วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้อพึงระวังในการวิเคราะห์งบการเงิน

บทความจาก อ.สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล ข้อพึงระวังในการวิเคราะห์งบการเงิน

  • งบการเงินมีลักษณะหยุดนิ่ง (Static Nature) อัตราส่วนที่ได้จึงแสดงผลของช่วงเวลาของบการเงินช่วงนั้นที่เกิดแล้วในอดีต ซึ่งไม่ใช่ ณ ปัจจุบัน จึงอาจไม่สะท้อนถึงยุทธ์ศาสตร์ของธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้นงบการเงินที่ใช้ควรเป็นข้อมูลที่ update ที่สุดจึงบอกสถานะที่ใกล้จริงมากที่สุด 
  • ความน่าเชื่อถือของงบการเงินหรืออาจมีการทำ Creative Accounting (การตกแต่งงบการเงิน) ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่เป็นจริง อัตราส่วนที่ได้ก็จะไม่ถูกต้องตามที่ควรเป็น 
  • ความสัมพันธ์ของข้อมูลและปัจจัยแวดล้อม สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อาจทำให้อัตราส่วนนำมาเปรียบเทียบไม่ได้ เช่น ภาวะเงินเฟ้อผันผวนรุนแรง ภาวะดอกเบี้ยผันผวน หรือการลดค่าเงิน เป็นต้น 


ข้อจำกัด ของการวิเคราะห์งบการเงิน


  1. Estimates ตัวเลขในงบฯหลายรายการเกิดจากการประมาณการ เช่น การประมาณหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ การคิดค่าเสื่อมราคา การประมาณการค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เกิดจากการประกันสินค้า เป็นต้น ถ้าการประมาณการไม่ถูกต้อง จะทำให้ตัวเลขในงบการเงินไม่ถูกต้อง และผลการวิเคราะห์ก็จะไม่ถูกต้อง
  2. Atypical Data บางกิจการมีการปิดบัญชีช่วงฤดูกาลที่ขายดี ทำให้สินทรัพย์และหนี้สินมากหรือน้อยกว่าโดยเฉลี่ยทั้งปี
  3. Cost ตัวเลขในงบการเงินจะใช้ราคาทุน ดังนั้นการเปรียบเทียบงบการเงินที่ไม่ได้ปรับอัตราเงินเฟ้อทำให้ตีความผิดได้ เช่น เปรียบเทียบยอดขาย 2 ปี พบว่ามีอัตราการเพิ่มของยอดขาย 5% ถ้าอัตราการเงินเฟ้อ 5% แสดงว่ากิจการมิได้เติบโตเลย หรือการเปรียบเทียบมูลค่าสินทรัพย์2ชิ้น ที่ซื้อในเวลาที่ต่างกัน อาจตีความผิดได้
  4. Diversification ธุรกิจขนาดใหญ่ จะประกอบธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้หาธุรกิจที่คล้ายกันเพื่อเปรียบเทียบได้ยากใน USA บริษัท Pepsi ประกอบธุรกิจขายน้ำอัดลม และร้านอาหาร เช่น Pizza Hut , Kentucky Fried Chicken ขณะที่บริษัท Coke ประกอบธุรกิจขายน้ำอัดลม และผลิตขวด

    สำหรับในไทย SCCC ทำธุรกิจปูนซีเมนต์อย่างเดียวไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับ SCC ซึ่งประกอบธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็นรายได้เพียงประมาณร้อยละ 20 ของรายได้รวม แต่ประกอบธุรกิจปิโตรเคมี และกระดาษด้วย
  5. Alternative Accounting Methods เนื่องจากวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่ต่างกัน ทำให้กำไรที่รายงานออกมามีคุณภาพที่แตกต่างกันด้วย , มีหลักการบัญชีสำหรับการวัดมูลค่าหรือการนำเสนอหลายวิธี สำหรับเหตุการณ์อย่างเดียวกัน ผู้บริหารมักเลือกหลักการบัญชีที่เป็นประโยชน์กับตัวเลขกำไร ตนเอง หรือกิจการ ส่งผลให้ตัวเลขสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่าย แตกต่างกัน เช่น การเลือกคิดค่าเสื่อมราคาว่าจะคิดแบบเส้นตรง หรือคิดให้สอดคล้องกับความจริงหากต้องขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากอย่างมีนัยสำคัญ การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร เพื่อศึกษาว่ากิจการมีผลการดำเนินการอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการที่รายได้เติบโต แต่กำไรไม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรดูว่ากิจการยังรักษาอัตรากำไรไว้ได้หรือไม่ การศึกษาแนวโน้มของรายได้ และกำไรย้อนหลังไปหลายๆปีจะทำให้เห็นภาพวัฏจักรของธุรกิจและความสม่ำเสมอในการหากำไร ควรพิจารณาหลักการบัญชีที่ผู้บริหารเลือกใช้ในหมายเหตุประกอบงบฯ
    การอ่านรายงานผู้สอบบัญชีถือเป็น ‘the must‘ อ่านเพื่อให้รู้ว่ามีสัญญาณที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ถ้าผู้สอบบอกว่าหาสิ่งผิดปกติไม่เจอ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีขยะซ่อนอยู่ใต้พรม ผู้สอบบัญชีจะไม่บอกตรงๆ (ยกเว้นถ้าพบชัดเจน จะไม่รับรองงบการเงิน)
  6. เหตุที่กระทบต่อความสามารถในการหากำไร และความอยู่รอดของธุรกิจ อาจไม่แสดงในงบการเงิน เช่น ข้อมูลบอกว่า market share ลบติดกันมาหลายไตรมาสแล้ว และมีแนวโน้มลดลงต่อไป การทะเลาะกับลูกค้า การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนระบบบริหาร การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายระเบียบข้อบังคับกติกาในการค้า การที่สินค้าทดแทนกำลังมาแรง การยกเลิกส่วนงาน ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่แสดงอยู่ในรายงานประจำปีเลยก็เป็นได้
  7. Lagging Indicator การวิเคราะห์งบการเงิน เป็นการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำผลของการวิเคราะห์ไปช่วยพยากรณ์อนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอาจต่างไปจากอดีต
  8. Account Classification Differences กิจการมักจะจัดประเภทของรายการที่แสดงในงบการเงินแตกต่างกัน เช่น ทั้งในการจัดกลุ่มหรือประเภท อาจกระทบต่อการเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างกิจการจึงอาจต้องปรับงบการเงินที่จะนำมาเปรียบเทียบให้มีการจัดประเภทเหมือนกันก่อน และถ้าไม่สามารถจัดประเภทให้เหมือนกันได้ ก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอในการวิเคราะห์
ที่มา https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200656533354187

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

สงสัยอะไรถามได้ครับผม