บราเธอร์ ก็กอดเงินที่พิมพ์ออกมาไม่ค่อยจะไปปล่อยกู้ ผ่านมาสามสี่ปีเศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นช้าเหลือเกิน แต่เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ก็โตแบบพรวดพราด ในที่สุดนักลงทุนก็พบทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าในการป้องกันการลดลงของค่าเงินสกุลหลัก นั่นคือพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ และตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต ซึ่งสองอย่างนี้มีดอกเบี้ย มีปันผล มีการเติบโตของกำไร มี Reinvest return มีหลายๆอย่างที่ทองไม่สามารถให้ได้ ความต้องการทองเพื่อการลงทุนก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ

จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2013 นี้เองเป็นวันที่ "Margin Call" สำหรับตลาดทองคำ นักลงทุนเทขายทองคำออกมาอย่างรุนแรง กดราคาทองลงมาต่ำสุดๆ แถว 1323 เหรียญต่อออนซ์ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากวันนั้นนักวิเคราะห์เกือบทั้งโลกพูดไปในทางเดียวกันว่าทองคำได้เปลี่ยนไปเป็นขาลงเรียบร้อยแล้ว ราคาเป้าหมายต่ำๆเริ่มโผล่มา 1370 1200 1150 หรือ 1000 ก็มี แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอกแหละว่าทองคำมัน Valuation ยาก ใกล้เคียงสุดก็คงเป็น Marginal Cost of Production ซึ่งว่ากันว่าอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 เหรียญต่อออนซ์ที่ผมไปอ่านเจอตามเวปไซด์ต่างๆเขียนไว้ใกล้เคียงกัน จริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ผมก็ไม่ได้เทพขนาดจะบอกได้ว่าราคาทองคำจะตกลงไปได้ถึงขนาดไหน หรือจะดีดกลับไปทำ New high หรือเปล่า เพราะผมไม่ใช่เซียนใบ้หวย แต่ผมเชื่อว่าราคาทองคำที่ลดลงจะทำให้ความต้องการของกลุ่ม Jewellery กลับมาอีกครั้ง อย่างที่เราได้เห็นผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำแห่ไปร้านทองจนทองหมดร้านต้องแจกบัตรคิวกัน และมันก็ไม่ได้เป็นแต่ประเทศไทย ที่จีน ฮ่องกง และอินเดีย ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ตรงกันข้ามกับความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากกองทุนรวม ETF ที่ทยอยขายทองคำออกมาตลอดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทิศทางราคาทองคำจากนี้ไปคงจะถูกกำหนดโดยผู้ซื้อสองกลุ่มดังกล่าวเป็นหลักว่าใครจะอดทนกว่ากัน (แต่ถ้าดูจากที่อดีตผ่านมานักลงทุนเป็นกลุ่มที่มีความอดทนต่ำที่สุดใน 4 กลุ่ม) ส่วนกลุ่มธนาคารกลางที่เพิ่งกลับมาซื้อคงต้องทำใจนานหน่อยที่จะกลับมาขายราคาต่ำกว่าที่ซื้อไป เผลอถ้าเป็นธรรมเนียมประเทศแถวนี้ซื้อขายขาดทุนอาจถูกสอบสวนเอาซะด้วย 555+

สำหรับผมแล้วทองคำมันก็เป็นเงินสกุลหนึ่งที่ทุกคนในโลกมีสิทธ์จะเป็นเจ้าของได้ สามารถเอาไปแลกเป็นเงินได้ทุกสกุล ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีการเติบโต ไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีการแทรกแซง ไม่มีข้อจำกัดการเปลี่ยนมือ มูลค่าของมันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก เงินส่วนใหญ่อยากให้มันไปทางไหน มันก็เป็นไปในทางนั้นแหละ

"Gold is money, itself, and nothing else"
- JP Morgan 1912 -

หมายเหตุ ความต้องการทองคำในภาพไม่รวมถึงตราสารอนุพันธ์หรือหลักทรัพย์ที่อ้างอิงทองคำ