ทองสี่เหล่า
มีคำถามเรื่องเกี่ยวกับ Demand ทองเข้ามาค่อนข้างเยอะ เลยเอาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Demand ของทองคำมาฝากกัน
ภาพแสดงความต้องการใช้ทองคำ |
ผู้เชี่ยวชาญแบ่งความต้องการใช้ทองคำหลักๆออกเป็น 4 กลุ่ม
1. กลุ่ม Jewellery เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้ทองคำจริง เพื่อการนำไปทำเป็นเครื่องประดับเพื่อจำหน่ายทำกำไรอีกที ความต้องการกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับความนิยมของสินค้าของตน เช่น สร้อยคอ แหวน กำไรข้อมือ เป็นต้น ส่วนราคาทองจะขึ้นจะลงถ้าของยังขายได้ก็ต้องซื้ออยู่ดี ไม่งั้นก็ต้องไปประกอบอาชีพอื่น แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยตุนทองไว้นานเพราะกำไรของกลุ่มเหล่านี้อยู่ที่มูลค่าเพิ่มของชิ้นงานที่ผลิต ไม่ได้อยู่ที่การเก็งกำไรทอง ส่วนมากเครื่องประดับทองเหล่านี้ตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย
2. กลุ่ม Technology เป็นอีกกลุ่มที่ต้องใช้ทองคำจริงในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เช่น Intrigated circuit (IC) เป็นต้น ความต้องการกลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่ และถ้าเป็นไปได้จะพยายามลดการใช้ทองให้มากที่สุด (เพราะทองมันแพง)
3. กลุ่มผู้ซื้อทองเพื่อการลงทุน (Investment) เป็นผู้ซื้อที่ไม่ได้ต้องการใช้ทองจริง แต่ซื้อทองเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร ซื้อเพื่อป้องกันเงินเพ้อ ซื้อเพื่อกระจายการลงทุน กลุ่มเหล่านี้มีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย กองทุนรวม กองทุน ETF กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedged Fund) กองทุนบำเน็จบำนาณ (Pension fund) เป็นต้น ความต้องการผู้ซื้อในกลุ่มนี้ค่อนข้างผันผวนคาดการณ์ยาก เนื่องจากผู้ลงทุนมีหลากหลายทั่วโลก และวัตถุประสงค์การซื้อก็แตกต่างกันไป เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สร้างความปวดหัวให้กับตลาดทองคำมากที่สุด
4. กลุ่มธนาคารกลาง (Central bank) ในสมัยโบราณที่สกุลเงินต่างๆยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ธนาคารกลางที่จะพิมพ์ธนบัตรออกมาให้ใช้จ่ายก็จะต้องสำรองทองคำเอาไว้รองรับเงินที่ตนเองพิมพ์ออกมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสกุลเงินของตน ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นมาใช้เงินทุนสำรองของประเทศมากขึ้น และทยอยขายทองคำออกมา ทีนิยมกันมาก็คงเป็นค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สกุลยูโร และสกุลเยน มาช่วงหลังๆประเทศเจ้าของเงินสกุลดังกล่าวขยันพิมพ์เงินออกมามากๆ ธนาคารกลางประเทศต่างๆก็เริ่มกลัวว่าเงินสกุลหลักเหล่านั้นจะกลายเป็นแบงค์กงเต็กในที่สุด จึงทยอยกลับเข้ามาซื้อทองเก็บ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีทองเป็นทุนสำรองต่ำ เช่น จีน และอินเดีย
ก่อนปี 2003 ที่กองทุนรวมทองคำ หรือกองทุน ETF ยังไม่แพร่หลาย Demand จากกลุ่มนักลงทุนมีน้อยมาก ความต้องการใช้ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่ม Jewellery เป็นหลัก มีกลุ่มเทคโลยีเล็กน้อย ส่วนกลุ่มธนาคารกลางทยอยขายโดยตลอดเนื่องจากทองไม่มีดอกเบี้ยจึงหันไปสะสมพันธบัตรรัฐบาลประเทศหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่นแทน เนื่องจากธรรมชาติของกลุ่ม Jewellery และ เทคโลโลยีจะค่อนข้างสม่ำเสมอ การซื้อต้องพยายามซื้อให้ได้ราคาต่ำที่สุดเนื่องจากเป็นต้นทุนของสินค้าตน ไม่แย่งกันซื้อแบบไล่ราคา ทำให้ช่วงก่อนปี 2003 เป็นช่วงที่ราคาทองคำค่อนข้างมีเสถียรภาพ
หลังจากกองทุน ETF เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำกันสะดวกขึ้น ประกอบกับการเติบโตของบรรดา Hedge Fund ที่มุ่งเน้นการเก็งกำไร ทำให้ความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐปี 2008 ความต้องการทองคำพุ่งกระฉูดเพราะสหรัฐดำเนินนโยบายพิมพ์เงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ประเทศอื่นๆในโลกก็ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำปั๊มเงินออกมากู้ชาติเช่นกัน ทำให้นักลงทุนกังวลว่าค่าของเงินสกุลต่างๆที่พิมพ์ออกมาไม่หยุดหย่อนจะลดลง โดยเฉพาะสหรัฐ (คิดง่ายๆ เงินเยอะ ค่าน้อย เงินก็เฟ้อ) จึงแห่ตุนทองคำ ไม่ว่าจะเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ เก็งกำไร หรือกระจายความเสี่ยง (สำหรับผมแล้วคำเหล่านี้มันไม่ต่างกันเท่าไร เพราะทุกคนต้องการกำไรเพื่อมาชดเชยค่าของเงินที่ลดลง) ทำให้ราคาทองพุ่งทะลุโลกถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่ตลาดทองคำ จนในที่สุดธนาคารกลางประเทศต่างๆต้องหันกลับมาทบทวนเงินทุนสำรองของตนที่เคยขายทองมาซื้อพันธบัตร ก็เปลี่ยนกลับมาถือทองมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรมันต่ำเตี้ย และก็กลัวว่าเงินที่พิมพ์มาเยอะๆทำให้ค่าเงินสกุลที่ตนใช้สำรองอยู่มันจะลดลงฮวบๆ จึงกลับมาซื้อทองอีกทีตอนเกือบจะพีค โดยให้เหตุผลว่าเพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรอง (คำนี้อีกแล้ว) ส่วนกลุ่ม Jewellery เมื่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น เครื่องประดับก็เริ่มมีราคาแพงกำลังซื้อก็ลดลงไป กลุ่ม Jewellery จึงต้องหันไปใช้วัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่ามาแทนที่เพื่อลดต้นทุน เช่น เงิน พลอย และอัญมณี ทำให้ความต้องการทองคำของกลุ่มนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีหลังจากทุกคนตุนทองเพื่อรับมือเงินเฟ้อกันครบ เงินเฟ้อมันก็ไม่มาซะที ทั้งๆที่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐก็ขยันพิมพ์เงินกันออกมา คนก็ไม่เอาเงินมาลงทุนใช้จ่าย ดันเอากลับไปซื้อพันธบัตรทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำเตี้ยเรี่ยราด สถาบันการเงินก็กลัวตัวเองจะล้มหายตายจากเหมือนเลห์แมน บราเธอร์ ก็กอดเงินที่พิมพ์ออกมาไม่ค่อยจะไปปล่อยกู้ ผ่านมาสามสี่ปีเศรษฐกิจสหรัฐก็ฟื้นช้าเหลือเกิน แต่เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ก็โตแบบพรวดพราด ในที่สุดนักลงทุนก็พบทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าในการป้องกันการลดลงของค่าเงินสกุลหลัก นั่นคือพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ และตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต ซึ่งสองอย่างนี้มีดอกเบี้ย มีปันผล มีการเติบโตของกำไร มี Reinvest return มีหลายๆอย่างที่ทองไม่สามารถให้ได้ ความต้องการทองเพื่อการลงทุนก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ
จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2013 นี้เองเป็นวันที่ "Margin Call" สำหรับตลาดทองคำ นักลงทุนเทขายทองคำออกมาอย่างรุนแรง กดราคาทองลงมาต่ำสุดๆ แถว 1323 เหรียญต่อออนซ์ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากวันนั้นนักวิเคราะห์เกือบทั้งโลกพูดไปในทางเดียวกันว่าทองคำได้เปลี่ยนไปเป็นขาลงเรียบร้อยแล้ว ราคาเป้าหมายต่ำๆเริ่มโผล่มา 1370 1200 1150 หรือ 1000 ก็มี แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอกแหละว่าทองคำมัน Valuation ยาก ใกล้เคียงสุดก็คงเป็น Marginal Cost of Production ซึ่งว่ากันว่าอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 เหรียญต่อออนซ์ที่ผมไปอ่านเจอตามเวปไซด์ต่างๆเขียนไว้ใกล้เคียงกัน จริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
ผมก็ไม่ได้เทพขนาดจะบอกได้ว่าราคาทองคำจะตกลงไปได้ถึงขนาดไหน หรือจะดีดกลับไปทำ New high หรือเปล่า เพราะผมไม่ใช่เซียนใบ้หวย แต่ผมเชื่อว่าราคาทองคำที่ลดลงจะทำให้ความต้องการของกลุ่ม Jewellery กลับมาอีกครั้ง อย่างที่เราได้เห็นผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำแห่ไปร้านทองจนทองหมดร้านต้องแจกบัตรคิวกัน และมันก็ไม่ได้เป็นแต่ประเทศไทย ที่จีน ฮ่องกง และอินเดีย ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ตรงกันข้ามกับความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากกองทุนรวม ETF ที่ทยอยขายทองคำออกมาตลอดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทิศทางราคาทองคำจากนี้ไปคงจะถูกกำหนดโดยผู้ซื้อสองกลุ่มดังกล่าวเป็นหลักว่าใครจะอดทนกว่ากัน (แต่ถ้าดูจากที่อดีตผ่านมานักลงทุนเป็นกลุ่มที่มีความอดทนต่ำที่สุดใน 4 กลุ่ม) ส่วนกลุ่มธนาคารกลางที่เพิ่งกลับมาซื้อคงต้องทำใจนานหน่อยที่จะกลับมาขายราคาต่ำกว่าที่ซื้อไป เผลอถ้าเป็นธรรมเนียมประเทศแถวนี้ซื้อขายขาดทุนอาจถูกสอบสวนเอาซะด้วย 555+
สำหรับผมแล้วทองคำมันก็เป็นเงินสกุลหนึ่งที่ทุกคนในโลกมีสิทธ์จะเป็นเจ้าของได้ สามารถเอาไปแลกเป็นเงินได้ทุกสกุล ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีการเติบโต ไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีการแทรกแซง ไม่มีข้อจำกัดการเปลี่ยนมือ มูลค่าของมันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก เงินส่วนใหญ่อยากให้มันไปทางไหน มันก็เป็นไปในทางนั้นแหละ
"Gold is money, itself, and nothing else"
- JP Morgan 1912 -
หมายเหตุ ความต้องการทองคำในภาพไม่รวมถึงตราสารอนุพันธ์หรือหลักทรัพย์ที่อ้างอิงทองคำ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น
สงสัยอะไรถามได้ครับผม