วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการอ่านงบการเงินแบบแกะรอย

เทคนิคการอ่านงบการเงินแบบแกะรอย บทความโดย คุณวิโรจน์ เฉลิมรัตนา [1][2] เขียนเกี่ยวกับการแกะรอยงบการเงินได้เป็นขั้นเป็นตอน ไล่เรียงเป็นข้อได้เห็นภาพชัดเจน

สรุปคร่าวๆดังนี้

  • อ่านรายงานผู้สอบบัญชี 
  • ดูโครงสร้างการจัดหาเงินทุน 
  • ดูการกู้ยืม ใช้ DE ratio ประกอบ
  • ดูผลการดำเนินงานในงบกำไรขาดทุน โดยใช้เครื่องมือคือ อัตรากำไรขั้นต้น และค่าใช้จ่ายแยกตามลักษณะในหมายเหตุประกอบงบเป็นตัวช่วย
  • ดูเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ เจ้าหนี้การค้า
  • ดูงบแสดงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ว่ามีการเพิ่มทุน ลดทุน ล้างขาดทุนสะสม ปรับมูลค่าสินทรัพย์? หรือไม่
  • ดูงบกระแสเงินสดว่าได้มา และใช้เงินไปทางไหนบ้าง
  • อ่านรายงานประจำปีประกอบ

เห็นภาพคร่าวๆแล้วก็เชิญอ่านบทความเต็มๆโดยพลัน

การอ่านงบการเงินแบบแกะรอยนั้น อาจกล่าว ได้ว่าไม่ได้อยู่ในสารบบและหลักวิชาการ แต่ผมเชื่อว่าเป็นวิธีการที่มีคนจำนวนมากใช้อยู่ในการทำความเข้าใจงบการเงิน โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบด้านการเงิน ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน และนักบัญชีหรือผู้สอบบัญชี คำว่าอ่านงบการเงินแบบแกะ รอยนั้น ไม่ได้เป็นศัพท์ที่รับรู้กันโดยทั่วไป เนื่องจากผมบัญญัติขึ้นใช้เรียกเพื่อให้ง่ายต่อการเผยแพร่ และเชื่อว่าน่าจะยังไม่มีการรวบรวมรูปแบบการอ่านงบการเงินแบบแกะรอยนี้ในที่ ใดมาก่อน

ที่พูดเช่นนี้ใช่ต้องการกล่าวอ้างแต่อย่างใด หากแต่ต้องการออกตัวไว้ก่อนว่า “การอ่านงบการเงินแบบแกะรอย”ที่ จะนำเสนอนี้ ไม่ใช่วิธีการที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการนักบัญชีและบรรดานักอ่านงบการเงิน ทั้งหลาย หากแต่ผมเห็นว่าเป็นวิธีการที่ผมใช้และพบว่าทำให้ค้นพบแง่มุมที่เป็น ประโยชน์ในการอ่านงบการเงินพอสมควร

ความหมายของการอ่านงบการเงินแบบแกะรอย


การ อ่านงบการเงินแบบแกะรอยในความหมายของผมนั้น คือการอ่านงบการเงินโดยตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ที่มาที่ไปของตัวเลขต่างๆที่ อยู่ในงบการเงิน และโดยการอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินประกอบเพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวและ กิจกรรมต่างๆของกิจการ และสุดท้ายนำไปสู่การมองภาพรวมของกิจการอย่างย่นย่อเพื่อให้เข้าใจการดำเนิน ธุรกิจ ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ

ลำดับวิธีการอ่านงบการเงินแบบแกะรอย


ผมได้ลำดับวิธีการอ่านงบการเงินแบบแกะรอยไว้โดยสรุปดังต่อไปนี้

ข้อควรคำนึงเบื้องต้น


1. การอ่านงบการเงินแบบแกะรอยนั้น ให้ไล่ลำดับการเลือกดูในจุดต่างๆไปเรื่อยๆตามที่จะกล่าวต่อไปในลักษณะแกะรอยตัวเลข โดยไม่ได้เริ่มต้นจากหน้าแรกไปจนหน้าสุดท้ายเหมือนการอ่านโดยทั่วไป

2. การ อ่านงบการเงินแบบแกะรอยที่ดีนั้น ผู้อ่านต้องทอนตัวเลขมากๆในงบการเงินให้เป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อให้สามารถเคาะตัวเลขแบบง่ายๆได้ นอกจากนี้ผู้อ่านงบการเงินแบบแกะรอยต้องใช้การลำดับให้เป็นเรื่องราวไปด้วย เช่น ให้คิดตามตัวเลขว่า ผู้ถือหุ้นของกิจการลงทุนในวันที่จัดตั้งบริษัทเป็นเงิน 5 ล้านบาท ไปซื้อที่ดินราคา 1.5 ล้านบาท สร้างอาคารราคา 4 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรราคา 2 ล้านบาท ทำให้ในงบมีเงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้น 3 ล้านบาท ซึ่งต่อมาเมื่อกิจการเริ่มดำเนินกิจการแล้วมีรายได้ได้ชำระเงินกู้ยืมจากผู้ ถือหุ้นไปบางส่วน ณ วันที่ในงบการเงินพบว่ามียอดเงินกู้ยืมดังกล่าวคงเหลืออยู่ 2 ล้านบาท เป็นต้น และปะติดปะต่อเรื่องราวเฉพาะประเด็นที่ทราบข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนใดไม่ทราบให้จดเป็นประเด็นคำถามไว้

3. ให้เน้นรายการที่มีสาระสำคัญเท่านั้น รายการเล็กๆน้อยๆ ให้ตัดทิ้งไปก่อน

อ่านรายงานของผู้สอบบัญชี


4. ให้ เริ่มต้นที่รายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งจะระบุงวดเวลาที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ ขอบเขตการตรวจสอบและความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชี ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร วิธีการตรวจสอบเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการสอบบัญชี ข้อจำกัดของผู้สอบบัญชี และที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นของผู้สอบบัญชี ว่า “งบการเงินนั้นถูกต้องตามที่ควรหรือไม่” การที่ผู้สอบบัญชีเห็นว่างบการเงินถูกต้องตามที่ควร เรียกว่า ผู้สอบบัญชีมีความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข

5.  คำว่า “งบการเงินถูกต้องตามที่ควร” นั้น หมายถึง ผู้สอบบัญชีจะใช้หลักความมีสาระสำคัญในการตรวจสอบ โดยไม่ได้ตรวจสอบทุกรายการ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ) แต่จะใช้วิธีการต่างๆ เช่น การสุ่มรายการเพื่อตรวจสอบ การวิเคราะห์เปรียบเทียบ เป็นต้น

6.  หากรายงานของผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแตกต่างไปจากการระบุว่า “งบการเงินถูกต้องตามที่ควร” แล้ว โดยปกติผู้สอบบัญชีจะอธิบายประเด็นที่ทำให้ความเห็นของผู้สอบบัญชีเป็นแบบมี เงื่อนไขนั้นไว้ด้วยว่า มีประเด็นใดและมีผลกระทบต่องบการเงินอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ผู้อ่านงบการเงินต้องให้ความสำคัญ และใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจาก เป็นประเด็นที่ผู้สอบบัญชีเห็นแตกต่างไปจากฝ่ายบริหารของกิจการ และบางกรณีเป็นประเด็นที่ไม่สามารถหาข้อสรุปที่ตรงกันได้

เริ่มต้นอ่านงบการเงินที่หมายเหตุข้อมูลทั่วไป


7.  เมื่อ ได้ดูความเห็นของผู้สอบบัญชีแล้ว (เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขหรือไม่) ถัดจากนั้น ให้เริ่มต้นดูหมายเหตุประกอบ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อกิจการ ธุรกิจหลักของกิจการ ที่ตั้ง ปีที่จดทะเบียนจัดตั้ง และข้อมูลอื่นๆ เช่น การหยุดดำเนินงานในบางส่วนงาน เป็นต้น หมายเหตุที่ให้ข้อมูลลักษณะนี้มักเป็นหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.

8.  บวกลบเพื่อหาจำนวนปีที่กิจการเปิดดำเนินกิจการมาแล้ว (บวกลบจากปีที่จดทะเบียนจัดตั้ง)

ดูโครงสร้างการจัดหาทุนของกิจการ


9.  ดูเงินลงทุนขั้นต้น ได้แก่ ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว (งบดุลในส่วนของผู้ถือหุ้น)

10. ดู สินทรัพย์ถาวรที่กิจการลงทุนไว้ และดูว่าเป็น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ แต่ละประเภทในจำนวนเงินเท่าใด (งบดุลด้านสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน โดยอ้างอิงหมายเหตุเรื่องนี้ที่มีรายละเอียดของราคาทุน และค่าเสื่อมราคา ค่าเสื่อมราคาสะสมของ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์)

11. ถ้า เป็นการดำเนินกิจการปีแรกๆ เราจะคำนวณได้เลยว่า ทุนของผู้ถือหุ้น 5 ล้านบาทนั้น ต้องนำมาลงในการจัดหาที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการเท่าไร และทุนดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ กิจการจัดหาเงินจากแหล่งอื่นใดเพิ่มเติม เช่น กวาดตาดูด้านหนี้สิน อาจจะพบ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือ เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้น หรือจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน เป็นต้น

12. การ ดูเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรนั้น ต้องมองที่ราคาทุน ไม่ใช่ราคาที่สุทธิจากค่าเสื่อมราคาสะสม เนื่องจากราคาทุนคือราคาที่กิจการจ่ายซื้อในครั้งแรก

ดูเงินกู้ยืม


13. อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินเกี่ยวกับ Terms and Conditions ของการกู้ยืมดังก ล่าว เช่น เงินกู้ยืมนั้นมีวงเงินกู้เท่าใด เสียดอกเบี้ยในอัตราใด มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนอย่างไร เป็นหนี้สินระยะสั้น หรือหนี้สินระยะยาว มีวงเงินกู้หลายชนิดหรือไม่

14. เรา อาจพบว่า กิจการมีวงเงินกู้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น วงเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงาน เพื่อซื้อเครื่องจักร นอกจากนี้อาจมีวงเงินกู้อื่นเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี หรือ เงินกู้ระยะสั้น วงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออก วงเงินสินเชื่อเพื่อการค้า การเปิดวงเงินแอลซี

15. เรา อาจพบว่า วงเงินสินเชื่อต่างๆนั้นมีภาระค้ำประกัน และมีการนำสินทรัพย์ถาวรของกิจการ เช่น ที่ดินไปค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ กล่าวคือ มีที่ดินของกิจการเป็นหลักประกันการกู้ยืม บางกรณีอาจมีการค้ำประกันโดยบุคคล เช่น กรรมการ ผู้ถือหุ้น และ/หรือ โดยสินทรัพย์ของผู้ถือหุ้น เป็นต้น

16. เรา อาจพบว่า เงินกู้ยืมที่กิจการจัดหามานั้น อาจมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางประการ เช่น กิจการต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า เป็นต้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขไม่ให้กิจการไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นเพิ่มเติมจนความ สามารถในการชำระหนี้ลดน้อยลง และอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถชำระหนี้แก่สถาบันการเงินที่ให้เงินกู้นั้นแก่ กิจการได้ ปกติสถาบันการเงินจะกำหนดการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนโดยดูจากโครงสร้าง หนี้สินต่อทุน ณ วันที่กู้ ประกอบกับการดูประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการเป็นเกณฑ์

17. เรา อาจพบว่า เงินกู้ยืมที่กิจการจัดหามานั้น อยู่ในรูปเงินบาท หรือเงินตราต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดหาเงินและอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดและความเสี่ยงที่ กิจการสามารถรับได้ และหากเป็นเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ กิจการอาจมีความเสี่ยง เรื่อง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นด้วย ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

คงจะต้องกล่าวส่วน ที่เหลือในคราวต่อไปครับ ซึ่งจะเป็นการดูผลการดำเนินงาน การดูโครงสร้างค่าใช้จ่าย การดูสินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักของกิจการ การดูงบกระแสเงินสด รายการนอกงบดุล หมายเหตุประกอบงบการเงิน และข้อมูลในรายงานประจำปี
การอ่านงบการเงินแบบแกะรอย (ตอนจบ)

ดูผลการดำเนินงาน


18.   ดู งบกำไรขาดทุน เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งงบการเงินจะวางตัวเลขเปรียบเทียบไว้ 2 ปี เสมอ (ยกเว้นงบการเงินปีแรก) ดูไล่ตั้งแต่ยอดขาย รายได้อื่น ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ ต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่สำคัญที่สุดคือ กำไรสุทธิ (หรือขาดทุนสุทธิ)



19.   เมื่อเห็นภาพรวมในงบกำไรขาดทุนแล้ว ให้คำนวณหาอัตรากำไรขั้นต้นของตัวเลขทั้ง 2 ปี โดยใช้สูตร

                (รายได้จากการขาย – ต้นทุนขาย) / รายได้จากการขาย = อัตรากำไรขั้นต้น เป็นร้อยละ (%)

เรา อาจทราบอัตรากำไรขั้นต้นของกิจการประเภทต่างๆ เช่น อัตรากำไรขั้นต้นของกิจการขายสินค้าโดยเฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 30 เป็นต้น กำไรขั้นต้นนี้เป็นส่วนที่เป็นผลต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนขาย และกำไรส่วนนี้ควรจะเพียงพอที่จะรองรับ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ของกิจการเป็นอย่างน้อย ไม่เช่นนั้น กิจการจะมีผลการดำเนินงาน ติดลบ หรือมีผลขาดทุนสุทธินั่นเอง



20.   เปรียบ เทียบสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งแต่ละกิจการอาจมีสัดส่วนดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วกิจการน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการขายน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการบริ หาร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำเกี่ยวกับการดำเนินงาน) นอกจากบางกิจการที่โครงสร้างค่าใช้จ่ายมีน้ำหนักเน้นไปในส่วนของการขาย เช่น บริษัทที่มีขนาดเล็กจำนวนคนน้อยๆ และมีค่าใช้จ่ายประจำไม่มาก เนื่องจากมีสำนักงานหรือออฟฟิศที่มีพื้นที่น้อย



21.   จากงบกำไรขาดทุนให้ข้ามไปหาหมายเหตุประกอบงบการเงิน เรื่อง ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ ค่า ใช้จ่ายตามลักษณะนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการซึ่งขึ้นอยู่กับว่า กิจการนั้นใช้ทรัพยากรอะไรในการดำเนินกิจการเป็นหลัก ปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายหลักของกิจการโดยทั่วไปมักได้แก่ เงินเดือนและผลประโยชน์พนักงาน ค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ ค่าเช่าอาคาร หรือหากเป็นกิจการผลิตหรือขายสินค้าแล้ว รายการซื้อวัตถุดิบ ค่าระวาง ค่าขนส่ง ก็อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการนั้น เป็นต้น

22.   การดูค่าใช้จ่ายตามลักษณะจะทำให้เราประมาณการกระแสเงินสดของกิจการนั้นในภาพรวมได้ง่ายขึ้น การดูค่าใช้จ่ายตามลักษณะจะช่วยให้เรามองเห็นภาพว่า ภาระค่าใช้จ่ายของกิจการนั้นมีอะไรบ้าง เช่น ในหนึ่งปี กิจการนั้นจะต้องจ่ายค่าเช่าอาคารเป็นจำนวนเงิน 2.4 ล้านบาท (แปลว่ามีภาระค่าเช่ารายเดือน 240,000 บาท) กิจการมีค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือนและผลประโยชน์พนักงาน 9.6 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยเงินเดือนค่าจ้างต่อเดือนเท่ากับ 800,000 บาท) ค่าเสื่อมราคา 1.2 ล้านบาท (ค่าเสื่อมราคาตกเดือนละ 100,000 บาท) ด้วยการวิเคราะห์ในลักษณะเช่นนี้ เราจะทราบได้ทันทีว่ากิจการนี้ควรมียอดขายไม่ต่ำกว่าเท่าใด (ต่อปี ต่อเดือน)  จึงจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้


ดูสินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลักของกิจการ


23.   หากในงบกำไรขาดทุนไม่พบอะไรสะดุดตา ก็ให้ข้ามกลับมาที่งบดุล โดยให้ดูสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานหลักของกิจการ ถ้าเป็นกิจการผลิตเพื่อขาย หรือซื้อมาขายไป สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหลัก จะได้แก่ ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิต ด้านหนี้สินได้แก่ เจ้าหนี้การค้า (ค่าซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้าคงเหลือ) เงินมัดจำรับจากลูกค้า เป็นต้น

24.   ดู หมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับบัญชีลูกหนี้การค้า บางกรณีกิจการอาจแยกจำนวนลูกหนี้การค้าตามอายุไว้ ก็จะทำให้เราเห็นภาพว่า ลูกหนี้การค้าของกิจการเป็นลูกหนี้การค้าที่คงค้างนานแล้วหรือไม่ ถ้าคงค้างนานเป็นจำนวนมาก จะมีโอกาสเก็บเงินได้หรือไม่ เราอาจพบว่า กิจการได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีรายได้จากการขายบางส่วนที่กิจการอาจเก็บเงินไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดผลขาดทุนที่ต้องรับรู้ไว้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลกำไรของกิจการ

25.   ดู ว่าสินค้าคงเหลือประกอบด้วยวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป และงานระหว่างทำ ในสัดส่วนเท่าใดบ้าง บางกิจการมีวัตถุดิบมากในขณะที่มีสินค้าสำเร็จรูปน้อย ย่อมแสดงว่ากิจการสามารถระบายสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วออกไปขายได้เร็ว ก็จะส่งผลดีต่อกิจการ มากกว่ากิจการที่มีสินค้าสำเร็จรูปจมอยู่จำนวนมาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดสินค้าที่หมดอายุ ด้อยคุณภาพ และต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินค้าในอนาคต

26.   ดูหมายเหตุประกอบงบการเงินในส่วนของนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับเกณฑ์ในการตั้ง ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือใช้วิธีการใด เช่น วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน หรือวิธีถัวเฉลี่ย หรือวิธีต้นทุนมาตรฐาน จำนวนที่กิจการตั้งค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้า เป็นต้น

27.   เมื่อ ได้แกะรอยงบการเงินมาจนถึงจุดนี้แล้ว เชื่อได้ว่า คุณคงมองเห็นภาพของกิจการนั้นๆได้ชัดเจนและครอบคลุมประเด็นสำคัญพอสมควรแล้ว ส่วนที่เหลือก็แล้วแต่กรณีว่า ในงบการเงินมีรายการอะไรน่าสนใจ หรือแปลกไปกว่าที่เคยพบโดยทั่วไปหรือไม่ ก็ให้ตามไปดูว่าเป็นรายการที่เกี่ยวกับกิจกรรมหรือรายการค้าอะไร

อ่านงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น


28.   จุด สำคัญของงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การเพิ่มทุน ลดทุน การจ่ายเงินปันผล การตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม (ซึ่งจะทำให้เกิด “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม” ที่นำมาบันทึกไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้น) ส่วนเกินมูลค่าหุ้น (ซึ่งเกิดจากการออกหุ้นในราคาสูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ หรือราคา Par) การกันสำรองตามกฎหมายเมื่อมีการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น

อ่านงบกระแสเงินสด


29.   งบ กระแสเงินสดจะช่วยให้เรามองเห็นกระแสเงินสดที่ไหลเวียนในกิจการในรอบบัญชี หนึ่งๆในภาพรวม โดยงบกระแสเงินสดจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาทุน การอ่านงบกระแสเงินสดให้ใช้วิธีไล่ว่า เงินสดรับที่เกิดจากการดำเนินงานเป็นบวกหรือไม่ เท่าใด ในปีนั้นมีการจัดหาเงินมาจากแหล่งใด และในปีนั้นมีการนำเงินที่ได้จากกระแสเงินสดจากการดำเนินกิจการหรือจากการ จัดหาเงินไปใช้ลงทุนในเรื่องใด หรือนำไปใช้หนี้เดิม

กวาดตาดูงบการเงินตั้งแต่ต้นจนจบ


30.   ให้ กวาดตาดูงบการเงิน ไล่ตั้งแต่ต้นจนจบอีกรอบหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ รายงานของผู้สอบบัญชี งบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงินทุกข้อ เราอาจพบว่ากิจการมีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น คดีฟ้องร้อง เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน และภาระผูกพัน ซึ่งหัวข้อเหล่านี้มักเป็นรายการนอกงบดุลที่กิจการอาจจะยังไม่ได้รับรู้ไว้ ในงบการเงิน ณ วันที่สิ้นงวดนั้นๆก็ได้

อ่านรายงานประจำปีประกอบงบการเงิน


31.   รายงาน ประจำปีมักเป็นส่วนที่ให้ข้อมูลต่างๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ งบการเงินจะเป็นข้อมูลทางการเงินที่ถือเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในรายงานประจำปี ในรายงานประจำปีจะมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ภาพรวมกิจการ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อกิจการ แผนงาน นโยบายในด้านต่างๆของกิจการ ประวัติคณะกรรมการ ประวัติผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ นโยบายและกิจกรรมด้านสังคมต่างๆของกิจการ กราฟแสดงราคาหุ้นของกิจการ ในรายงานประจำปีมักมีการสรุปตัวเลขสำคัญย้อนหลังมากกว่าในงบการเงิน เช่น ตัวเลขกำไรสุทธิย้อนหลัง 5 รอบบัญชี เป็นต้น

การ อ่านงบการเงินแบบแกะรอยนี้ หากจะให้ผลดี ผู้อ่านงบการเงินต้องมีความเข้าใจในโครงสร้างของงบการเงินพอสมควร อย่างไรก็ตาม งบการเงินเองก็มีคำอธิบายบัญชีต่างๆอยู่พอสมควร การไม่ดูเพียงตัวเลข แต่อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินประกอบ จะช่วยให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับบัญชีเกิดความเข้าใจความหมายของงบการเงินมาก ยิ่งขึ้น และจะพบว่า การอ่านงบการเงินไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่เคยรู้สึก

ที่มา
[1] http://alumni.tu.ac.th/accounting/index.aspx?id=415&hasp=m9gmud77txi1j698wo2gjmvqfcch6nhihwiy56ge05qd42c7oyx1

[2] http://alumni.tu.ac.th/accounting/index.aspx?id=418&hasp=ujn586xzekmijf5178p68a3cy6m2j5jah80x042m5slwf76gw9z

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ราคาและจุดกลับตัว

จะลงทุนห้รวยต้องดูจุดกลับตัวให้ออก ถนนของนักลงทุนเกือบทุนสายก็เฝ้าที่จะศึกษาการกลับตัวของราคาทั้งทางขึ้นและทางลง

P = ราคา
T = เวลา
(P2 - P1)/(T2 -T1) = Diff(P) =อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคา (V) เมื่อเวลาผ่านไป 1 คาบเวลา
(V2 -V1)/(T2 -T1) = Diff(V) = ความเร่งของการเปลี่ยนแปลงราคา (a) เมื่อเวลาผ่านไป 1 คาบเวลา
จุดสูงสุดคือจุดที่ ความเร่งของราคา (a) เท่ากับศูนย์
เมื่อทิศทาง(slope) ณ T ใดๆของค่า V และ a มีทิศทางตรงข้ามกัน (+/-) = จุดกลับตัวของราคา (Divergence)

ฟิสิกส์ ม.4 หรือมองเป็นภาพ

ช่วงแรกไม่ค่อยมีใครสนใจขึ้นช้าๆ
เมื่อหุ้นเริ่มซิ่ง ราคาเป็นขาขึ้น ด้วยความเร่งที่รุนแรงไม่กล้าเข้า
เมื่อหุ้นยังขึ้นต่อคนเริ่มแห่เข้ามา แต่สังเกตุว่าราคาเริ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง
เมื่อถึงจุดยอดอยู่ได้ซักพักมันก็จะกลับตัว
แล้วก็ขายไปหาตัวใหม่ที่กำลังจะกลับตัวเป็นขาขึ้น

นักลงทุนแนวหลายท่านใช้ความพยายามอย่างมากเพิ่อที่จะหาวิธีดูจุดกลับตัว คิดเครื่องมื่อมากมาย ตั้งแต่ RSI MACD STO หุ้นสูตรบัวพ้นน้ำ แนวรับแนวต้าน

นักลงทุนพื้นฐานก็ ใช้เรื่อง five force เพื่อบอกเทรนด์ทั้งสภาพการแข่งขัน คู่แช่งใหม่ อำนาจต่อรองลูกค้า อำนาจต่อรองผู้จัดส่งวัตถุดิบ สินค้าทดแทน เพื่อมองว่าหุ้นที่ถือยังไปต่อหรือไม่

หลายท่านก็พยายามหาหุ้นที่พื้นฐานกำลังกลับตัวเป็นขาขึ้น (turn around)

แต่สุดท้ายทั้งราคา และพื้นฐาน ก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย และไ่ม่อยู่ในอำนาจบังคับ เล่นหุ้นให้ไม่ขาดทุนต้องตังอยู่ในความไม่ประมาท

วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ของรายการตั้งสำรองกับงบการเงิน

ความสัมพันธ์ของรายการตั้งสำรองต่างกับงบการเงิน เป็นเรื่องที่ถ้าใครงงก็จะไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเกณฑ์คงค้างที่ต้องการปรับมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินให้เป็นมูลค่าปัจจุบันเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด ยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่งไม่ได้ทำมาหากินอะไร สิ้นงวดก็ตั้งสำรองอย่างเดียวดังตาราง (โหลดเป็นไฟล์ excel ไปเล่นได้ ปุ่มโหลดอยู่ตรงมุมขวาล่างคับผม)
 

A ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

มีหนี้อยู่ 100 ปีที่แล้วตั้งสำรองไป 5% ก็ 5 บาท ปีนี้ หนี้ก้อนเดิมดูว่าจะเก็บไม่ได้ ก็ตั้งสำรองเพิ่มเป็น 8% ของยอดหนี้ก็ 8 บาท การบันทึกคือ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 3 บาท

  • Dr(ที่ไปของเงิน) หนี้สงสัยจะสูญ 3 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 3 (สินทรัพย์ลด)
ส่วนในงบกระแสเงินสดรายการนี้ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดก็นำมาบวกกลับจากกำไร

B มูลค่าสินค้าคงเหลือสุทธิ

มีสินค้าคงเหลืออยู่ 100 ด้อยค่าไป 10 เหลือ 90 ระหว่างงวดซื้อเพิ่มอีก 20 ยอดเพิ่มเป็น 120 แต่วันปิดงบราคาสินค้าคงเหลือตกเหลือมูลค่าแค่ 80 บาท แสดงว่าต้องตั้งสำรองค่าเผื่อด้อยค่าสินค้าคงเหลือ = 120-80=40 แสดงว่าของเดิมด้อยค่าอยู่แล้ว 10 ในงวดนี้ต้องตั้งด้อยค่าเพิ่มอีก 30 

  • Dr(ที่ไปของเงิน) ด้อยค่าสินค้าคงเหลือ 30 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) ค่าเผื่อด้อยค่าสินค้าคงเหลือ 30 (สินทรัพย์ลด)
ส่วนในงบกระแสเงินสดรายการนี้ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดก็นำมาบวกกลับจากกำไร

C กำไร (ขาดทุน) จากการขายสินทรัพย์

สินทรัพย์มูลค่า 100 ขายไป 80 ขาดทุน 20
  • Dr(ที่ไปของเงิน) เงินสด 80 (สินทรัพย์เพิ่ม)
  • Dr(ที่ไปของเงิน) ขาดทุนจากการขายทรัพย์สิน 20 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) ที่ดิน อาคาร์ อุปกรณ์ 100 (สินทรัพย์ลด)
ส่วนในงบกระแสเงินสด นำขาดทุนจากการขายทรัพย์สิน 20 มาบวกกลับใน CFO และนำเงินสดรับทั้งก้อน 80 มาบวกใน CFI

D ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์

ที่ดินอาคารอุปกรณ์มูลค่า 500 บาท สิ้นปีวัดมูลค่าเหลือ 450 เท่ากับสินทรัพย์มูลค่าลดลง 50บาท
  • Dr(ที่ไปของเงิน) ขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 50 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) ค่าเผื่อด้อยค่าสินทรัพย์ 50 (สินทรัพย์ลด)

E กำไรจากการลดหนี้

สินปีเจ้าหนี้ลดหนี้ให้จาก 180 เหลือ 100  ทำให้เกิดกำไรจากการลดหนี้เท่ากับ 80
  • Dr(ที่ไปของเงิน) หนี้สิน 80 (หนี้ลด)
    • Cr(ที่มาของเงิน) กำไรจากการลดหนี้ 80 (รายได้เพิ่ม)
ในงบกระแสเงินสดนำรายการนี้หักออกเพราะไม่ได้รับมาเป็นเงินสด

F สำรองคดีความฟ้องร้อง

อยู่ดีๆโดนฟ้อง 50 บาท ด้วยความระมัดระวังต้องตั้งสำรองเป็นหนี้สินไว้ก่อน
  • Dr(ที่ไปของเงิน) สำรองคดีความฟ้องร้อง 50 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) หนี้สินคดีความฟ้องร้อง 50 (หนี้เพิ่ม)

G ดอกเบี้ยจ่าย

จากหนี้ 180 บาท ดอกเบี้ย 10% ต้องจ่ายเงิน 18 บาท
  • Dr(ที่ไปของเงิน) ดอกเบี้ยจ่าย 18 (รายจ่ายเพิ่ม)
    • Cr(ที่มาของเงิน) เงินสด 18 (สินทรัพย์ลด)
ในงบกระแสเงินสด นำดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นเกณฑ์คงค้างมาบวกกลับใน CFO และนำไปหักออกใน CFF เพราะดอกเบี้ยควรเป็นรายจ่ายที่มาจากการจัดหาเงินไม่ใช่ดำเนินงาน