วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การด้อยค่าของสินทรัพย์

การด้อยค่าของสินทรัพย์ เป็นรายการขาดทุนทางบัญชีที่ เกิดจากสินทรัพย์ของกิจการ ที่ลงทุนไปแล้ว เช่นที่ดินอาคารอุปกรณ์ สินค้า ลูกหนี้ เงินลงทุนบริษัทย่อย บริษัทร่วม มองไปข้างหน้าแล้วไม่เห็นอนาคต เช่น เศรษฐกิจไม่ดีรายได้ลดลง ลงของไปขายไม่ออกกองค้างๆอยู่ในโกดัง หรือซื้อมาแล้วราคาตลาดตก ลูกหนี้มีแนวโน้มเก็บเงินไม่ได้ พอมาดูแล้วมูลค่าแย่ลง ทำให้ด้อยค่าสินทรัพย์นั้นเป็นรายจ่ายไป กระทบงบการเงินทำให้ขาดทุน และส่วนทุนลดลง 

หรือสรุปสั้นๆว่าเจ็บแต่จบ ถ้าเขาไม่รักเราแล้วจะยื้อไว้ทำไม

บทความด้านล่างนี้รวมจากโพสของ sanpong.limthamrongkul [1][2] อธิบายเรื่อง เหตของการด้อยค่า ผลต่องบการเงิน และการวิเคราะห์ได้ยอดมาก เอาไอเดียเมื่อกี้มาอธิบายให้ยาวขึ้น ถ้าว่างๆ ก็เชิญอ่านโดยพลัน


ไม่กี่วันที่ผ่านมา PTTEP มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์กว่า 50,000 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรไตรมาสสามขาดทุนกว่า 46,000 ลบ. ขาดทุน 9 เดือนกว่า 36,000 ลบ. 

แต่ถ้าสังเกตให้ดี งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จมีกำไรจากผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่างบการเงินกว่า 41,000 ลบ.
สินทรัพย์เก้าเดือนลดลงรวม 35,000 ลบ. เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนราว 18,000 ลบ. และ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนราว 17,000 ลบ. 

ในส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนหลักๆ ลดในเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และลูกหนี้จากบริษัทใหญ่รวมกว่า 18,000 ลบ. ส่วนและ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนหลักๆ 

โดยสรุป ลดใน PPE 10,000 สท. ไม่มีตัวตน12,000 เพิ่มใน สท.อนุพันธ์ ภาษีรอตัด และอื่นๆ รวม 5,000 ลบ. หากดูในรายการ PPE + Intangible = (22,000) โดย PPE ซื้อเพิ่ม 19,000 เกิดด้อยค่าราว (50,000) ผลต่างสุทธิใกล้เคียงกัน ถือว่ากระทบยอดออกมาใกล้กัน OK ดังนั้นการลดลงของสินทรัพย์โดยรวมหากมองในด้าน operation ยอดรายได้หรือกระแสเงินสดเข้ามาจากราคาขายและปริมาณก๊าซปิโตรเลียม ลูกหนี้จึงลดลง (ราคารับซื้อลดลง) ภาพใหญ่เป็นไปตามวัฏจักร การฟื้นตัวอยู่ที่ราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้เร็วหรือไม่ หรืออยู่ในรับต่ำนี้ยาวนาน

มีหลายคน (และเห็นบางเว็ปด้านการลงทุน) ไปเขียนทำนองว่า ขาดทุนจากการด้อยค่าเป็นโอกาสในวิกฤต ขาดทุนนี้สามารถเกิดการโอนกลับ ในภายหลังได้ ซึ่งก็ถูกและผิดในตัว สิ่งที่ต้องเข้าใจคือการเกิดการขาดทุนด้อยค่านั้นกลับรายการได้ แต่ไม่จำเป็นต้องกลับทั้งหมด และไม่ต้องเกิดในงวดถัดไปเสมอ อาจเกิดแล้วเกิดเลยก็ได้ ถ้าการด้อยค่ายังมีอยู่ งวดต่อๆไปถ้ามูลค่าจะได้รับสูงขึ้นก็กลับได้แต่ไม่เกินกว่ามูลค่าที่ได้รับที่ประเมินใหม่ ทยอยโอนกลับได้ แต่รวมแล้วไม่เกินจำนวนด้อยค่าที่รับรู้ไปแล้ว และไม่เกินมูลค่าราคาทุนหักค่าเสื่อมสะสม (ค่าเสื่อมเพิ่มทุกปีอย่าลืมนะครับ หากค่อยๆฟื้นตัวก็ไม่เกินกว่าทุนเดิมหักค่าเสื่อมสะสม) 

สมมติราคาบัญชี PPE ก่อนด้อยค่าอยู่ที่ 150 ลบ. เกิดด้อยค่าขึ้น 50 ลบ. ปีนั้นขาดทุนจากด้อยค่า 50 ลบ. PPE เหลืออายุ อีก 5 ปี ตัดค่าเสื่อมใหม่ปีละ 20 ลบ. BV PPE ปีต่อมาเหลือ 80 ถัดมาเหลือ 60 ถ้าปีนั้นการด้อยค่าหมดไป แต่มูลค่าที่ได้รับใหม่ไม่เกิน 90 ลบ. การโอนกลับก็ได้เพียง 30 ลบ. ไม่ใช่ 50 ลบ. วันแต่มูลค่าที่จะได้รับคืนเกินกว่า 110 ลบ. จึงกลับขาดทุนได้ทั้งหมด 50 ลบ.

ประเด็นสำคัญเรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์



  • 1. การด้อยค่าคือรายการที่ปรับมูลค่าสินทรัพย์ ไม่ใช่ค่าเสื่อมราคา แต่ผลที่เกิดขึ้นกระทบกำไรขาดทุนท่อนบนเหมือนกัน
  • 2. การด้อยค่าของสินทรัพย์คือค่าใช้จ่ายไปอยู่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหาร แต่แยกแสดงให้ชัดเจนแยกออกมา แต่ค่าเสื่อมราคา บางส่วนที่เกี่ยวข้องการผลิต เช่นเครื่องจักร โรงงาน ค่าเสื่อมราคาไปต้นทุนผลิต ตัดเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อขายสิค้า อยู่ในต้นทุนขาย
  • 3. บังคับใช้กับสินทรัพย์ทุกประเภท ยกเว้น ลูกหนี้การค้า เงินลงทุน สินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน สินทรัพย์ชีวภาพ (สินค้าเกษตร) เป็นต้น
  • 4. ต้องปฏิบัติเมื่อมีข้อบ่งชี้ ซึ่งข้อบ่งชี้แบ่งได้สองส่วนคือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกดังนี้

    1.แหล่งข้อมูลภายนอก เช่น

    1.1 ราคาตลาดของสินทรัพย์ลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญในระหว่างงวด โดยจำนวนที่ลดนั้นสูงกว่าจำนวนที่คาดว่าจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป หรือการใช้งานตามปกติ

    1.2 มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบทางลบต่อกิจการ ในระหว่างงวดหรือในอนาคตอันใกล้อย่างเป็นสาระสำคัญ

    1.3 อัตราดอกเบี้ยในตลาดหรืออัตราผลตอบแทนอื่นในตลาด จากการลงทุนของงวดนั้นเพิ่มขึ้นจนน่าจะมีผลกระทบต่ออัตราคิดลดที่จะใช้ในการคำนวณ มูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ ทำให้มูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ และทำให้มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ นั้นลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญ

    2.แหล่งข้อมูลภายในเช่น

    2.1 มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์นั้นล้าสมัยหรือชำรุดเสียหาย

    2.2 มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับลักษณะที่กิจการใช้หรือคาดว่าจะใช้สินทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อกิจการในระหว่างงวดหรืออนาคตอันใกล้อย่างเป็นสาระสำคัญ หากสินทรัพย์ของกิจการมีข้อบ่งชี้ว่าจะด้อยค่า กิจการต้องรับรู้รายการขาดทุนจากการด้อยค่าเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทันที และบันทึกลดราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ให้เท่ากับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน
  • 5. ประเมินการด้อยค่าจากจำนวนที่สูงกว่าระหว่าง ราคาขายสุทธิ หรือ มูลค่าจากการใช้
  • 6. ไม่ได้ระบุให้ต้องประเมินโดยผู้ประเมินอิสระกิจการอาจสามารถประเมินได้ด้วยตนเอง
  • 7. พิจารณาการด้อยค่าสินทรัพย์แต่ละรายการหรือ เป็นหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด (หน่วยสินทรัพย์ฯ) ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์นั้นสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดได้ด้วยตัวเองหรือไม่
  • 8. การบันทึกบัญชี Dr. ผลขาดทุนจากการด้อยค่า และ Cr. ค่าเผื่อการด้อยค่า กรณีรับรู้ผลขาดทุนของหน่วย
  • 9. การตีราคาสินทรัพย์ใหม่แต่ละรายการแล้วพบว่า ราคาที่ประเมินใหม่มีราคาต่ำกว่าราคาตามบัญชีแล้วบริษัทไม่ต้องรับรู้ขาดทุนเกี่ยวกับการตีราคาของสินทรัพย์หรือรับรู้เป็นขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ การตีราคาใหม่ไม่ใช่การด้อยค่า บริษัทอาจแสดงที่ราคาทุนตลอดไปก็ได้ แต่หากเลือกแสดงการตีราคาใหม่แล้วต้องทำโดยสม่ำเสมอกรณีนี้อาจเกิดขาดทุนได้ (ปกติบริษัทไม่นิยมตีราคาใหม่ เว้นแต่ตีราคาเพื่อให้ D/E ดีขึ้น) อย่าสับสนระหว่างการตีราคาตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 32 กับการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 36 
  • 10. ขาดทุนจากการตีราคาของสินทรัพย์ กับ ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์แตกต่างกันอย่างไร ต่างกันคือกรณีตีราคาใหม่ ถ้าเราเคยตีราคาเพิ่ม ส่วนที่ตีเพิ่มครั้งแรกจะไปแสดงในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (ท่อนสอง) งวดต่อมาสินทรัพย์นั้นราคาลดลง ส่วนที่ลดลงจะไปหักส่วนที่ที่เพิ่มในท่อนสองของงวดก่อน ลดออกจนหมดเมื่อลดจนหมดแล้วจึงบันทึกขาดทุนในท่อนบน ต่างกับขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ลงเป็นขาดทุนทั้งก้อนในงบกำไรขาดทุนท่อนแรกทันที
  • 11. เมื่อจะพิจารณาว่าสินทรัพย์มีการด้อยค่าหรือไม่แล้ว ต่อมาการตีราคาสินทรัพย์นั้นๆ พบว่าราคาที่ตีใหม่ สูงกว่าราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ จะต้องรับรู้เป็นส่วนเกินทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือไม่ ไม่จำเป็นเสมอ แต่ต้องประเมินการด้อยค่าของหน่วยสินทรัพย์ฯ นั้นใหม่ว่ายังด้อยค่าอยู่หรือไม่ ง่ายๆ เช่น

    หน่วยสินทรัพย์มี อาคารและเครื่องจักร ด้อยค่าลงรวม 100 ลบ. ทำให้ราคาตามบัญชีหลังการด้อยค่าเป็น 300 ลบ. โดยแยกเป็นอาคารแสดง 200 ลบ. และเครื่องจักรแสดง 100ลบ. ปีต่อมาหลังหักค่าเสื่อมราคา อาคารเป็น 270 ลบ. และเครื่องจักรเป็น 150 ลบ. ประเมินมูลค่าที่ได้รับใหม่ (RECOVERABLE AMOUNT = RA) เท่ากับ 480 ลบ. ถือว่าหน่วยสินทรัพย์ฯนี้ไม่ด้อยค่า (BV = 270+150 = 420 ลบ.) แต่อาคารมีราคาประเมินใหม่เป็น 300 ลบ. บริษัทอาจไม่ต้องลงอะไรก็ได้ถ้าเลือกแสดง PPE ด้วยราคาทุน แต่ถ้าเลือกตีใหม่ก็ลงส่วนเกินมูลค่าอาคารจากการตีราคา 30 ลบ. ในท่อนสอง จะเห็นว่า BV ของหน่วยสินทรัพย์ยังแสดงไม่เกิน RA ก็ไม่ด้อยค่า แต่อาจมีการกลับรายการด้อยค่าได้ แต่ไม่เกิน RA โดยกลับได้เพียง 30 ลบ. (BV หลังตีใหม่ 300+150 = 450 RA = 480) เหตุผลง่าย ถ้ากลับขาดทุน 100 ลบ. ส/ท ก็จะมี BV เป็น 450 + 100 = 550 RA = 480 ลบ. ก็ต้องด้อยค่ากลับ 70 ลบ. เท่ากับเกิดกำไรเพียง 30 (100-70) ลบ. อยู่ดี


การพิจารณาหน่วยสินทรัพย์ฯที่ก่อให้เกิดเงินสด (Cash Generating Unit ; หน่วยสินทรัพย์ฯ)


หน่วยสินทรัพย์ฯ คือ สินทรัพย์กลุ่มเล็กที่สุดที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับเป็นอิสระจากกระแส
เงินสดที่เกิดจากสินทรัพย์อื่นหรือกลุ่มสินทรัพย์อื่น
ในการพิจารณาเพื่อรับรู้การด้อยค่าของสินทรัพย์ กิจการควรพิจารณาเป็นลำดับ ดังนี้

1) พิจารณาสินทรัพย์แต่ละรายการที่สงสัยว่าเกิดการด้อยค่า เช่น ที่ดินด้อยค่า
2) พิจารณาว่าสินทรัพย์ที่สงสัยว่าเกิดการด้อยค่านั้น สามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดเป็นอิสระจาก สินทรัพย์ อื่นหรือไม่ เช่น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโรงงานไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดได้ด้วยตนเอง แต่ที่ดินที่ว่างเปล่าหรือสินทรัพย์รอการขาย อาจสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดได้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าขายก็จะมีราคาขาย ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าจากการใช้ จึงพิจารณาการด้อยค่าเป็นแต่ละรายการได้เลย
3) หากพบว่าสินทรัพย์ตาม 2) ไม่สามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องนำไปรวมกับ สินทรัพย์ตัวอื่นเป็นหน่วยสินทรัพย์ฯ เพื่อหามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน
4) ให้พิจารณาจากงบประมาณรายจ่ายฝ่ายทุน (capital budgeting) ของกิจการ โดยอาจพิจารณาว่ามีการทำประมาณการกระแสเงินสดก่อนเริ่มต้นโครงการหรือสาขานั้น
5) ในกรณีสาขา ให้พิจารณาการบริหารงานว่าเป็นแบบรวมอำนาจ หรือ กระจายอำนาจ
- ถ้าเป็นการบริหารงานแบบรวมอำนาจ ควรพิจารณารวมสาขาทุกสาขาเป็นหน่วยสินทรัพย์ฯ เดียวกัน
- ถ้าเป็นการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ และแต่ละสาขามีอำนาจในการตัดสินใจเอง และทำกำไรองควรพิจารณาแต่ละสาขาเป็นหน่วยสินทรัพย์ฯ
6) กลยุทธ์ของกิจการอาจเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าหน่วยสินทรัพย์ฯ ประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น กิจการเปิดสาขาพร้อมกันหลายสาขา เนื่องจากถือเป็นกลยุทธ์การแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่ทราบล่วงหน้าว่าบางสาขาอาจขาดทุนแต่ก็จำเป็นต้องเปิดเพื่อการแข่งขันในตลาด ในกรณีนี้พิจารณาได้ว่าสาขาทั้งหมดที่เปิดในคราวเดียวกันเป็นหน่วยสินทรัพย์ฯ เดียวกัน
ในการหามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable Amount) คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคต
1. อาศัยข้อสมมติที่สมเหตุสมผลที่มีหลักฐานจากภายนอกสนับสนุน
2. อาศัยประมาณการทางการเงินล่าสุดจากฝ่ายบริหารครอบคลุมระยะเวลาอย่างมากที่สุด 5 ปี
3. ประมาณการกระแสเงินสดหลังจากช่วงเวลาในข้อ 2 ให้ปรับด้วยอัตราการเติบโตที่ คงที่หรือลดลง ยกเว้น มีเหตุผลสนับสนุนว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น (อัตราการเติบโตของกิจการ ต้องไม่สูงกว่า อัตราการเติบโตถัวเฉลี่ยระยะยาวของผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมหรือประเทศที่กิจการนั้นดำเนินอยู่)
4. ต้องพิจารณาจากสภาพสินทรัพย์ในปัจจุบัน
ประมาณกระแสเงินสดในอนาคต รวมถึง
1. การคาดการณ์กระแสเงินสดรับจากการใช้สินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
2. การคาดการณ์กระแสเงินสดจ่ายที่จำเป็นต่อการเกิดกระแสเงินสดรับจากการใช้สินทรัพย์นั้น
3. การคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะรับ (จ่าย) จากการจำหน่ายสินทรัพย์นั้น เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน (Terminal Value of Assets)
ประมาณกระแสเงินสดในอนาคต ไม่รวมถึง
1. การปรับโครงสร้างในอนาคตที่ยังไม่ตัดสินใจเป็นที่แน่นอน
2. การขยายงานในอนาคต เช่น หากกิจการจะขยายสาขาเพิ่มในอนาคต กิจการต้องไม่เอาส่วนที่เพิ่มมารวมคำนวณ เอาเฉพาะสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือกรณีที่กิจการมีที่ดินว่างเปล่าที่มีโครงการจะพัฒนาในอนาคต กิจการก็ต้องประเมินมูลค่าจากการใช้ในฐานะเป็นที่ดินเปล่าหากยังไม่มีแผนการที่แน่นอนสำหรับโครงการพัฒนานั้น และที่ต้องระวังคือ กิจการอาจไม่สามารถใช้ประมาณการยอดขายจากฝ่ายบริหารมาประมาณกระแสเงินสดได้โดยตรงเพราะประมาณการของฝ่ายบริหารมักจะรวมการขยายตัวในอนาคตไว้ด้วย (เน้นย้ำครับว่า ประเมินจากสภาพปัจจุบัน กลยุทธ์ปัจจุบัน สินทรัพย์ปัจจุบัน)
3. รายจ่ายฝ่ายทุนในอนาคตที่ทำให้สินทรัพย์ดีขึ้น
4. กระแสเงินสดรับหรือจ่ายจากกิจกรรมจัดหาเงิน เช่น ดอกเบี้ยจ่าย เงินกู้ยืม (ไม่เอาดอกเบี้ยมาหักออก)
5. ภาษีเงินได้ที่รับหรือจ่ายไป (ไม่รวมรายจ่ายทางภาษี)
6. สรุปง่ายๆ คือ EBITDA นั่นเอง ไม่ต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงใน Net Working Capital, CAPEX
การหาอัตราคิดลด
การหาอัตราคิดลดต้องพิจารณาถึง
1. ต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของเงินทุนของกิจการ
2. อัตราการกู้ยืมส่วนเพิ่มที่กิจการต้องจ่าย
3. อัตราการกู้ยืมอื่นในตลาด
4. ปรับปรุงอัตราข้างต้น เพื่อให้อัตราคิดลดของสินทรัพย์หรือหน่วยสินทรัพย์ฯ ภายใต้การพิจารณาสะท้อนถึงความคาดการณ์ของตลาดและความเสี่ยงเฉพาะของสินทรัพย์นั้น หรือปรับปรุงอัตราข้างต้นให้สะท้อนถึงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ อีกนัยหนึ่ง อัตราคิดลดต้องสะท้อนถึง IRR ของโครงการหรือของหน่วยสินทรัพย์ฯ นั้น สรุปคือใช้ WACC (Weighted Average Cost of Capital)

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10206290091509620
[2]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10206290093549671

2 ความคิดเห็น :

สงสัยอะไรถามได้ครับผม