วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มเดินเรือ

บริษัทที่ทำธุรกิจเดินเรือเป็น cycle stock ที่ผลประกอบการถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนากซะเยอะ ถ้าปัจจัยภายนอกดีเดียวกำไรก็โตราคาวิ่งกระฉูด ธุรกิจพวกนี้รายรับขึ้นกับดัชนีค่าระวางเรือ ต้นทุนที่ขึ้นกับราคาน้ำมัน คู่แข่งก็เข้ามากันง่ายๆเห็นค่าระวางเรื่อสูงๆ กำไรดีก็สั่งต่อกันเยอะแยะ แล้วก็มาตัดราคากัน

ธุรกิจสายเรือจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

เรือที่แล่นในตลาดหุ้นไทยสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทหลักๆคือ เรือเทกอง กับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ รายรับจะขึ้นๆ ลงๆ ตามดัชนีครับ
  • ถ้าจะเล่นหุ้นที่เป็นเรือเทกอง (tta, psl) ดัชนีที่เกี่ยวข้องก็คือ
    • BDI (Baltic Dry Index)
  • ถ้าจะเล่นหุ้นที่เป็นเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (rcl) ดัชนีที่เกี่ยวข้องก็คือ
    • HRCI (Howe Robinson Containership Index)
    • CCFI (China Containerize Freight Index) **
    • SCFI (Shanghai Containerize Freight Index) **
สำหรับ RCL เขาว่าให้ดู CCFI, SCFI  เพราะส่งไปจีนเยอะ

เรื่อง demand supply ของเรือก็ต้องใส่ใจ

นอกจากต้องเกาะติดเรืองดัชนีค่าระวางเรือแล้วก็ต้องติดตามอัตราการสั่ง ต่อเรือด้วย ช่วงที่ค่าระวางสูงๆคนก็สั่งต่อเรือกันยกใหญ่จนตอนนี้เรือมีเป็นจำนวนมากจึง เกิดภาวะ over supply เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินงาน ต้องรอให้จำนวนเรือสั่งต่อน้อยลงเรื่อยๆ และผู้เล่นรายเล็กหายไปจากตลาดแหละครับ ผู้ที่ใหญ่กว่าจะอยู่ได้
สู้ต่อไปสายเรือทั้งหลาย
แต่น้องสละเรือไปก่อนละ รอเศรษฐกิจโลกดีๆ ค่าระวางพุ่ง สายเรือเล็กล้มละลายเยอะๆ เดี๋ยวเจอกัน เหอเหอ

เรื่อกับเหล็ก

เหล็กมันหนักก็ต้องขนทางเรือครับ เรือเทกองจะได้ประโยชน์ ช่วงไหนตลาดเห็นเหล็กขึ้นก็จะไปเกร็งเรือเทกองกันครับ เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์

เรียบเรียงจากเว็ป thaivi http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51683

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์วงจรเงินสด (Cash Cycle) ของกิจการ

Cash Conversion Cycle (CCC) หรือ บางครั้งเรียกง่าย ๆ ว่า Cash Cycle หรือ วงจรเงินสด นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาสภาพคล่องของกิจการ โดยตัวเลขที่ได้ เป็นตัวเลขสมมุติให้ผู้บริหารพอมีไอเดียเกี่ยวกับการใช้เงินสดของตนว่าบริษัทใช้เงินสดลงทุนซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้าหรือซื้อสินค้ามารอในสต๊อกจนกระทั่งมีการขายออกไปและสามารถเก็บเงินลูกค้าได้เงินสดกลับมา หมดสิ้นขั้นตอนนี้ใช้เวลากี่วัน บางบริษัทก็อาจมีวงจรเงินสดที่ยาวมาก บางบริษัทอาจสั้น หรือถึงขนาดติดลบก็มี

ผู้เขียนขอพูดถึงวิธีคำนวณอย่างง่าย เพื่ออธิบายแนวความคิดสำหรับผู้เริ่มต้น แต่หากต้องการลงลึก อยากให้ผู้อ่านไปศึกษาต่อถึงวิธีการคำนวณที่ละเอียดถูกต้องกว่านี้ วิธีอย่างง่ายคือ

Cash Cycle (วัน) = Inventory Conversion Period (ICP) + Receivable Conversion Period (RCP) - Payable Conversion Period (PCP)

ระยะเวลาขายสินค้า Inventory Conversion Period (ICP)

ICP นั้นคือการพิจารณาว่าบริษัทผลิตสินค้าแล้วขายออกไปได้ภายในกี่วัน คำนวณจาก Inventory / (Cost of Goods Sold/365) โดย Inventory คือสินค้าคงคลังเฉลี่ย เราหาได้จากงบดุล หารด้วยต้นทุนสินค้าขายต่อวัน ก็จะทำให้เราทราบว่า จำนวนสินค้าที่ผลิตหรือซื้อมาเตรียมขายนั้นสามารถถูกขายไปได้หมดภายในกี่วัน นอกจากเราจะเอาตัวเลขที่ได้นี้ไปใช้คำนวณ Cash Cycle แล้ว ในเบื้องต้นเรายังสามารถพิจารณาได้อีกว่า จำนวนวันขายที่ว่านี้มันเหมาะสมหรือไม่ เช่นหากสินค้าที่เราขายนั้นเป็นสินค้าที่มีโอกาสตกรุ่นทุก 6 เดือน แต่เราคำนวณวันขายออกมาได้ 300 วัน แสดงว่าบริษัทนี้มีปัญหาขายของในสต๊อกไม่ทันตกรุ่นแน่นอน หรือในทางตรงกันข้าม จำนวนวันขายที่คำนวณออกมาต่ำเกินไปก็อาจแปลว่า บริษัทบริหารแผนผลิตไม่ดีและมีสินค้าไม่พอขายเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่บริหารการผลิตแบบ Just in Time อาจมีจำนวนวันขายที่สั้นมากเพราะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา หรือธุรกิจค้าปลีกที่ซื้อมาขายไป ด้วยระบบคลังสินค้าแบบ Cross Docking ที่รับมาแล้วส่งต่อไปยังร้านสาขาและวางจำหน่ายบนชั้นสินค้าให้ไวที่สุด อย่างพวกร้านสะดวกซื้อ หรือร้านหนังสือ ก็อาจจะมีจำนวนวันขายที่สั้นมากได้ ซึ่งแบบนี้ถือว่าดี

ระยะเวลาเก็บหนี้ Receivable Conversion Period (RCP) 

สำหรับ RCP (Receivable Conversion Period) นั้นคำนวณจาก Receivable / (Sales/365) หรือ จำนวนลูกหนี้การค้าที่หาได้จากงบดุล หารด้วย ยอดขายจากงบกำไรขาดทุน ปรับให้เป็นยอดขายเครดิตต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารทราบว่า บริษัทสามารถเก็บหนี้เฉลี่ยได้ภายในกี่วัน โดยนอกจากประโยชน์ในการเอาไปรวมคำนวณ Cash Cycle แล้ว เบื้องต้นยังสามารถพิจารณาตัวเลขว่ามันเหมาะสมกับธรรมชาติธุรกิจหรือไม่ เช่นหากนโยบายบริษัทระบุไว้ว่าให้เครดิตลูกค้าไม่เกิน 45 วัน แต่ตัวเลขวันเก็บหนี้ที่คำนวณได้นั้นเกินไปมาก เช่น 70 วัน นั่นอาจแปลว่าบริษัทมีปัญหาในการเก็บหนี้ และการขายได้มากแต่ทำให้วันเก็บหนี้ยาวขึ้น จะทำให้เงินสดของบริษัทถูกดึงเข้าไปหมุนในระบบมากขึ้นและนานขึ้น ไม่ได้หมุนกลับเป็นเงินไหลเข้ามาเสียที และสุดท้ายอาจทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องได้

โดยเฉพาะอย่าลืมว่า เงินสดของบริษัทนี้มีต้นทุน WACC แต่เครดิตที่ให้ลูกค้าไปนั้นไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้

ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า Payable Conversion Period (PCP)

PCP (Purchase Receivable Period) คำนวณจาก Purchases/ (Cost of Goods Sold/365) เจ้าหนี้การค้า (จากงบดุล) หารด้วย ต้นทุนสินค้าขายต่อวัน (งบกำไรขาดทุน) ตัวเลขนี้จะบอกจำนวนวันที่เราชำระหนี้การค้า หากจำนวนวันสูงอาจแสดงว่าเราใช้เครดิตให้เป็นประโยชน์ได้ดี และจำนวนวันต่ำก็อาจแปลว่าเรามีอำนาจต่อรองน้อย หรือ อาจเป็นการซื้อเงินสดเพื่อให้ได้ส่วนลดจำนวนมากก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วจำนวนวันชำระหนี้นี้ยิ่งมากน่าจะดี เพราะ เจ้าหนี้การค้า เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เหมือนเรายืมเงินคนอื่นเข้ามาหมุน หากยืมมาได้นาน แต่ขายแล้วเก็บเงินสดได้ เรายังสามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

วงจรเงินสด Cash Cycle

เมื่อเราคำนวณทั้ง ICP+RCP-PCP ได้แล้ว เราก็ได้ตัวเลข Cash Cycle ออกมาว่าเป็นจำนวนกี่วัน ในธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งเราอาจเห็น Cash Cycle ติดลบได้ และเมื่อเรานำ Cash Cycle ของหลายปีมาเรียงต่อกัน เราอาจเห็นภาพประสิทธิภาพในการใช้เงินสดของบริษัทว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง ผู้เขียนพิจารณา Cash Cycle ของบริษัทที่ตนสนใจทุกครั้งก่อนการลงทุน แต่หากขี้เกียจคำนวณเอง เราก็สามารถหาอ่านได้จากรายงานประจำปี ที่เขามักจะมีสรุปไว้ให้ได้

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/525842104110376
[2]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/526216367406283

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์และประเมินมูลค่าของธุรกิจบัตรเครดิต

ขอแชร์เรื่องการทำมาหากิน การวิเคราะห์และ การประเมินมูลค่าหุ้น ของธุรกิจบัตรเครดิตมากขึ้น บทความดีๆจากคุณ airazoc [1] ณ thaivi ครับ

การทำงานของธุรกิจบัตรเครดิต

ปกติแล้วธุรกิจบัตรเครดิต ถ้ามองแบบ overview คร่าวๆ จะประมาณนี้

ธุรกิจบัตรเครดิต
บริษัทบัตรเครดิต อยู่ตรงกลาง ทำงานหลักสองอย่าง คือ
  1. ออกบัตรเยอะๆ เพื่อให้บัตรไปอยู่ในมือผู้ถือบัตรเยอะๆ 
  2. Acquire ร้านค้าเยอะๆ (เอาเครื่องรูดบัตรไปวาง) จะได้มีร้านรับบัตรของเราเยอะๆ
จากนั้นก็เป็น Business As Usual คือ
  1. ประชาชนเอาบัตรไปรูดปรี้ดๆ ที่ร้านค้า
  2. บริษัทเอาเงินตามไปจ่ายให้ร้านค้า
  3. เมื่อตัดรอบครบกำหนด เราก็ไปเก็บเงินคืนจากผู้ถือบัตร

ทีนี้รายได้ กับ รายจ่าย ของบริษัทมาจากไหนบ้าง

รายได้หลักๆ มีสองส่วน (ถ้าไปดูในงบ KTC จะใกล้กันมาก แทบจะครึ่งๆ)
  1. รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนลดร้านค้า (MDR, Merchant Discount Rate) ให้นึกถึง เรารูดสินค้าไป 100 บาท ร้านค้าอาจจะได้รับ สมมติว่า 98 บาท อีก 2 บาท เรียกว่า MDR ซึ่งจะเอาไปแบ่งกัน ระหว่าง Acquirer (เจ้าของเครื่องรูด) กับ Issuer (ธนาคารผู้ออกบัตร)
  2. รายได้ดอกเบี้ย (จากผู้ถือบัตรที่ชำระไม่ครบในแต่ละรอบบิล ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างชำระ)
รายจ่ายแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ
  1. Cost to Income (รายจ่ายต่างๆ เงินเดือนพนักงาน, outsource, ค่าที่ปรึกษา, ค่าโน่นนี่สารพัด)
  2. ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงิน (นอกจากเงินทุนของบริษัทแล้ว ปกติบริษัทบัตรจะ ออกหุ้นกู้, ตั๋ว debenture, กู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่นๆ มาเป็นเงินสำหรับปล่อยวงเงินบัตรให้ลูกค้า)
  3. หนี้สูญและสงสัยจะสูญ
งบกำไรขาดทุน ktc

สำหรับการประเมินมูลค่าธุรกิจบัตรเครดิต

เริ่มจากประเมินหารายได้ และ รายจ่ายก่อน

รายได้นั้น อย่างที่บอกไปว่ามีหลักๆ 2 ส่วนคือ MDR และ ดอกเบี้ยรับ

  1. การ คำนวน MDR เฉลี่ย นั้น จริงๆ ต้องใช้ตัวเลขพอร์ทลูกหนี้บัตรทั้งหมด ซึ่งเป็นยอดที่ลูกหนี้ต้องมาชำระทุกเดือน เอามาคูณ 12 ก็จะได้ยอดเงินหมุนเวียนในระบบ (เช่นพอร์ท สี่หมื่นสามพันล้าน ก็จะมีเงินหมุนผ่านปีละประมาณ ห้าแสนล้าน) แล้วหารายได้ MDR ต่อปีมาหาร เช่น สมมติว่า พอร์ทสี่หมื่นล้าน มีรายได้ MDR ต่อปี 5500 ล้าน MDR เฉลี่ย ออกมาประมาณ 1.1% (ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะหายากหน่อย เอายอดรายได้ค่าธรรมเนียม กับ พอร์ทลูกหนี้นั่นแหละ หารกันออกมาก็ได้ตัวเลขคร่าวๆ ถ้าอยากทำละเอียดให้โทรไปถามยอดแยกเอา หรือบางบริษัทในงบจะมียอดแยกให้) จริงๆแล้ว บริษัทผู้ออกบัตรจะได้ราวๆ 1.6-1.8% สำหรับบัตรแพลตินั่มสำหรับยอดรูดในร้านค้าทั่วไป แต่เนื่องจากบางร้านค้า เช่นปั้มน้ำมัน จะได้ MDR บางเฉียบมาก 0.2-0.3% เป็นต้น เฉลี่ยๆ ออกมาก็ราวๆนี้แหละ 1.0-1.2%

    (ที่ต้องหา MDR เฉลี่ย เก็บเอาไว้ เพราะถ้าในอนาคต ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ว่ายอดการใช้บัตรโตกี่ % หรือ มีหน่วยงานไหนประกาศตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตออกมา เราก็สามารถประเมินตัวเลขในอนาคตได้ทันที ไม่ต้องรองบออก โดยคำนวนจากพอร์ทที่ขยายขึ้นคูณ MDR เฉลี่ย)
  2. รายได้ดอกเบี้ย อันนี้แล้วแต่บริษัท ตัวเลขค่อนข้างแตกต่างกัน ขึ้นกับกลุ่มลูกค้า บางบริษัทในบางประเทศ รับเฉพาะลูกค้าพรีเมี่ยมสุดๆ รายได้ดอกเบี้ยจะไม่ค่อยมี แต่ volume ที่ได้ MDR จะมหาศาล บางบริษัทจับชนชั้นกลาง ก็จะมีรายได้ตรงนี้เป็นสัดส่วนต่อรายได้มากกว่า แต่ถ้าทำ normal ratio จะไม่ค่อยสวิงเท่าไหร่ คือถ้าต่ำ ก็ต่ำตลอด สูงก็สูงอยู่อย่างนั้น นอกจากจะเปลี่ยน target group ดังนั้น ถ้าจะประเมิณรายได้ดอกเบี้ย ก็คิด normal ratio ของปีก่อน เทียบกับขนาดพอร์ทลูกหนี้เอาก็จะพอใช้ได้ครับ

การประเมินรายจ่าย

รายจ่ายที่ต้องคำนวน มี 3 รายการ

  1. รายจ่ายต้นทุนทางการเงิน ถ้าขี้เกียจเปิดย้อนดูว่าออกตั๋วไปกี่ล้านที่กี่ % กู้แบงค์มาเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วเท่าไหร่ ก็โทรไปถามบริษัท ได้ครับ ว่าตอนนี้ดอกเบี้ยเฉลี่ยจ่ายอยู่เท่าไหร่ ก็เอามาคูณยอดหนี้ ที่บอกอยู่ในงบ ถ้าระหว่างไตรมาส มีออกตั๋วหรือออกหุ้นกู้อะไรขึ้นมาก็อย่าลืมบวกเพิ่มเข้าไป
  2. หนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ ผมจะเอาหนี้สูญและสงสัยจะสูญ มาลบด้วยหนี้สูญได้รับคืนปีถัดมา (เช่นเอาหนี้สูญปี 53 ลบหนี้ได้รับคืนที่ได้รับในปี 54) เพื่อประเมินคร่าวๆว่า สูญจริงๆ ราวกี่ % (อะไรที่ปีถัดมายังไม่ได้คืนก็ทำใจว่าชวดละ) ส่วนที่จะคำนวนล่วงหน้าก็ต้องลองคำนวนจากที่ ผบห ให้สัมภาษณ์ว่าประมาณกี่ % และจะทำให้เป็นกี่ % แล้วประเมินดูว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องลอง discount ลงไปดู เช่น ผบห บอกว่าจะทำได้ 4% แต่ของเก่าก่อนหน้านั้นสมมติว่า 7% ก็อาจจะลองใช้ สัก 5.5% ดูก่อน (ครึ่งทาง เผื่อทำได้ไม่เท่าที่ให้สัมภาษณ์) แล้วก็ลองประเมินว่าตรงนี้เท่าไหร่
  3. Cost to Income เดิม 47% ก็ต้องลองประเมินว่า ผบห จะลดลงเป็น 40% ได้อย่างที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ ตรงนี้ควร ลองโทรไปสอบถามบริษัทดู เพื่อประเมินดูว่า บริษัทจะลด Cost to Income ได้จากอะไร ซึ่งตามข่าวก็คือจะลดจากค่า out source ซึ่งจะดึงงานมาทำเองหลายอย่าง รวมถึงปรับกระบวนการทำงาน ถ้าฟังรายละเอียดแล้วเชื่อมั่นก็อาจจะใช้ตัวเลขที่ให้ในข่าวคำนวน ถ้าฟังแล้วไม่มั่นใจ ก็ต้อง discount ลงไป

กำไรของบริษัทก่อนภาษี ก็จะออกมาคร่าวๆคือ

(รายได้ค่าธรรมเนียม+รายได้ดอกเบี้ย) - (ค่าใช้จ่ายทางการเงิน+หนี้สูญและสงสัยจะสูญ+Cost to Income)
ได้เท่าไหร่ โดนภาษี 23%
ออกมาเป็น net income เอาไปหารจำนวนหุ้น ก็จะได้ EPS

จะแม่นยำแค่ไหน ขึ้นกับว่าทำตัวเลขละเอียดแค่ไหนครับ ถ้าใช้ตัวเลขคร่าวๆ EPS ที่เพื่อนๆประเมินได้ ก็จะคร่าวๆ
ถ้า แยกตัวเลขละเอียดได้ ก็จะได้ค่อนข้างใกล้เคียง ที่เหลือก็คือต้องประเมินว่าตัวเลขเป้าหมาย cost to income กับ NPL ที่อยู่ในข่าวที่ ผบห ให้สัมภาษณ์นั้น มั่นใจแค่ไหน จะ discount เท่าไหร่

ขอให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการลงทุนครับ

ที่มา http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=49&t=53772&start=1680

ความเชื่อของ value investor

การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ เรื่องสัมมาทิธิ หรือความเชื่อที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงไม่ใช่ทึกทักเอาเอง เป็นสิ่งที่จำเป็นครับ มาอ่านบทความเกี่ยวกับความเชื่อของคุณ OutOfMyMind on Value Investment เขียนไว้บน page[1][2] ได้น่าสนใจ เชิญอ่านโดยพลันครับ

"ความสำเร็จในกิจการงานใดใดนั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะผู้ปฏิบัติมีความศรัทธาต่องานนั้นและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุภารกิจนั้นให้จงได้ การลงทุนเองก็ไม่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ผู้เขียนจึงเทใจศรัทธาและเชื่อมั่นกับหลักการลงทุนว่ามันทำได้จริง เพราะเห็นตัวอย่างจากนักลงทุนที่มุ่งมั่นทั่วโลกว่าเขาทำสำเร็จกันมาแล้วมากมาย จิตใจที่แข็งแกร่งแน่วแน่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกไปและตัดสินใจตามแนวทางของตนแม้ว่ามันจะฝืนกับความเชื่อของคนอื่นๆ และหากเราต้องการเป็นนักลงทุนสายพื้นฐานที่เน้นความเข้าใจในกิจการ เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแข็งแกร่งในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว ในแบบที่ผู้เขียนใช้นั้น ก็ขออนุญาตแชร์ให้ฟังว่า ผู้เขียนเชื่อว่า
  1. การลงทุนที่ดีนั้นต้องช้าเข้าไว้ เดินช้า ๆ มาขึ้นรถและรอจนกว่ารถออก นั้นปลอดภัยกว่าการกระโดดขึ้นรถในนาทีสุดท้าย 
  2. การลงทุนด้วยข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลเปิดเผยตามสื่อทั่วไป ไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบนักลงทุนที่รู้ข้อมูลวงในเสมอไป เพราะอันที่จริงเราไม่ได้แข่งกับใครทั้งสิ้น นอกจากหาซื้อของดีในราคาถูกที่วางขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างเปิดเผย 
  3. การเข้าใจโมเดลธุรกิจอย่างถ่องแท้ นั้นสำคัญกว่าความสามารถในการคำนวณสูตรหรือสมการยาก ๆ เพื่อประเมินมูลค่าธุรกิจออกมา 
  4. ไม่มีราคาเหมาะสมปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหน ๆ มีแต่มูลค่าตลอดชีพของกิจการที่เราต้องคอยประเมินอยู่เสมอและมันเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนหรือมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น 
  5. ไม่จำเป็นต้องแบ่งหุ้นเป็น Defensive, Turnaround, Cycle, Growth หรืออะไรทั้งนั้น เพราะการลงทุนที่ดีต้องเริ่มจากการป้องกันเงินต้นให้ได้ (Defensive) ด้วยการเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง หาจังหวะซื้อของดีที่ตลาดยังไม่รับรู้ (Turnaround) เข้าลงทุนที่ระดับราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากพอ แล้วถือยาวข้ามความผันผวน (Cycle) โดยบริษัทนั้นต้องมีโอกาสเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนอย่างเพียงพอในระยะยาว (Growth)
  6. อย่าถูกหลอกด้วย Sector และ Stereotype ของมัน จริงอยู่ว่า กิจการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ อิเล็กทรอนิคส์ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก หรืออื่น ๆ น่าจะมีคุณลักษณะและปัจจัยทางธุรกิจที่เฉพาะตัวและทำให้ดูเหมือนว่ามีบางอุตสาหกรรมน่าลงทุนมากกว่าบางอุตสาหกรรม แต่อย่าลืมว่าเราลงทุนในบริษัทไม่ใช่อุตสาหกรรม การเข้าไปศึกษาธุรกิจอย่างลึกซึ้งอาจพบกว่าธุรกิจหนึ่งถูกจับวางอยู่ในอุตสาหกรรมหนึ่งแต่มีบริษัทลูกทำธุรกิจอีกอีกอุตสาหกรรมและมันกำลังไปได้ดีมาก การมองแบบ Bottom Up หรือ Look-Through จะช่วยให้เราค้นพบเพชรที่ยังซ่อนอยู่ได้ก่อนคนทั่วไปในตลาด 
  7. ผู้ชนะในการลงทุนไม่จำเป็นต้องฉลาดที่สุด แต่ต้องมีอุปนิสัยที่เหมาะสมกับการลงทุนมากที่สุด บางอย่างต้องฝึกฝน บางอย่างก็โชคดีที่มีมาแต่กำเนิด หากคุณไม่รู้สึกอึดอัดที่ทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านรอบข้าง บางทีคุณอาจจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า คนฉลาดที่คิดคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์ยาก ๆ ได้ออกมาเท่ากับที่อาจารย์สอน และ 
  8. การลงทุนที่ทำกำไรได้มากคือการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องขายทำกำไรเลย ลงทุนในบริษัทที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราที่น่าพอใจได้อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพราะคำพูดแบบนี้มันดูเท่ดี แต่การไม่ขายก็ไม่ต้องเสียค่าคอมทั้งขาซื้อและขาขายแต่ปล่อยให้ผลตอบแทนทบต้นได้มีโอกาสทำงานของมันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย การถือหุ้นตัวเดียวที่สร้างผลตอบแทนทบต้น 20% ต่อปีเป็นระยะเวลา 10 ปี ย่อมดีกว่าการถือหุ้นที่สร้างผลตอบแทนปีละ 20% ตัวละ 1 ปี โดยการขายตัวเก่าเข้าตัวใหม่ทั้งหมด 10 ครั้ง เพราะนอกจากมีค่าคอมมาบั่นทอนจำนวนเงินทุนในการเข้าซื้อครั้งถัดไปแล้ว นักลงทุนยังพบกับ investment risk ที่จะหาหุ้นตัวใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเท่าหรือดีกว่าเดิม นอกจากนั้น การถือหุ้นตัวเดียว 10 ปี ย่อมเปิดโอกาสให้เรามีความเข้าใจในธุรกิจของมันอย่างถ่องแท้มากกว่าการเปลี่ยนหุ้นไปมา ทำให้เรามองเกมได้ลึกกว่าชัดกว่า อย่างไรก็ตามหุ้นที่ไม่ต้องขายนั้นคงหาได้ยากแสนยาก ประเด็นที่สำคัญ คือเราไม่ควรถามตัวเองว่าซื้อหุ้นตัวนี้แล้วควรขายเมื่อไรดี แต่ควรถามว่าจะหาหุ้นที่ซื้อแล้วไม่ต้องขายได้อย่างไร เพื่อปรับกรอบความคิดและเข็มทิศให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น"
ที่มา
[1] https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/527106740650579
[2] https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/527447647283155