ผู้เขียนขอพูดถึงวิธีคำนวณอย่างง่าย เพื่ออธิบายแนวความคิดสำหรับผู้เริ่มต้น แต่หากต้องการลงลึก อยากให้ผู้อ่านไปศึกษาต่อถึงวิธีการคำนวณที่ละเอียดถูกต้องกว่านี้ วิธีอย่างง่ายคือ
Cash Cycle (วัน) = Inventory Conversion Period (ICP) + Receivable Conversion Period (RCP) - Payable Conversion Period (PCP)
ระยะเวลาขายสินค้า Inventory Conversion Period (ICP)
ICP นั้นคือการพิจารณาว่าบริษัทผลิตสินค้าแล้วขายออกไปได้ภายในกี่วัน คำนวณจาก Inventory / (Cost of Goods Sold/365) โดย Inventory คือสินค้าคงคลังเฉลี่ย เราหาได้จากงบดุล หารด้วยต้นทุนสินค้าขายต่อวัน ก็จะทำให้เราทราบว่า จำนวนสินค้าที่ผลิตหรือซื้อมาเตรียมขายนั้นสามารถถูกขายไปได้หมดภายในกี่วัน นอกจากเราจะเอาตัวเลขที่ได้นี้ไปใช้คำนวณ Cash Cycle แล้ว ในเบื้องต้นเรายังสามารถพิจารณาได้อีกว่า จำนวนวันขายที่ว่านี้มันเหมาะสมหรือไม่ เช่นหากสินค้าที่เราขายนั้นเป็นสินค้าที่มีโอกาสตกรุ่นทุก 6 เดือน แต่เราคำนวณวันขายออกมาได้ 300 วัน แสดงว่าบริษัทนี้มีปัญหาขายของในสต๊อกไม่ทันตกรุ่นแน่นอน หรือในทางตรงกันข้าม จำนวนวันขายที่คำนวณออกมาต่ำเกินไปก็อาจแปลว่า บริษัทบริหารแผนผลิตไม่ดีและมีสินค้าไม่พอขายเสียโอกาสโดยไม่จำเป็นอย่างไรก็ตาม บริษัทที่บริหารการผลิตแบบ Just in Time อาจมีจำนวนวันขายที่สั้นมากเพราะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา หรือธุรกิจค้าปลีกที่ซื้อมาขายไป ด้วยระบบคลังสินค้าแบบ Cross Docking ที่รับมาแล้วส่งต่อไปยังร้านสาขาและวางจำหน่ายบนชั้นสินค้าให้ไวที่สุด อย่างพวกร้านสะดวกซื้อ หรือร้านหนังสือ ก็อาจจะมีจำนวนวันขายที่สั้นมากได้ ซึ่งแบบนี้ถือว่าดี
ระยะเวลาเก็บหนี้ Receivable Conversion Period (RCP)
สำหรับ RCP (Receivable Conversion Period) นั้นคำนวณจาก Receivable / (Sales/365) หรือ จำนวนลูกหนี้การค้าที่หาได้จากงบดุล หารด้วย ยอดขายจากงบกำไรขาดทุน ปรับให้เป็นยอดขายเครดิตต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารทราบว่า บริษัทสามารถเก็บหนี้เฉลี่ยได้ภายในกี่วัน โดยนอกจากประโยชน์ในการเอาไปรวมคำนวณ Cash Cycle แล้ว เบื้องต้นยังสามารถพิจารณาตัวเลขว่ามันเหมาะสมกับธรรมชาติธุรกิจหรือไม่ เช่นหากนโยบายบริษัทระบุไว้ว่าให้เครดิตลูกค้าไม่เกิน 45 วัน แต่ตัวเลขวันเก็บหนี้ที่คำนวณได้นั้นเกินไปมาก เช่น 70 วัน นั่นอาจแปลว่าบริษัทมีปัญหาในการเก็บหนี้ และการขายได้มากแต่ทำให้วันเก็บหนี้ยาวขึ้น จะทำให้เงินสดของบริษัทถูกดึงเข้าไปหมุนในระบบมากขึ้นและนานขึ้น ไม่ได้หมุนกลับเป็นเงินไหลเข้ามาเสียที และสุดท้ายอาจทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องได้โดยเฉพาะอย่าลืมว่า เงินสดของบริษัทนี้มีต้นทุน WACC แต่เครดิตที่ให้ลูกค้าไปนั้นไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้
ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า Payable Conversion Period (PCP)
PCP (Purchase Receivable Period) คำนวณจาก Purchases/ (Cost of Goods Sold/365) เจ้าหนี้การค้า (จากงบดุล) หารด้วย ต้นทุนสินค้าขายต่อวัน (งบกำไรขาดทุน) ตัวเลขนี้จะบอกจำนวนวันที่เราชำระหนี้การค้า หากจำนวนวันสูงอาจแสดงว่าเราใช้เครดิตให้เป็นประโยชน์ได้ดี และจำนวนวันต่ำก็อาจแปลว่าเรามีอำนาจต่อรองน้อย หรือ อาจเป็นการซื้อเงินสดเพื่อให้ได้ส่วนลดจำนวนมากก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วจำนวนวันชำระหนี้นี้ยิ่งมากน่าจะดี เพราะ เจ้าหนี้การค้า เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เหมือนเรายืมเงินคนอื่นเข้ามาหมุน หากยืมมาได้นาน แต่ขายแล้วเก็บเงินสดได้ เรายังสามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยอีกด้วยวงจรเงินสด Cash Cycle
เมื่อเราคำนวณทั้ง ICP+RCP-PCP ได้แล้ว เราก็ได้ตัวเลข Cash Cycle ออกมาว่าเป็นจำนวนกี่วัน ในธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งเราอาจเห็น Cash Cycle ติดลบได้ และเมื่อเรานำ Cash Cycle ของหลายปีมาเรียงต่อกัน เราอาจเห็นภาพประสิทธิภาพในการใช้เงินสดของบริษัทว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง ผู้เขียนพิจารณา Cash Cycle ของบริษัทที่ตนสนใจทุกครั้งก่อนการลงทุน แต่หากขี้เกียจคำนวณเอง เราก็สามารถหาอ่านได้จากรายงานประจำปี ที่เขามักจะมีสรุปไว้ให้ได้ที่มา
[1]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/525842104110376
[2]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/526216367406283
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น
สงสัยอะไรถามได้ครับผม