วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทำไมต้องเอาเงินสำรองไปลงทุนในหุ้น ???

ช่วงนี้กระแสความสงสัยว่าทำไมต้องเอาเงินสำรองไปลงทุนในหุ้น กำลังมาแรงครับ หลายคนก็ยังงงๆ เอาไปลงทุนในหุ้นทำไม คุณ  axe.aroonkittichai [1]ได้เขียนบทความอธิบายไว้ดีมากครับ เชิญอ่านโดยพลัน


ก่อนอื่น .. ต้องเข้าใจกันก่อนว่าเงินทุนสำรองทางการมาจากไหน และมีเอาไว้ทำอะไร เงินทุนสำรองทางการนั้นเป็นผลมาจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท … เอาง่ายๆ ก็แทรกแซงนั่นแหละ คือถ้ามีเงินทุนไหลเข้า แล้วเราไม่อยากให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบ ธปท. ก็จำเป็นจะต้องเข้าไปดูแล ก็คือขายบาทและซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. เข้ามานั่นเอง ทำให้มีการสะสมเงินดอลลาร์ สรอ. มาอย่างต่อเนื่อง

แล้วมีเงินสำรองทางการเยอะๆ แล้วได้อะไร? ก็ว่ากันว่าหากมีเงินทุนสำรองทางการเยอะๆ แล้วจะสามารถป้องกันในกรณีที่มีเงินทุนไหลออกอย่างเฉียบพลันในจำนวนมาก ทำให้แบงค์ชาติมีเงินดอลลาร์ สรอ. มากเพียงพอที่จะรองรับและดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วจนเกินไป (ก็คือการทำกลับข้างกัน ขายดอลลาร์ สรอ. และซื้อเงินบาท) แล้วมีแค่ไหนถึงจะเพียงพอ? อันนี้ก็ต้องแล้วแต่การศึกษาและการประมาณการต่างๆ แต่ก็บอกได้ว่าแบงค์ชาติเองก็ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เช่นกัน

เอาล่ะ .. ทีนี้จะเริ่มไปลงรายละเอียดกัน

1.ต้นทุนและผลตอบแทน


ก่อนอื่น ต้องถามว่า เงินสำรองทางการมีต้นทุนหรือไม่? ต้นทุนในการถือเงินสำรองทางการนั้นมีแน่นอน และเป็นต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงด้วย คือ การที่แบงค์ชาติเข้ามาดูแลค่าเงินด้วยการซื้อดอลลาร์ สรอ. และขายบาทออกไปนั้น แบงค์ชาติจำเป็นจะต้องดูสภาพคล่องค่าเงินบาทด้วย เพื่อให้สภาพคล่องค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่กระทบการอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและภาคการเงิน และเครื่องมือที่ใช้ในการดูดสภาพคล่องเงินบาทกลับมานั้นก็ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีต้นทุนในการทำ และใกล้ๆ เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นของไทย ถามว่าถ้าแบงค์ชาติอยากได้เงินจากเราไป โดยไม่ให้ผลตอบแทนอะไรเราเลย เราเอาไหมครับ … เราก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเราด้วย อย่างให้ก็ให้กับที่เราได้จากธนาคารพาณิชย์ ถูกต้องมั้ยครับ ดังนั้นทุกบาททุกสตางค์ที่แบงค์ชาติเข้าแทรกแซงนั้นมีต้นทุน .. ก็ใกล้ๆ เคียงกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั่นแหละ

อ่าว .. แล้วผลตอบแทนละ .. ผลตอบแทนนั้นเกิดจากการเอาเงินดอลลาร์ สรอ. ที่สะสมมาไปลงทุน ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องรักษากำลังซื้อของดอลลาร์ สรอ. ให้ได้ แน่นอน ไม่มีใครเถียงว่าแบงค์ชาติไม่ได้มีหน้าที่หากำไร .. แบงค์ชาติก็ไม่เคยหากำไร เพราะเพียงแค่รักษาไม่ให้มูลค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ถืออยู่เสียไปก็เป็นเรื่องที่ยากมากแล้ว จากข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ที่ว่ากันว่ามีมาเพื่อป้องกันไม่ให้แบงค์ชาติเก็งกำไรนี่แหละ ดังนั้นผลตอบแทนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเกิดจากการเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงๆ ดีๆ (บอกได้เลยว่าดีกว่าประเทศไทยเกือบทั้งนั้น)

แต่โลกเราในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่พันธบัตรรัฐบาลขอลประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงๆ เหล่านั้น ติดลบจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษต่างๆ … อ่าวแบบนี้ก็เรียกว่าขาดทุนนิ (จริงมั้ย?) เอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่น 100 บาท แต่ได้กลับมา 99 บาท เป็นต้น (แล้วจะไปซื้อทำไม?) อีกอย่างนึงแม้ตลาดที่อยู่ในภาวะปรกติ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาก็มีแนวโน้มสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้นทุนของเงินสำรองทางการของเราก็มีแนวโน้มสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนโดยธรรมชาติ

ต้นทุนที่มีมากอีกอย่าง และแบงค์ชาติโดนกระหน่ำโจมตีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็คือต้นทุนทางบัญชี โดยในทุกๆ ปีจะต้องมีการประกาศงบการเงิน โดยฝั่งสินทรัพย์ของแบงค์ชาติจะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ต่างประเทศ ในขณะที่หนี้สิน (คือพันธบัตรต่างๆ ที่ใช้ดูดสภาพคล่อง เงินฝากธนาคารพาณิชย์ เงิน) จะอยู่ในรูปของเงินบาททั้งสิ้น ทีนี้ในปีที่ค่าเงินบาทแข็งค่า สมมติว่าจะ 40 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เป็น 30 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เวลาแปลงสินทรัพย์ต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาทเพื่อเทียบกับส่วนหนี้สิน มันก็ต้องแปลงมาได้ลดลงอยู่แล้วจาก 40 บาทเป็น 30 บาท ก็ทำให้เกิดส่วนต่าง และถูกตีมูลค่าเป็นขาดทุน … ก็ด่าอีก ทั้งที่โอกาสที่สินทรัพย์ต่างประเทศจะถูกขายมาเป็นเงินบาทแทบไม่มี

เอ๊ะยังไง .. ต้นทุนก็แพง ตีมูลค่าขาดทุนก็ด่า

2.ขนาดนั้นสำคัญ (Size does matter !)


การสะสมเงินสำรองทางการในปริมาณมากๆ นั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ การเอาเงินไปลงทุนจะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะขนาดที่ใหญ่ จะส่งผลกระทบทางด้านราคา … เช่น แบงค์ชาติเคยนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนบ้านซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน เพื่อให้ต้นทุนของเงินสำรองและผลตอบแทนใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่ซื้อไปได้ไม่ทันไร เจ้าบ้านโทรกริ๊งกร๊างมาถามสายตรง … ว่า พวกแกทำอะไรกันอยู่ มาถล่มตลาดบ้านชั้นทำไม … เงิบกันไป

งั้นกลับไปลงทุนในตลาดที่มีขนาดใหญ่พอ ซึ่งกลับมาปัญหาเดิม 2 ใน 3 นั้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลติดลบ … ให้เจ้าหนี้ยืมเงินยังต้องแถมเงินให้เพื่อ? จะทำไปทำไม

อ่าว แล้วทำไมไม่ลดขนาดของเงินทุนสำรองทางการลง จริงๆ แล้วทางเลือกในการลดขนาดนั้นมีอยู่ 2 ทาง อย่างแรก คือ ขายให้ตลาดคืนไป ซึ่งแน่นอนว่าด้วยขนาดเงินสำรองทางการขนาดนี้ ตลาดค่าเงินบาทกระเทือนแน่นอน … การจะขายไม่ให้ตลาดกระเทือนนั้นอาจใช้เวลาหลายปี นานมากกว่าที่สะสมมาเสียอีก แล้วก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีการดำเนินนโยบายดังกล่าวอยู่แล้วด้วยซ้ำ อย่างที่สองก็คือ เอาให้รัฐบาลไปใช้ประโยชน์เลย ไม่ว่าจะในรูปของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) อันนี้ก็อาจทำได้ หากรัฐบาลมีความโปร่งใสในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้จริง แต่ใครจะกล้ามั่นใจเรื่องนี้ได้จริงๆ ???!!!! จะสร้างรถไฟรางคู่ รางเดี่ยวยังด่ากันเต็มไปหมดเลย (เขียนเสร็จอาจโดนอุ้มไปอบรมได้) หรือหากเป็น SWF ก็อาจนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น เช่น น้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติ … อ่าว ถามหน่อย แล้วมันไม่เสี่ยงเหรอ พวกน้ำมัน หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ ???!!!! แบงค์ชาติลงทุนในดัชนีหลักทรัพย์ ซึ่งปรกติมีมันก็มีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว (เหลือแต่ Systematic Risk)

ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ก็มีทำกัน ไม่ใช่ชาติเราอย่างเดียว แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ประเด็นไม่ว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ หากถูกต้องเหมาะสม ก็จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อส่วนรวม

(อย่าลืมว่าพนักงานแบงค์ชาติ ไม่ได้รับผลตอบแทนเพิ่มแต่อย่างใดจากการเอาเงินไปลงทุนให้หุ้น …)

3.การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงได้ !!


(หากใครเข้าใจเรื่อง Diversification Benefit ก็ข้ามไปเลย)
การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น ภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสม บวกกับการดูแลควบคุมความเสี่ยง การประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง .. ในปัจจุบัน สินทรัพย์หลักที่แบงค์ชาติลงทุนก็คือพันธบัตรรัฐบาล การกระจายไปลงทุนหุ้นบางส่วนจริงๆ อาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้
ลองอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ได้ เช่น ในเวลาที่หุ้นตก ส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี บริษัทห้างร้านต่างๆ ทำกำไรได้ไม่ดี ซึ่งในภาวะดังกล่าวธนาคารกลางต่างๆ ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย และส่งผลให้ราคาพันธบัตรปรับสูงขึ้น ดังนั้น หากขาดทุนจากหุ้น ก็กำไรจากพันธบัตรแทน หรือกลับกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากหุ้นลงร้อยละ 20.0 แต่เราถือหุ้นไว้ร้อยละ 5.0 ทำให้เราขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นร้อยละ 1.0 แต่ราคาพันธบัตรปรับสูงขึ้นร้อยละ 5.0 แต่เราถือพันธบัตรไว้ร้อยละ 95.0 ทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากพันธบัตรร้อยละ 4.7 ก็หักลบกันไปได้ ในภาวะที่ไม่ดี เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วจะทำให้ผลตอบแทนไม่ผันผวนด้วยซ้ำ

แต่ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นจำเป็นต้องมาพร้อมกับความพร้อมของบุคคลากร ระบบวัดความเสี่ยง และการบริหารที่ดีพอด้วย การปล่อยให้ลงทุน แต่ให้ทำอย่างโปร่งใสต่างหาก คือสิ่งที่เราต้องเรียกร้อง ไม่ใช่ต่อต้านโดยไม่ฟังเหตุผลอะไรเลย

การเลือกที่จะไม่เสี่ยงอะไรเลย เพื่อรักษาเงินต้น ก็เป็นความเสี่ยงที่สูงสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในยุคหินที่เอาข้าวของมาแลกกัน ในตลาดทุนแค่นอนหลับตื่นมาอีกวันนึง มูลค่าของเงินก็ลดลงแล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกมันหรือไม่

การใส่ไขไว้ในตะกร้าเดียวกันตกแล้วแตกหมดก็เสี่ยง แต่การเอาไข่ใส่ไหฝังไว้ไม่เอาใส่ในตะกร้าอะไรเลยก็เสี่ยง หนอนไชไม่รู้ตัว ไข่อาจเน่าทำให้ไม่มีกินในอนาคตได้เหมือนกันอยู่ดี

4.ลงทุนต่างประเทศยากสุดคืออัตราแลกเปลี่ยน


ส่วนนี้อาจวิชาการสุดใน 4 ส่วน แต่จะพยายามทำให้ง่ายๆ ความน่าปวดหัวอันมากมาย ของการไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ คือ อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งความเสี่ยงที่แท้จริงนั้นอาจจะมากกว่าความเสี่ยงจากตัวพันธบัตรรัฐบาลเองด้วยซ้ำ สมมติเราเห็นประเทศ A ให้อัตราดอกเบี้ยสูงๆ เอาเป็นว่าร้เอยละ 5.00 ซึ่งมากพอสำหรับต้นทุนของเงินสำรอง แต่การไปลงทุนในประเทศ A จะมาพร้อมกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีให้เลือก 2 ทาง คือ หนึ่ง ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน … แต่การป้องกันความเสี่ยงไม่ใช่ของฟรี มันมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนในการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนจะใกล้เคียงกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แต่เป็นในทางตรงกันข้าม เช่น การป้องกันความเสี่ยงจากสกุลเงินของประเทศ A ก็จะใกล้เคียงกับร้อยละ 5 ลบอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของบ้านเรา สรุปคือไม่ได้อะไรนอกตากจะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวขึ้น เช่น 3 ปี 5 ปี แต่พันธบัตรระยะยาวก็มาพร้อมความเสี่ยงทีเพิ่มขึ้นอยู่ดี สองคือไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็เป็นอันรู้กันว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน และอาจสูงกว่าหุ้นเสียด้วยซ้ำในบางเวลา เพราะหุ้นแบงค์ชาติคงลงทุนในสัดส่วนน้อย แต่อัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีความเสี่ยง (Exposure) ของเงินสำรองทั้งก้อน … ความเสี่ยงเราก็มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

ท้ายสุด ……….

ประเด็นเดียวง่ายๆ ก็คือ แบงค์ชาติก็ศึกษากันมาอย่างยาวนาน และคงต้องไตร่ตรองอยากรอบคอบแล้วว่าการลงทุนในหุ้นบ้างส่วน น่าจะให้ผลดีกว่าการไม่ลงทุน ซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดเจน เราควรเอาใจช่วยและส่งเสริมมากกว่า ความโปร่งใสในการลงทุน ขั้นตอนที่ชัดเจนมีกระบวนการต่างหาก คือ สิ่งที่เราต้องการ ดีกว่ามาด่ากันอย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เข้าใจเต็มที่เสียด้วยซ้ำ

คนชอบด่าพวกแบงค์ชาติว่าจะไปรู้อะไร แต่ผมเห็นสองข้างแล้ว .. ผมว่าต่างคนก็ต่างไม่รู้และเข้าใจงานอีกข้างมากกว่า คนเราก็รู้และเชียวชาญในสิ่งที่เราทำนั่นแหละ ไม่มีใครโง่กว่าใคร

ไม่เคยเขียนอะไรยาวขนาดนี้ ซัดไปซะ 4 หน้า A4 หมดไป ชม กว่าๆ ก็เพราะทนไม่ไหวจริงๆ เห็นแบงค์ชาติโดนด่าอย่างไม่เป็นธรรม คนไม่เคยทำไม่เคยรู้ว่า แม่งโคตรจะยากเลย การบริหารกองทุนนี้ .

ที่มา
https://www.facebook.com/axe.aroonkittichai/posts/10153720250878411



ติดตามเราได้ที่ Website : http://www.investidea.in.th
Facebook : http://www.facebook.com/investidea.in.th
Line ID : @investidea.in.th ใส่@นำหน้าด้วย
สัมมนาวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน ดูรายละเอียดและตารางอบรมได้ที่http://www.investidea.in.th/p/value-investor.html
หรือสอบถามราบละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ Line; pat4310, หรือโทร 086-503-5023

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม